คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6589/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้แก้ไขคำสั่งของผู้คัดค้านเกี่ยวกับการนับจำนวนเจ้าหนี้ที่ลงคะแนนในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาคำขอประนอมหนี้ของจำเลยนั้น มิใช่คำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 24 วรรคสอง ที่จะอุทธรณ์ได้ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ทั้งไม่มีกรณีจำต้องแก้ไขข้อผิดพลาดตามมาตรา 26 วรรคสี่ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องมาเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาด เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2547
ผู้คัดค้านนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 มีเจ้าหนี้รายที่ 1 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 12 เข้าร่วมประชุม ในการพิจารณาคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของจำเลยที่ 3 โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้รายที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 กับผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 6 ถึงที่ 8 ลงมติยอมรับคำขอประนอมหนี้ของจำเลยที่ 3 มีจำนวนหนี้รวม 54,255,538.87 บาท ส่วนธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้รายที่ 2 และบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 12 ซึ่งมีจำนวนหนี้รวม 8,802,447.86 บาท ลงมติไม่ยอมรับคำขอประนอมหนี้ของจำเลยที่ 3 ผู้คัดค้านเห็นว่ามีเจ้าหนี้ที่ลงมติยอมรับคำขอประนอมหนี้ 2 ราย ลงมติไม่ยอมรับคำขอประนอมหนี้ 2 ราย คำขอประนอมหนี้ของจำเลยที่ 3 ไม่ได้รับการยอมรับโดยมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 และมาตรา 45 จึงต้องรายงานศาลขอให้พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ล้มละลาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า การที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งให้นับจำนวนเจ้าหนี้กรณีผู้ร้องเพียง 1 เสียง และนับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 เพียง 1 เสียง นั้นไม่ถูกต้อง เพราะต้องนับจำนวนเจ้าหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้แต่ละคำขอรับชำระหนี้เป็น 1 เสียง กรณีผู้ร้องต้องนับคะแนน 3 เสียง กรณีโจทก์ต้องนับคะแนน 4 เสียง ถือได้ว่าที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของจำเลยที่ 3 แล้ว คำสั่งของผู้คัดค้านทำให้จำเลยที่ 3 เสียหายขาดโอกาสดำเนินธุรกิจต่อไป ส่วนผู้ร้องได้รับความเสียหายเนื่องจากไม่ได้รับชำระหนี้ในส่วนของจำเลยที่ 3 ขอให้แก้ไขคำสั่งของผู้คัดค้านเป็นว่า คำขอประนอมหนี้ของจำเลยที่ 3 ได้รับการยอมรับโดยมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อดำเนินการตามคำขอประนอมหนี้ต่อไป
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าหนี้รายที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นเจ้าหนี้รายเดียวกันคือโจทก์ การนับคะแนนเสียงต้องนับเป็น 1 เสียง เจ้าหนี้รายที่ 6 ถึงที่ 8 เป็นเจ้าหนี้รายเดียวกันคือผู้ร้อง การนับคะแนนเสียงต้องนับเป็น 1 เสียง รวมเป็น 2 เสียง การที่ผู้คัดค้านให้เจ้าหนี้รายเดียวกันยื่นคำขอรับชำระหนี้แยกจากกันได้ก็เพื่อความสะดวกของเจ้าหนี้ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ เพื่อประโยชน์ในการทำความเห็นประกอบการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้เสนอต่อศาล แม้เจ้าหนี้รายเดียวกันยื่นคำขอรับชำระหนี้แยกจากกันก็ต้องนับเป็น 1 เสียง ไม่อาจนับเสียงแยกตามคำขอรับชำระหนี้ได้ คำขอประนอมหนี้ของจำเลยที่ 3 มีเจ้าหนี้ลงมติยอมรับ 2 เสียง ไม่ยอมรับ 2 เสียง ถือว่าไม่ได้มีมติพิเศษ คำสั่งของผู้คัดค้านชอบแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของผู้คัดค้านเกี่ยวกับการนับจำนวนเจ้าหนี้ที่ลงคะแนนในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง คำสั่งของศาลล้มละลายกลางดังกล่าวไม่ใช่คำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดที่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคสอง (1) ถึง (5) อุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ทั้งศาลฎีกาพิจารณาแล้วไม่มีกรณีจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดตามมาตรา 26 วรรคสี่ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องมานั้นเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้อง

Share