คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6575/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันโดยอ้างเหตุว่าโจทก์จงใจทิ้งร้างจำเลยเกินกว่าหนึ่งปี โจทก์แถลงรับว่าโจทก์มีเจตนาทิ้งร้างจำเลยตามฟ้องแย้งและศาลชั้นต้นได้จดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ทนายจำเลยลงชื่อโดยไม่โต้แย้งคัดค้าน และต่อมาโจทก์ยื่นคำแถลงรับข้อเท็จจริงนี้อีก แม้จะมิได้ส่งสำเนาให้จำเลยมีโอกาสคัดค้านก็ตาม ข้อเท็จจริงเป็นอันรับฟังได้ตามฟ้องแย้งโดยคู่ความไม่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงในประเด็นนี้อีก โจทก์จำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากันมาก่อนใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม แม้ต่อมาจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2512ก็ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรสและความสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแต่การสมรสตามกฎหมายเดิม ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติ ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 4 และมาตรา 5การแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายลักษณะผัวเมียบังคับ จำเลยได้ที่ดินมาเมื่อปี 2511 ก่อนโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันและเป็นเวลาที่พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 ใช้บังคับ โดยบุตรสาวจำเลยยกให้โดยเสน่หาแต่มิได้ระบุว่ายกให้เป็นสินส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1464(3) ที่ดินจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1466 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แม้ต่อมาจะมีพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับ ก็จะนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) ที่ได้ตรวจชำระใหม่มาใช้บังคับไม่ได้เพราะที่ดินตกเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยามาตั้งแต่ปี 2476 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2512 โจทก์จำเลยได้ไปจดทะเบียนสมรสกันระหว่างอยู่กินด้วยกันมีสินสมรสคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1875 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินโฉนดเลขที่ 4387 และยังมีเงินลงทุนเข้าหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามแคนส์ โจทก์จำเลยได้ทิ้งร้างไม่ได้อยู่ร่วมเป็นสามีภริยากันเกินกว่า 1 ปีแล้ว ขอให้บังคับจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ ให้จำเลยไปจดทะเบียนการหย่ากับโจทก์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากจำเลยขัดขืนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1875 พร้อมสิ่งปลูกสร้างและโฉนดเลขที่ 4387 ให้แก่โจทก์ 2 ใน 3 ส่วน หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งสองแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ 2 ใน 3 ส่วน หรือให้จำเลยแบ่งเงินให้แก่โจทก์จำนวน32,213,000 บาท ให้จำเลยแบ่งหุ้นให้แก่โจทก์ 2 ใน 3 ส่วนของจำนวนหุ้นที่จำเลยถือ หากจำเลยไม่แบ่งหุ้นให้ ให้จำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์แทนจำนวน 6,666,000 บาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง และขอแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1875 โดยบุตรสาวได้โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลย ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 4387 จำเลยได้นำเงินส่วนตัวของจำเลยซื้อมาจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยแต่ผู้เดียวจำเลยไม่มีหุ้นอยู่ในห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามแคนส์แต่อย่างใดโจทก์ทิ้งร้างจำเลยไปเป็นเวลาเกิน 1 ปีแล้ว ไม่ยอมกลับมาอยู่กับจำเลย จึงขอฟ้องแย้งให้บังคับโจทก์จ่ายเงินทดแทนเป็นเงิน2,000,000 บาท จ่ายค่าเลี้ยงชีพเป็นรายเดือน เดือนละ 20,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะถึงแก่กรรม และให้โจทก์แบ่งเงินสินสมรสให้แก่จำเลยจำนวน 3,500,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง ให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยโดยให้มีผลนับแต่จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ข้ออ้างตามฟ้องแย้งของจำเลยไม่เป็นความจริง จำเลยไม่ได้เป็นคนยากจนไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนและเงินค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์ โจทก์มีอายุมากแล้วไม่มีรายได้อื่น