แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกซึ่งจะต้องมีเหตุขัดข้องหรือจำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคแรก นั้น แม้ตามคำร้องจะไม่อ้างเหตุขัดข้องหรือจำเป็นไว้โดยชัดแจ้ง แต่ตามสำเนาพินัยกรรมของเจ้ามรดกท้ายคำร้องมีข้อความซึ่งพอถือได้ว่ามีเหตุขัดข้องในการจัดการแบ่งปันมรดกก็ชอบที่ศาลจะต้องสั่งรับคำร้องไว้ดำเนินการต่อไป
พินัยกรรมของเจ้ามรดกยกทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ให้แก่บุตร 8 คนและตัดทายาทซึ่งเป็นบุตร 2 คนมิให้รับมรดกและมีข้อความเกี่ยวกับทรัพย์สินตอนหนึ่งว่า แต่ห้ามมิให้แบ่งให้แจกกันกินกันใช้โดยความยุติธรรมส่วนนายพุฒ พยัคฆเดช พี่ชายใหญ่มีหน้าที่ดูแลความเป็นไปในทรัพย์สมบัติให้คงอยู่แลเสริมสร้างให้เจริญยิ่งขึ้น ข้อความในพินัยกรรมเช่นนี้เห็นได้ว่า จะจัดการมรดกตามพินัยกรรมให้เป็นไปโดยราบรื่นได้ยากจึงพอถือได้ว่ามีเหตุขัดข้องในการจัดการแบ่งปันมรดกซึ่งทายาทมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จ่าสิบเอกโตและนางเพิ่ม มีบุตร 10 คน และมีทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้อง จ่าสิบเอกโตทำพินัยกรรมตัดบุตร 2 คนมิให้รับมรดก ตามสำเนาพินัยกรรมท้ายคำร้องจ่าสิบเอกโตตายปี 2502 ผู้ร้องเป็นบุตรคนโตและเป็นผู้ซึ่งจ่าสิบเอกโตตั้งให้เป็นผู้ดูแลทรัพย์สมบัติดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีความเห็นแย้งให้รับคำร้องไว้ดำเนินการ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55บัญญัติว่า “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลบุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้” และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 บัญญัติว่า “ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการ จะร้องต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ในกรณีดังต่อไปนี้…. (2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก…” กรณีตามคำร้องจ่าสิบเอกโตทำพินัยกรรมลงวันที่ 20 มิถุนายน 2510 มีข้อความตามสำเนาภาพถ่ายท้ายคำร้อง ในพินัยกรรมฉบับนี้ จ่าสิบเอกโตยกทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมให้แก่บุตรเพียง 8 คน และได้ตัดทายาทซึ่งเป็นบุตร 2 คน มิให้รับมรดก และมีข้อความเกี่ยวกับทรัพย์สินในพินัยกรรมอยู่ตอนหนึ่งว่า “…แต่ห้ามมิให้แบ่งให้แจกกันกินกันใช้โดยความยุติธรรม ส่วนนายพุฒ พยัคฆเดช พี่ชายใหญ่มีหน้าที่ดูแลความเป็นไปในทรัพย์สมบัติให้คงอยู่ และเสริมสร้างให้เจริญยิ่งขึ้น…” ศาลฎีกาเห็นว่า พินัยกรรมที่ตัดทายาทบางคนไม่ให้มีสิทธิรับมรดก และพินัยกรรมในคดีนี้ที่มีข้อความมิให้แบ่งให้แจกซึ่งทรัพย์สินตามพินัยกรรม เป็นพินัยกรรมที่เห็นได้ว่า จะจัดการมรดกตามพินัยกรรมให้เป็นไปโดยราบรื่นได้ยาก กรณีเป็นเช่นนี้ พอถือได้ว่ามีเหตุขัดข้องในการจัดการแบ่งปันมรดกให้เป็นไปตามเจตจำนงของจ่าสิบเอกโตผู้ตายแล้ว ผู้ร้องจึงต้องใช้สิทธิทางศาลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสียนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้ดำเนินการไต่สวนแล้วมีคำสั่งต่อไป