คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2877/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด วันที่ 13 กรกฎาคม 2536 จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีวันที่ 20 เมษายน 2537 ทำให้จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคล ไม่มีอำนาจดำเนินการต่อไปตั้งแต่วันที่จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงต้องสิ้นสุดลงและหักทอนบัญชีกัน จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวนเงินประมาณ 2,132,418 บาท แม้ต่อมาจะมีการถอนเงินออกจากบัญชีและมีการนำเงินเข้าฝากในบัญชีอีก แต่เมื่อจำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลแล้วย่อมไม่มีอำนาจถอนเงิน ออกจากบัญชีอันเป็นการก่อหนี้ได้ การถอนเงินดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนการนำเงินเข้าฝากคือการที่โจทก์รับฝากเงินจึงเป็นหนี้ที่โจทก์จะต้องชำระ ดังนั้นจึงต้องนำเงินฝากหลังจากวันที่ 20 เมษายน 2537 มาชำระหนี้ของจำเลยที่ 1ที่มีต่อโจทก์ ซึ่งปรากฏตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันว่าถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 มีการนำเงินเข้าฝากหลายครั้งรวม 3,928,691.69 บาท ส่วนจำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 ต้นเงินประมาณ 2,132,418 บาท คำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปีแบบไม่ทบต้นตามที่โจทก์ขอมา นับแต่วันที่ 20 เมษายน 2537 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 เป็นเงินประมาณ 794,340.52 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 2,926,758.52 บาท น้อยกว่าจำนวนเงินที่มีการนำเข้าฝากในบัญชี จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ดังนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานผู้ค้ำประกันและผู้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 2,197,186.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี ในต้นเงิน 1,595,942.62 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ และหากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของ จำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2536 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2537 ทำให้จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลไม่มีอำนาจ ดำเนินการต่อไปตั้งแต่วันที่จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงต้องสิ้นสุดลง และหักทอนบัญชีกันแล้วโดยคำนวณจากรายการในการ์ดบัญชีกระแสรายวัน จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงิน เกินบัญชีจำนวนเงินประมาณ 2,132,418 บาท แม้ต่อมาจะมีการถอนเงินออกจากบัญชีและมีการนำเงินเข้ามาฝาก ในบัญชีอีก แต่เมื่อจำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลแล้วย่อมไม่มีอำนาจถอนเงินออกจากบัญชีอันเป็นการก่อหนี้ได้ การถอนเงินดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนการนำเงินเข้าฝากก็คือการที่โจทก์รับฝากเงินจึงเป็นหนี้ที่โจทก์จะต้องชำระ ดังนั้น จึงต้องนำเงินฝากหลังจากวันที่ 20 เมษายน 2537 มาชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ ซึ่งปรากฏตาม การ์ดบัญชีกระแสรายวันว่ามีการนำเงินเข้าฝากในบัญชีวันที่ 19 กันยายน 2537 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 หลายครั้ง รวมเป็นเงิน 3,928,691.69 บาท ส่วนจำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 20 เมษายน 2537 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีประมาณ 2,132,418 บาท และเมื่อคำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี แบบไม่ทบต้นของต้นเงินดังกล่าวตามที่โจทก์ขอมานับแต่วันที่ 20 เมษายน 2537 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 เป็นเงินประมาณ 794,340.52 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินประมาณ 2,926,758.52 บาท น้อยกว่าจำนวนเงินที่มีการนำเงินเข้าฝากในบัญชี จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้อง รับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ .

Share