ส่วนเงินฝากธนาคารเป็นเงินส่วนตัวของโจทก์ซึ่งได้รับจากสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล จำเลยไม่มีสิทธิขอแบ่งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1875พร้อมสิ่งปลูกสร้างและที่ดินโฉนดเลขที่ 4387 สองในสามส่วนให้โจทก์หากจำเลยไม่สามารถแบ่งได้ให้นำที่ดินทั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินสุทธิจากการขายทอดตลาดได้มาแบ่งให้โจทก์ 2 ใน 3 ส่วน หรือให้จำเลยชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 32,213,000บาท ให้โจทก์ คำขออื่นตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่าตามคำฟ้อง คำให้การและฟ้องแย้ง คำเบิกความของโจทก์จำเลยและทางนำสืบของโจทก์จำเลยยังไม่มีเหตุหย่ากันตามกฎหมาย แม้โจทก์จะแถลงรับตามคำแถลงลงวันที่9 มิถุนายน 2532 และ 22 มิถุนายน 2532 ก็รับฟังเป็นเหตุหย่าว่าโจทก์ทิ้งร้างจำเลยตามฟ้องแย้งไม่ได้ และโจทก์มิได้ส่งสำเนาคำแถลงลงวันที่ 22 มิถุนายน 2532 ให้จำเลยนั้นเห็นว่า คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันโดยอ้างเหตุว่าโจทก์จงใจทิ้งร้างจำเลยเกินกว่าหนึ่งปี เมื่อโจทก์แถลงรับว่าโจทก์มีเจตนาทิ้งร้างจำเลยตามฟ้องแย้งจริง และศาลชั้นต้นได้จดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ทนายจำเลยก็ลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาโดยมิได้โต้แย้งคัดค้านและต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำแถลงลงวันที่ 22มิถุนายน 2533 แถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าวอีก แม้จะมิได้ส่งสำเนาให้จำเลยมีโอกาสคัดค้านก็ตาม ข้อเท็จจริงก็เป็นอันรับฟังได้ตามฟ้องแย้งว่าโจทก์จงใจทิ้งร้างจำเลยเกินกว่าหนึ่งปีโดยคู่ความไม่จำต้องนำสืบข้อเท็จจริงในประเด็นนี้อีก ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี 2476 ต่อมาปี 2512โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แสดงว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาที่จะให้การสมรสถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การแบ่งสินสมรสจึงต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เห็นว่าพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 มาตรา 4(1) บัญญัติว่า บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรส ซึ่งได้มีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้ และทั้งสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแต่การสมรสนั้น ๆ ฉะนั้นการสมรสระหว่างโจทก์จำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแม้จะมิได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พุทธศักราช 2519 มาตรา 4 ก็ได้บัญญัติว่า บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงบทบัญญัติ มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 เมื่อการสมรสระหว่างโจทก์จำเลยชอบด้วยกฎหมายดังได้วินิจฉัยข้างต้น การที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงไปการแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายลักษณะผัวเมียบังคับ จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1875 บุตรสาวโจทก์จำเลยโอนให้จำเลยโดยเสน่หา เป็นการให้ระหว่างใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยไม่ได้ระบุว่าให้เป็นสินสมรสจึงเป็นสินส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) และมาตรา 1474(2)เห็นว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวจำเลยได้มาเมื่อปี 2511 เป็นการได้มาก่อนที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันและเป็นเวลาที่พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช2477 ใช้บังคับซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติว่า สินสมรสได้แก่ทรัพย์สินทั้งหมดที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส นอกจากที่ระบุไว้ว่า เป็นสินสมรสเดิมหรือสินส่วนตัวตามมาตรา 1463 หรือ 1464 บุตรสาวจำเลยยกที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวให้จำเลยโดยเสน่หาไม่ได้แสดงไว้ว่ายกให้เป็นสินส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1464 (3)ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ที่ดินโฉนดเลขที่ 1875 จึงไม่ใช่สินส่วนตัวตามมาตรา 1464 (3) แต่เป็นสินสมรสตามมาตรา 1466แม้ต่อมาจะมีพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับก็จะนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) ที่ตรวจชำระใหม่มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะที่ดินโฉนดเลขที่ 1875 ตกเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยแล้ว
พิพากษายืน

Share