คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1041/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์กล่าวไว้ในฟ้องว่าโจทก์มอบอำนาจของโจทก์ไว้ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 จำเลยได้รับสำเนาเอกสารดังกล่าวไปพร้อมฟ้องแล้วไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการนำเอกสารมาสืบก่อนวันสืบพยานว่าไม่มีต้นฉบับหรือว่าต้นฉบับปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน สำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับและไม่ได้ขออนุญาตคัดค้านในภายหลัง ถือได้ว่าจำเลยยอมรับถึงการมีอยู่ของต้นฉบับและความถูกต้องแท้จริงของต้นฉบับเอกสารนั้นรวมทั้งยอมรับว่าสำเนานั้นตรงกับต้นฉบับ ศาลมีอำนาจรับฟังสำเนาเอกสารนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 125 ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อ 72 วรรคสาม บัญญัติให้แนวอาคารที่ปลูกสร้างริมทางสาธารณะที่มีความกว้างตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไปให้ร่นแนวอาคารห่างจากแนวถนนอย่างน้อย 1 ใน 10 ของความกว้างของแนวถนนนั้น คำว่า “แนวถนน” หมายความว่ารวมความกว้างของถนนและทางเท้าเข้าด้วยกัน ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายมิใช่ความผิดละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงฟ้องขอให้รื้อถอนได้เสมอตราบที่อาคารซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายยังคงอยู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้มอบอำนาจของโจทก์ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ให้หัวหน้าเขต (ผู้อำนวยการเขต) ปฏิบัติราชการแทน จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4236แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม2529 จำเลยได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ปลูกสร้างอาคารตึกพักอาศัยคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น (มีชั้นลอย) หลังคาดาดฟ้า 1 หลังเลขที่ 7/1 แต่จำเลยได้ทำการก่อสร้างอาคารตึกพักอาศัยคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น ดังกล่าวข้างต้นผิดไปจากแผนผังบริเวณแบบแปลนรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 เมื่อวันที่3 กรกฎาคม 2529 ผู้อำนวยการเขตพระนคร ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคารที่ก่อสร้างผิดไปจากรูปแบบแปลน และให้จำเลยจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาต จำเลยได้รับทราบคำสั่งของโจทก์แล้วแต่จำเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม และมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และยังทำการก่อสร้างอาคารต่อไปจนเสร็จสิ้น ต่อมาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2529 โจทก์จึงได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าวภายในกำหนด 35 วันนับแต่วันรับทราบคำสั่ง จำเลยรับทราบคำสั่งแล้วแต่เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโจทก์ และมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งโจทก์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงแจ้งความร้องทุกข์ ต่อมาศาลแขวงพระนครเหนือ (ดุสิต) ได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยฐานต่อเดิมอาคารไม่ได้รับอนุญาตและฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว หลังจากจำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษแล้ว จำเลยมิได้จัดการรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างดัดแปลงผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจึงขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนส่วนของอาคาร หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตดังกล่าวก็ขอให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เองโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และโจทก์ไม่เคยมอบอำนาจให้หัวหน้าเขต (ผู้อำนวยการเขต) ปฏิบัติราชการแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 4236แต่จำเลยมิได้เป็นเจ้าของตึกแถวเลขที่ 7/1 เนื่องจากจำเลยได้ให้ผู้มีชื่อเช่าที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวไป และผู้เช่าที่ดินดังกล่าวเป็นเจ้าของและครอบครองตึกที่พิพาท