คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6582/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 5 บัญญัติว่า “คดีใดที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อปรากฏว่า (1)… (2)… (3) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด” จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคดีที่จะได้รับการรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้จะต้องเป็นคดีที่ได้มีการนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ความผิดนั้นแล้ว แม้ผู้ร้องจะเป็นบุคคลที่ต้องรับโทษอาญา เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องมายื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางในคดีดังกล่าว ตาม ป.อ. มาตรา 36 เพื่อศาลชั้นต้นจะได้ทำการไต่สวนพยานหลักฐานตามคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลาง และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดจริงหรือไม่เสียก่อน เมื่อผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องขอคืนของกลางเพื่อให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่ง กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะมายื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่โดยอ้างว่าผู้ร้องมีพยานหลักฐานใหม่ที่จะแสดงว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยการกระทำความผิดของจำเลย เพราะในคดีเดิมซึ่งถึงที่สุดศาลมิได้วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ทำความเห็นส่งไปให้ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 สั่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ย่อมไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะสั่งคำร้องดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งใหม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73 จำคุก 3 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56 ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 และให้ยกคำขอริบรถยนต์ของกลาง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 2 เดือน โดยไม่ปรับ จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน ริบรถยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุด
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดและไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยกับจำเลยในการกระทำความผิด จึงขอให้ศาลทำการไต่สวน และมีคำสั่งอนุญาตให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ กับขอคืนรถยนต์ของกลางที่ถูกริบ
ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้ววินิจฉัยว่า ผู้ร้องมิใช่จำเลยในคดีดังกล่าว จึงมิใช่บุคคลที่ต้องรับโทษอาญาตาม พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 6 (1) อีกทั้งคำร้องของผู้ร้องเป็นการขอให้ผู้ร้องรับรถยนต์ของกลางที่ถูกริบคืน จึงเป็นการบังคับในทางทรัพย์สิน ย่อมไม่อยู่ในบังคับที่จะยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ นอกจากนี้ผู้ร้องมีเจตนาของคืนรถยนต์ของกลาง แต่ยื่นคำร้องมาเกิน 1 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ซึ่งถึงที่สุดแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย ตาม พ.ร.บ. รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 5 บัญญัติว่า “คดีใดที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อปรากฏว่า (1)… (2)… (3) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด” จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคดีที่จะได้รับการรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้จะต้องเป็นคดีที่ได้มีการนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ความผิดนั้นแล้ว แม้ผู้ร้องจะเป็นบุคคลที่ต้องรับโทษอาญา เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องมายื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางในคดีดังกล่าว ตาม ป.อ. มาตรา 36 เพื่อศาลชั้นต้นจะได้ทำการไต่สวนพยานหลักฐานตามคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลาง และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดจริงหรือไม่เสียก่อน เมื่อผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องขอคืนของกลางเพื่อให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่ง กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะมายื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่โดยอ้างว่าผู้ร้องมีพยานหลักฐานใหม่ที่จะแสดงว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย เพราะในคดีเดิมซึ่งถึงที่สุดศาลมิได้วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ทำความเห็นส่งไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 สั่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ย่อมไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะสั่งคำร้องดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และคำสั่งศาลชั้นต้น และให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

Share