แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
วิธีการคำนวณหาปริมาตรหินที่จำเลยระเบิดและย่อยหินเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์ทั้งสามต้องนำสืบในชั้นพิจารณาไม่จำต้องบรรยายไว้ในคำฟ้อง ทั้งปริมาตรหินที่คำนวณได้ก็เพื่อนำไปคำนวณหาจำนวนเงินที่จำเลยต้องชดใช้หากจำเลยไม่สามารถทำให้พื้นที่ที่ตนระเบิดและย่อยหินนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตกลับคืนสู่สภาพเดิมได้อันเป็นคำขอบังคับท้ายคำฟ้องในลำดับถัดมา คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามจึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ระเบิดและย่อยหินนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตในกิจการและวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์จากการกระทำความผิดนั้นกรมที่ดินโจทก์ที่ 1 ผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จังหวัดเลย โจทก์ที่ 2 ผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือของรัฐ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลยโจทก์ที่ 3 ผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการส่วนจังหวัดในเขตจังหวัดเลยย่อมมีอำนาจติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของรัฐตลอดจนมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายทั้งปวงแทนรัฐจากจำเลยทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสามมิได้ฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองเพื่อตนเป็นการส่วนตัว หากแต่เป็นการปฏิบัติราชการภายใต้กรอบอำนาจที่ตนมีอยู่ ส่วนผลประโยชน์หรือทรัพย์สินที่ได้จากการดำเนินคดีย่อมตกได้แก่แผ่นดินหรือรัฐ
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายอื่น โจทก์ที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการในเขตจังหวัดเลย และมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือของรัฐ โจทก์ที่ 3 เป็นราชการส่วนท้องถิ่นมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการส่วนจังหวัดภายในเขตจังหวัดเลยที่อยู่นอกเขตเทศบาลและเขตสุขาภิบาล และมีรายได้จากค่าตอบแทนเป็นรายปีจากผู้รับอนุญาตระเบิดและย่อยหินตามประมวลกฎหมายที่ดิน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานโม่หินระเบิดและย่อยหิน มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2530 โจทก์ที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ระเบิดและย่อยหินในที่ดินของรัฐบริเวณภูรวก หมู่ที่ 12 ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่2 งาน 78 ตารางวา มีกำหนดเวลา 5 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2536 จำเลยที่ 1ได้รับอนุญาตให้ระเบิดและย่อยหินในที่ดินของรัฐบริเวณเดิมต่อไปอีกมีกำหนด 5 ปี สิ้นสุดการอนุญาตวันที่ 15 พฤศจิกายน 2540 ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการระเบิดและย่อยหินโดยเคร่งครัด เมื่อระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน 2530 ถึงวันที่ 13พฤษภาคม 2537 จำเลยทั้งสองร่วมกันระเบิดและย่อยหินในพื้นที่บริเวณภูรวกนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 56 ตารางวา แล้วเอาไปซึ่งหินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ34,416 ลูกบาศก์เมตร ราคาลูกบาศก์เมตรละ 200 บาท รวมเป็นเงิน 6,883,200 บาทต่อมาระหว่างวันที่ 14 พฤษภาคม 2537 ถึงวันที่ 21 เมษายน 2538 จำเลยทั้งสองร่วมกันระเบิดและย่อยหินในพื้นที่บริเวณภูรวกนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตอีก 3 ไร่ 3 งาน 23 ตารางวา แล้วเอาไปซึ่งหินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ 54,828 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นเงิน10,965,600 บาท รวมเป็นเนื้อที่ระเบิดและย่อยหินนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต 6 ไร่ 79ตารางวา คิดเป็นปริมาตรหินที่เสียหายและถูกจำเลยทั้งสองเอาไป 89,244 ลูกบาศก์เมตรราคา 17,848,800 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหิน 89,244 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งได้จากการระเบิดและย่อยหินในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้แก่โจทก์ทั้งสาม โดยนำไปคืนและประกอบไว้ยังสถานที่เดิม หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคา17,848,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสองให้การว่า คำฟ้องโจทก์ทั้งสามเคลือบคลุมและขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 10,709,280 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม คำขอนอกจากนี้ให้ยก