ทั้งเป็นผู้ดำเนินการหรือควบคุมงานหรือจัดให้มีการก่อสร้างอาคารที่พิพาทดังกล่าวและการก่อสร้างตึกอาคารที่พิพาทนั้นเป็นการก่อสร้างที่ไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร อนึ่งฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ1 ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนส่วนของอาคารตึกพักอาศัยคอนกรีตเสริมเหล็ก เลขที่ 7/1 ถนนมหรรณพ แขวงเสาชิงช้าเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ที่ก่อสร้างติดถนนมหรรณพ โดยร่นแนวอาคารห่างจากแนวถนนมหรรณพอย่างน้อย 1.60 เมตร และให้รื้อถอนส่วนของอาคารที่เป็นชั้นลอยซึ่งก่อสร้างเต็มพื้นที่ให้เหลือพื้นที่ขนาด 2.20 x 3.50 เมตร และให้จำเลยรื้อถอนส่วนของอาคารชั้นดาดฟ้า ซึ่งก่อสร้างดัดแปลงเป็นชั้นที่ 5 โดยรื้อถอนผนัง4 ด้าน เสา คาน และพื้นหลังคา ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างผิดไปจากแผนผังบริเวณแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลนดังกล่าวก็ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เอง โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรื้อถอนส่วนของอาคารด้านหลังให้เหลือเป็นที่ว่างปราศจากสิ่งปกคลุมเนื้อที่ลึก 2 เมตรกว้าง 3.50 เมตร ตั้งแต่ชั้นที่ 1 ถึงชั้นดาดฟ้า ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนเองได้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีต้นฉบับคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 4084/2534 ว่ามีการมอบอำนาจโดยถูกต้องมาแสดง คงมีแต่สำเนาคำสั่งดังกล่าวโดยไม่ได้มีการรับรองสำเนาเอกสารถูกต้อง สำเนาคำสั่งดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานเอกสารได้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า แม้สำเนาคำสั่งกรุงเทพมหานครที่4084/2524 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ไม่มีผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าวได้รับรองสำเนาถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(3) ก็ตาม แต่โจทก์ก็กล่าวในฟ้องว่าโจทก์ได้มอบอำนาจของโจทก์ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ให้หัวหน้าเขต (ผู้อำนวยการเขตในปัจจุบัน) ปฏิบัติราชการแทนตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 4084/2524 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1จำเลยได้รับสำเนาเอกสารดังกล่าวไปพร้อมฟ้องแล้ว ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการนำเอกสารมาสืบก่อนวันสืบพยานว่าไม่มีต้นฉบับหรือว่าต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน สำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับและไม่ได้ขออนุญาตคัดค้านในภายหลัง ถือได้ว่าจำเลยยอมรับถึงการมีอยู่ของต้นฉบับและความถูกต้องแท้จริงของต้นฉบับเอกสารนั้นรวมทั้งยอมรับว่าสำเนานั้นตรงกับต้นฉบับ ศาลมีอำนาจรับฟังสำเนาเอกสารนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125พยานที่โจทก์นำสืบมาฟังได้ว่าโจทก์ได้ออกคำสั่งมอบอำนาจของโจทก์ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ให้ผู้อำนวยการเขตในกรุงเทพมหานครปฏิบัติราชการแทน และเมื่อไม่ปรากฏว่าคำสั่งดังกล่าวถูกยกเลิกหรือเพิกถอน คำสั่งดังกล่าวจึงยังมีผลใช้บังคับอยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ในปัญหาว่าจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองผู้ดำเนินการผู้ควบคุมหรือจัดให้มีการก่อสร้างอาคารพิพาทหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานจำเลย ฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครอง ผู้ดำเนินการผู้ควบคุม หรือผู้จัดให้มีการก่อสร้างอาคารพิพาท
