คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1096/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นิติบุคคลเมื่อจดทะเบียนตามกฎหมายต่างประเทศ มีอำนาจฟ้องคดีในศาลไทยหรือตั้งผู้แทนฟ้องคดีได้
นิติบุคคลในต่างประเทศมีอำนาจมอบให้นิติบุคคลในต่างประเทศซึ่งมีสำนักงานสาขาในประเทศไทยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของเขาได้
ถ้าจำเลยเห็นว่า การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะร้องขอให้ศาลเพิกถอน ไม่ใช่เรื่องที่จะยกขึ้นต่อสู้โจทก์ในคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้า
เมื่อกล่องและสลากปิดขวดยาอันเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นของปลอมแล้ว แม้ตัวยาในขวดจะไม่ได้ความชัดว่าเป็นยาปลอม จำเลยผู้สั่งของนี้มาจำหน่ายโดยรู้ว่ากล่องและสลากยานั้นเป็นของปลอม ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้าปลอม และต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานขาดประโยชน์ 83,850 บาท และค่าเสียหายฐานเสียชื่อเสียงเกียรติคุณ 50,000 บาท ศาลชั้นต้นให้ค่าเสียหาย 2 อย่างรวมกันมา 55,000 บาท และโจทก์อุทธรณ์ขอค่าเสียหายเต็มตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าควรได้เฉพาะค่าเสียชื่อเสียงเกียรติคุณและคงให้ใช้ค่าเสียหาย 55,000 บาทได้
การส่งประเด็นไปสืบพยานในต่างประเทศย่อมทำได้เมื่อจำเป็นและสมควร และค่าใช้จ่ายในการนี้เป็นค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งศาลใช้ดุลพินิจให้คู่ความฝ่ายใดเสียหรือให้เสียแทนกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยา และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ายารักษาโรคชื่อโคลโรไมเซติน โดยจดทะเบียนไว้ในประเทศไทย จำเลยได้สั่งยาชื่อนี้มาจากฮ่องกง 1,728 ขวดซึ่งตามสลากปิดขวดและกล่องกระดาษกับสำลีในขวดเป็นของปลอมเจ้าพนักงานยึดยาได้จากจำเลย 610 ขวด นอกนั้นจำเลยขายไปแล้วทำให้ผลกำไรของโจทก์ตกต่ำลงเท่ากับผลกำไรที่จำเลยได้รับ 83,850 บาท และทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงเกียรติคุณอีก 50,000 บาท จึงขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายรวม 133,850 บาท กับทำลายยาของกลาง

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่ใช่ผู้ผลิต และไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ายานี้แต่ผู้เดียว การจดทะเบียนไม่สมบูรณ์ และไม่มีอำนาจจดทะเบียน เพราะไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะจำเลยสั่งยานี้มาจากฮ่องกงโดยสุจริต โดยเป็นยาอันแท้จริงของโจทก์สลาก กล่องและสำลีก็ไม่ใช่ของปลอม จำเลยไม่ได้ทำละเมิดและโจทก์ไม่เสียหาย

ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 55,000 บาท ให้ทำลายกล่องสลากยา ตลอดจนเครื่องหมายการค้าปลอม ส่วนยา 610 ขวด โจทก์ไม่ได้ฟ้องว่าเป็นยาปลอม ไม่มีเหตุจะทำลาย

โจทก์จำเลยต่างอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ทำลายยา 610 ขวดด้วย และให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมที่โจทก์เสียไปในการส่งประเด็นไปสืบพยานในสหรัฐอเมริกาด้วย ค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าที่โจทก์ชนะ นอกนั้นยืม

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า 1. แม้บริษัทโจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศก็มีอำนาจฟ้องคดีในศาลไทยได้ และมีอำนาจตั้งผู้แทนฟ้องคดีได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(11), 55, 60 วรรคสอง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824

2. โจทก์มีอำนาจมอบให้บริษัทนิติบุคคลในต่างประเทศซึ่งมีสำนักงานสาขาในประเทศไทยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกับข้อ 1

3. ที่จำเลยต่อสู้ว่า คำว่า “โคลโรไมเซติน” เป็นนามสามัญไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ จึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 4(5) นั้น เห็นว่า ตามมาตรา 27 และ 41 ถ้าจำเลยเห็นว่าการจดทะเบียนของโจทก์ไม่ชอบอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องร้องขอให้เพิกถอนหาใช่จะยกขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่

4. เมื่อกล่องและสลากยาซึ่งมีคำว่า “โคลโรไมเซติน” อันเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นของปลอมแล้ว แม้ตัวยาข้างในจะไม่ได้ความชัดว่าเป็นของปลอมด้วยหรือไม่ก็ตาม จำเลยผู้สั่งของเหล่านี้เข้ามาจำหน่ายโดยรู้ก็ย่อมเป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้าปลอมหรือละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นได้และต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

5. โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานขาดประโยชน์กำไรเป็นเงิน83,850 บาท กับฐานเสียชื่อเสียงเกียรติคุณ 50,000 บาท ศาลชั้นต้นให้ค่าเสียหายทั้งสองอย่างรวมกันมา 55,000 บาท ศาลอุทธรณ์ให้เฉพาะค่าเสียหายในชื่อเสียงเกียรติคุณ แต่คงให้ใช้ค่าเสียหาย 55,000 บาทดังนี้ ไม่เป็นการนอกฟ้อง เพราะโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายมากกว่านี้ และศาลอุทธรณ์มีอำนาจกำหนดให้ตามที่เห็นสมควร

6. การส่งประเด็นไปสืบพยานในต่างประเทศย่อมทำได้เมื่อจำเป็นและสมควร เมื่อศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตแล้ว ค่าใช้จ่ายนั้นย่อมเป็นค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งศาลเป็นผู้ใช้ดุลพินิจให้คู่ความฝ่ายใดเสียหรือเสียแทนกันได้พิพากษายืน

Share