แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ลูกหนี้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านในวันเดียวกันกับลูกหนี้ถูกฟ้องให้ล้มละลายในคดีอื่น เป็นการกระทำภายในระยะเวลา3 ปี ก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายในคดีนี้ เมื่อฟังได้ว่าผู้คัดค้านกับลูกหนี้สมคบกันทำสัญญาจะซื้อขายและสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเพื่อหลีกเลี่ยงการติดตามยึดทรัพย์ของพนักงานเจ้าหน้าที่และมิให้บรรดาเจ้าหนี้อื่นบังคับชำระหนี้ได้ โดยลูกหนี้และผู้คัดค้านไม่มีเจตนาซื้อขายและชำระราคากันจริง เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน ผู้ร้องจึงมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านได้
ย่อยาว
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 20095 ระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ให้ผู้คัดค้านกลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยให้ผู้คัดค้านโอนที่ดินพิพาทคืนสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ หากไม่โอนให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา ในกรณีไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 2,913,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านได้ซื้อที่ดินจากลูกหนี้โดยสุจริตเปิดเผยและมีค่าตอบแทน ไม่ทราบว่าในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลาย และไม่ทราบว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างลูกหนี้กับร้อยเอกหวล ใจยืน มิใช่ทรัพย์สินของลูกหนี้ผู้เดียว เพียงแต่ลูกหนี้ใส่ชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้เดียวไว้แทนเท่านั้น ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านได้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 20095 ระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้าน และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยให้ผู้คัดค้านโอนที่ดินพิพาทคืนสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ หากไม่โอนให้ถือเอาคำสั่งของศาลแสดงแทนเจตนาผู้คัดค้านหากโอนไม่ได้ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาที่ดินแทนเป็นเงิน 2,913,750 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันยื่นคำร้องคือวันที่ 8 มีนาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่าผู้ร้องจะขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทของลูกหนี้ได้หรือไม่ ข้อที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า การโอนที่ดินพิพาทได้กระทำโดยสุจริต ผู้คัดค้านไม่รู้ว่าลูกหนี้ตกอยู่ในภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัวในขณะที่ลูกหนี้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้าน ทั้งนี้เพราะมูลเหตุที่ลูกหนี้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้าน ตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย ค.20 ซึ่งทำขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2527 ก็เพื่อผู้คัดค้านจะนำดินจากที่ดินพิพาทไปถมที่ดินของลูกหนี้ซึ่งได้ว่าจ้างผู้คัดค้านให้ถมดินเป็นเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ นั้น ผู้ร้องได้นำนายวัลลภ ศรัณยวณิชย์เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ทำการยึดที่ดินของลูกหนี้มาสืบเป็นพยานโดยนายวัลลภเบิกความว่า เมื่อประมาณปี 2529 พยานได้ไปยึดที่ดินของลูกหนี้รวม 16 แปลง เนื้อที่ประมาณ 290 ไร่ สภาพที่ดินของลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นที่ว่างเปล่าและมีน้ำท่วมขัง พยานได้ทำบันทึกไว้ตามเอกสารหมาย ร.20 และได้ทำแผนผังของที่ดินที่ยึดตามเอกสารหมาย ร.3ที่ดินของลูกหนี้ที่พยานยึดไว้มีแปลงโฉนดเลขที่ 36411 ซึ่งระบายสีน้ำเงินไว้อยู่ติดกับที่ดินพิพาทซึ่งกากบาทสีน้ำเงิน ที่ดินพิพาทไม่มีทางรถยนต์เข้าถึงต้องเดินทางโดยเรือ ระหว่างที่ดินพิพาทกับถนนรามอินทรามีคลองกั้นอยู่ 2 คลอง คือ คลองเกร็ดกับคลองชันที่ดินพิพาทไม่สามารถขุดดินไปถมที่ดินแปลงข้างหน้าได้เพราะไม่มีทางรถยนต์ เห็นว่า คำเบิกความของนายวัลลภ ประกอบเอกสารหมาย ร.3และ ร.20 มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงจึงแสดงถึงสภาพที่ดินของลูกหนี้อย่างชัดเจนว่าเป็นที่ร้างรถยนต์เข้าไม่ถึง นับจากถนนรามอินทราแล้วที่ดินพิพาทจะอยู่ด้านในสุดติดคลองชันกรณีไม่น่าเชื่อว่าลูกหนี้ได้ว่าจ้างผู้คัดค้านให้ถมดินของลูกหนี้ในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเอกสารหมายค.20 ได้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2527 ซึ่งขณะนั้นพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527ได้ออกบังคับใช้แล้ว เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามเริ่มติดตามสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธุรกิจแชร์น้ำมันของลูกหนี้ซึ่งอยู่ในข่ายต้องหาว่ากระทำผิดอาญาตามพระราชกำหนดดังกล่าวโดยเจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจค้นบ้านพักและที่ทำงานของลูกหนี้และได้เชิญลูกหนี้มาสอบสวนเกี่ยวกับธุรกิจที่ลูกหนี้เป็นหัวหน้าวงแชร์น้ำมันในที่สุดลูกหนี้ต้องหลบหนีการจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจและไม่สามารถจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนหรือคืนเงินให้แก่ลูกวงแชร์ทั้งหลาย ซึ่งรวมถึงผู้คัดค้านด้วยผู้คัดค้านเองก็ยอมรับในข้อนี้ทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าผู้คัดค้านได้ทำธุรกิจอื่นกับลูกหนี้ด้วยเช่น เคยซื้อรถยนต์บรรทุกน้ำมัน รถยนต์นั่งจากลูกหนี้ เป็นต้นบ้านพักอาศัยของผู้คัดค้านกับลูกหนี้ก็อยู่ใกล้เคียงกัน ผู้คัดค้านรับว่าคุ้นเคยสนิทสนมกับลูกหนี้เป็นอย่างดี และขณะนั้นหนังสือพิมพ์ลงข่าวเกี่ยวกับฐานะการเงินของลูกหนี้ว่าเป็นหนี้ค่าแชร์ถูกเจ้าหนี้ติดตามทวงหนี้ค่าแชร์ ลูกหนี้ต้องหาคดีอาญา เหตุการณ์ดังกล่าวผู้คัดค้านย่อมทราบดีถึงฐานะการเงินของลูกหนี้ พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าผู้คัดค้านรับโอนที่ดินพิพาทมาจากลูกหนี้ โดยรู้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว สำหรับข้อที่ผู้คัดค้านฎีกาต่อไปว่าการโอนที่ดินพิพาทได้กระทำโดยมีค่าตอบแทนนั้นเห็นว่า เดิมผู้คัดค้านได้ร่วมเล่นแชร์กับลูกหนี้ไว้เป็นเงิน4,000,000 บาท แล้วได้ถอนทุนคืนจนเหลือเงินเพียง 550,000 บาทดังที่ผู้คัดค้านได้ขอรับชำระหนี้ไว้ตามเอกสารหมาย ร.1 ในการเล่นแชร์นี้ผู้คัดค้านเบิกความว่าได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อเดือน ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านเหลือเงินที่เล่นแชร์กับลูกหนี้เพียง 550,000 บาท ผู้คัดค้านย่อมได้รับดอกเบี้ยเพียงเดือนละ 38,900 บาท เท่านั้น การที่ผู้คัดค้านอ้างว่าได้ผ่อนชำระราคาที่ดินพิพาทเดือนละ 300,000 บาท ด้วยเงินค่าดอกเบี้ยที่ได้รับจากลูกหนี้จึงไม่น่าเชื่อ ประกอบกับผู้คัดค้านก็เบิกความว่าลูกหนี้หลบหนีไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2528 เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านไม่ได้รับชำระหนี้คืน และได้นำหนี้ที่ได้ร่วมลงทุนแชร์น้ำมันกับลูกหนี้มาขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ว่าผู้คัดค้านจะยังชำระค่าที่ดินงวดที่ 5 และงวดที่ 6 ตลอดจนยังคงชำระค่าที่ดินพิพาทต่อไปอีก พฤติการณ์ของผู้คัดค้านกับลูกหนี้มีลักษณะสมคบกันทำสัญญาจะซื้อจะขาย และสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ค.20 และ ร.34เพื่อหลีกเลี่ยงการติดตามยึดทรัพย์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ และมิให้บรรดาเจ้าหนี้อื่นบังคับชำระหนี้ได้ ทั้งนี้โดยลูกหนี้และผู้คัดค้านไม่มีเจตนาซื้อขายและชำระราคากันจริง เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เห็นว่าการเพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาทเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคำพิพากษาตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอน ก็ยังถือเป็นการโอนโดยชอบอยู่ กรณียังถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยตามขอ ผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนดอกเบี้ยให้ผู้คัดค้านชำระนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์