ในปัญหาว่าจำเลยก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยก่อสร้างอาคารพิพาทติดทางเท้าถนนมหรรณพ ก่อสร้างชั้นลอยของอาคารพิพาทเต็มพื้นที่ก่อสร้าง ดัดแปลงชั้นดาดฟ้าเป็นอาคารชั้นที่ 5 โดยก่อเสา คานผนังทั้งสี่ด้าน และมุงหลังคาเพิ่มเสาอีก 2 ต้น ทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เทคาน เทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กตั้งแต่พื้นชั้นล่างถึงชั้นดาดฟ้าผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต มีปัญหาโต้เถียงกันว่าอาคารพิพาทปลูกสร้างติดแนวถนนโดยมิได้ร่นแนวอาคารให้ห่างจากแนวถนนอย่างน้อย 1 ใน 10 ของความกว้างแนวถนน ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหรือไม่ จำเลยจะต้องรื้อสิ่งก่อสร้างอาคารพิพาทที่ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ และจำเลยได้เว้นทางเดินด้านหลังอาคารพิพาทตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหรือไม่ปัญหาว่า อาคารพิพาทปลูกสร้างติดแนวถนนหรือไม่นั้น ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อ 72 วรรคสาม บัญญัติให้แนวอาคารที่ปลูกสร้างริมทางสาธารณะที่มีความกว้างตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไปให้ร่นแนวอาคารห่างจากแนวถนนอย่างน้อย 1 ใน 10 ของความกว้างแนวถนน ข้อนี้ได้ความว่า ถัดจากผิวจราจรถนนมหรรณพ มีทางเท้ากว้าง 3 เมตรเพื่อให้ประชาชนเดินสัญจรไปมา ทางเท้าดังกล่าวเป็นแนวถนนตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหรือไม่ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครข้อ 4(53) บัญญัติว่า “แนวถนน” หมายความว่า เขตถนนและทางเดินที่กำหนดให้ไว้เป็นทางสาธารณะ และข้อ 4(49) บัญญัติว่า “ทางสาธารณะ”หมายความว่า ที่ดินที่ประชาชนมีสิทธิใช้เป็นทางคมนาคมได้ ดังนี้ทางเท้าจึงเป็นทางเดินที่กำหนดให้เป็นทางสาธารณะ แนวถนนจึงรวมความกว้างของถนนและทางเท้าเข้าด้วยกัน จำเลยจึงต้องปลูกอาคารพิพาทร่นห่างจากทางเท้าของถนนมหรรณพเข้าไป 1 ใน 10 ของความกว้างแนวถนนมหรรณพ การที่จำเลยปลูกสร้างอาคารติดทางเท้า จึงผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าว
ในปัญหาว่าจำเลยสร้างชั้นลอยเต็มพื้นที่และดัดแปลงดาดฟ้าเป็นชั้นที่ 5 โดยก่อสร้างผนังทั้งสี่ด้าน เพิ่มเสา คานและพื้นหลังคา กับเสา 2 ต้น ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของอาคารผิดไปจากแบบแปลนเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหรือไม่ตามข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร ข้อ 35 วรรคสาม จำเลยจะสร้างชั้นลอยมีเนื้อที่ได้ไม่เกินร้อยละสี่สิบของพื้นที่ทั้งหมดของห้องนั้นเท่านั้น จำเลยสร้างเต็มพื้นที่จึงขัดต่อข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร ส่วนที่จำเลยดัดแปลงดาดฟ้าเป็นชั้นที่ 5 และสร้างเสา 2 ต้น ผิดไปจากแบบแปลนที่จำเลยได้รับอนุญาตตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อ 30 โดยไม่ได้ขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นจำเลยจะอ้างความแข็งแรงของการก่อสร้างเพิ่มเติมมาเพื่อไม่ให้รื้อถอนหาได้ไม่ เพราะเป็นการขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวสำหรับปัญหาว่าจำเลยเว้นที่ว่างหลังอาคารพิพาทตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครข้อ 76(4) หรือไม่ โจทก์มีนายสมศักดิ์เบิกความว่า พยานได้ออกไปตรวจดูการก่อสร้างอาคารของจำเลยพบว่าจำเลยได้ทำการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดแบบไปจากที่ได้รับอนุญาตด้านหลังอาคารพิพาทขณะที่พยานไปตรวจสอบไม่มีทางหนีไฟ จำเลยก่อสร้างเต็มพื้นที่ผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฯ ข้อ 76 และตามภาพถ่ายอาคารพิพาทหมาย ล.8 ซึ่งจำเลยอ้างส่งต่อศาล ปรากฏว่าด้านหลังของอาคารพิพาทมีกันสาดอยู่เหนือหน้าต่างและมีกำแพงก่อด้วยอิฐมอญปิดทางเดินด้านหลังช่องว่างระหว่างด้านหลังของอาคารพิพาทกับด้านหลังของอาคารอีกอาคารหนึ่งซึ่งหันหลังเข้าหาอาคารพิพาทกว้างเท่ากับอิฐมอญเรียงตามยาวประมาณ 3-4 แผ่นเท่านั้น เห็นได้ชัดว่าด้านหลังของอาคารพิพาทเว้นที่ว่างไว้ไม่ถึง 2 เมตร ฟังได้ว่าด้านหลังอาคารพิพาทก่อสร้างผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 76(4)
ในปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะเป็นคดีละเมิดซึ่งโจทก์ฟ้องเกินกำหนด1 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดเห็นว่าความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย มิใช่ความผิดฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากแต่เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองประโยชน์และความปลอดภัยแก่ประชาชนเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องขอให้รื้อถอนได้เสมอตราบที่อาคารพิพาทซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายยังคงอยู่…”
พิพากษายืน

Share