ระหว่างระยะเวลาอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม นางพจนา ศรีเจริญ ทายาทและผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโจทก์ที่ 2 มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2534 มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการในเขตจังหวัดเลย และมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือของรัฐ โจทก์ที่ 3 เป็นราชการส่วนท้องถิ่นมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการส่วนจังหวัดภายในเขตจังหวัดเลย และมีรายได้จากค่าตอบแทนเป็นรายปีจากผู้รับอนุญาตระเบิดและย่อยหิน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานโม่หินและย่อยหิน มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2530 โจทก์ที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 1ระเบิดและย่อยหินในที่ดินของรัฐบริเวณภูรวก หมู่ที่ 12 ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุงจังหวัดเลย เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 2 งาน 78 ตารางวา มีกำหนดเวลา 5 ปี ต่อมาวันที่ 20กรกฎาคม 2536 จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ระเบิดและย่อยหินในที่ดินของรัฐแห่งเดิมต่อไปอีก 5 ปี สิ้นสุดวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน 2530 ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2537 จำเลยที่ 1 ระเบิดและย่อยหินนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต เนื้อที่2 ไร่ 1 งาน 56 ตารางวา แล้วจำเลยทั้งสองเอาไปซึ่งหินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ 34,416 ลูกบาศก์เมตร จำเลยที่ 2 จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีฐานยึดถือครอบครองทำอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดินของรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.7 และจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในส่วนที่จำเลยทั้งสองไม่ฎีกาโต้แย้งข้อเท็จจริงรับฟังได้ต่อไปว่า หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงระเบิดและย่อยหินนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นอีก 3 ไร่ 3 งาน 23 ตารางวา รวมเนื้อที่ที่จำเลยที่ 1 ระเบิดและย่อยหินนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตทั้งสิ้น 6 ไร่ 79 ตารางวา ตามรูปแผนที่เอกสารหมาย จ.8 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกมีว่า คำฟ้องโจทก์ทั้งสามส่วนที่เกี่ยวกับความเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ ได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามว่า จำเลยทั้งสองระเบิดและย่อยหินนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต 2 ครั้ง ครั้งแรกเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 56 ตารางวา ครั้งที่สองเนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 23 ตารางวา รวมเนื้อที่ที่จำเลยทั้งสองระเบิดและย่อยหินนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต 6 ไร่ 79 ตารางวา คิดเป็นปริมาตรหินที่จำเลยทั้งสองเอาไปโดยมิชอบ 89,244 ลูกบาศก์เมตร จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันคืนหินแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ก็ให้ชดใช้ราคาพร้อมด้วยดอกเบี้ย เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพาแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามไม่บรรยายการหาปริมาตรหินจากภูเขาว่ากว้าง ยาว สูง ลาดเอียง และมีเส้นรอบวงหรือเส้นผ่าศูนย์กลางอย่างไร ทำให้จำเลยทั้งสองไม่เข้าใจว่าโจทก์ทั้งสามคำนวณหาปริมาตรหินด้วยวิธีใดนั้น เห็นว่า วิธีการคำนวณหาปริมาตรหินที่จำเลยทั้งสองระเบิดและย่อยหินเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์ทั้งสามต้องนำสืบในชั้นพิจารณาหาจำต้องบรรยายไว้ในคำฟ้องไม่ ทั้งปริมาตรหินที่คำนวณได้ก็เพื่อนำไปคำนวณหาจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสองต้องชดใช้หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถทำให้พื้นที่ที่ตนระเบิดและย่อยหินนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ อันเป็นคำขอบังคับท้ายคำฟ้องในลำดับถัดมาคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามจึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในลำดับต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ระเบิดและย่อยหินนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตในกิจการและวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 จนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีฐานยึดถือครอบครองทำอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดินของรัฐ และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดินและพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ.2484 โดยจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์จากการกระทำความผิดนั้น โจทก์ที่ 1 ผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ที่ 2 ผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือของรัฐ และโจทก์ที่ 3 ผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการส่วนจังหวัดในเขตจังหวัดเลยย่อมมีอำนาจติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของรัฐตลอดจนมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายทั้งปวงแทนรัฐจากจำเลยทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสามมิได้ฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองเพื่อตนเป็นการส่วนตัว หากแต่เป็นการปฏิบัติราชการภายใต้กรอบอำนาจที่ตนมีอยู่ ส่วนผลประโยชน์หรือทรัพย์สินที่ได้จากการดำเนินคดีย่อมตกได้แก่แผ่นดินหรือรัฐ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าไม่มีกฎหมายให้อำนาจโจทก์ทั้งสามฟ้องคดีได้จึงไม่ถูกต้อง ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน