คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3598/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามข้อตกลงในคำร้องขอนำเรือเข้าท่าภายในอาณาบริเวณของโจทก์ที่จำเลยที่3ในฐานะตัวแทนจำเลยที่1ทำไว้กับโจทก์โดยคำร้องดังกล่าวมีข้อความว่าข้าพเจ้ายอมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งเรือที่นำเข้าได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เพื่อนำเรือเข้ามาจอดซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่1ที่จะยอมรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่เรือซัมเมอร์เบย์ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่งการแสดงเจตนาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่1และกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้จึงมีอายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164 จำเลยที่1เป็นนิติบุคคลต่างประเทศมีสำนักงานสาขาอยู่ในประเทศไทยถือได้ว่าจำเลยที่1มีภูมิลำเนาประเทศไทยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา71การที่จำเลยที่2ซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาของจำเลยที่1ในประเทศไทยและจำเลยที่3ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่2ให้ติดต่อกับโจทก์แทนจำเลยที่1ทำสัญญากับโจทก์แทนจำเลยที่1จึงไม่ใช่กรณีทำแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศอันจะอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา824จำเลยที่2ที่3จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัวและการที่จำเลยที่2และจำเลยที่3เข้าทำการเกี่ยวข้องกับโจทก์เป็นการทำในฐานะที่เป็นตัวแทนของจำเลยที่1จำเลยที่2และจำเลยที่3จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่1รับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดในกรณีที่เรือซัมเมอร์เบย์ชนท่าเรือของโจทก์เสียหายตามข้อตกลงในคำร้องขอนำเรือเข้าท่าภายในอาณาบริเวณของโจทก์เป็นเงิน 2,650,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2และที่ 3 กระทำในฐานะลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว คดีโจทก์ขาดอายุความ ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน100,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลต่างประเทศ มีสาขาอยู่ในประเทศไทยโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจลงนามเอกสารและกระทำการเกี่ยวกับบริการท่าในนามของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 3 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1ยื่นคำร้องต่อโจทก์ขออนุญาตนำเรือซัมเมอร์เบย์เข้ามาจอดที่ท่าเรือของโจทก์เพื่อขนถ่ายสินค้าตั้งแต่วันที่ 7 ถึงวันที่10 ตุลาคม 2530 โดยตกลงยอมรับผิดในผลแห่งการละเมิดซึ่งเรือซัมเมอร์เบย์ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตามคำร้องขอนำเรือเข้าท่าภายในบริเวณของโจทก์เอกสารหมาย จ.5 ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2530 เรือซัมเมอร์เบย์ได้ชนท่าเทียบเรือที่ 20 เอบี ของโจทก์เสียหาย ในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 3ได้ทำบันทึกรับทราบความเสียหายและยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามข้อตกลงในคำร้องขอนำเรือเข้าท่าภายในอาณาบริเวณของโจทก์เอกสารหมาย จ.5 มิได้ฟ้องจำเลยทั้งสามว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งตามเอกสารหมาย จ.5 มีข้อความว่า”ข้าพเจ้ารับจะปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยระเบียบความปลอดภัยการใช้ท่าเรือบริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือซึ่งได้ออก ณ กรุงเทพมหานคร โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทยและชำระค่าภาระตามอัตราค่าภาระการใช้ท่าเรือบริการและความสะดวกต่าง ๆ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และข้าพเจ้ายอมรับผิดในผลแห่งการละเมิด ซึ่งเรือที่นำเข้าได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อนำเรือเข้ามาจอด”เห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1ที่จะยอมรับผิดในผลแห่งการละเมิด ซึ่งเรือซัมเมอร์เบย์ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่งการแสดงเจตนาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1เมื่อเรือซัมเมอร์เบย์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ท่าเทียบเรือของโจทก์ โจทก์จึงอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 โดยอาศัยเอกสารดังกล่าวได้และกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ซึ่งใช้บังคับในขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1รับผิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัวด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824เพราะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการมีภูมิลำเนาในต่างประเทศปัญหานี้โจทก์อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยไว้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ประกอบมาตรา 247 เพราะหากย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ก็จะทำให้คดีล่าช้าโดยไม่จำเป็นเห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1มีสำนักสาขาอยู่ในประเทศไทย ดังนั้นย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 1มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 71 ซึ่งใช้บังคับในขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ การที่จำเลยที่ 2ที่ 3 ทำสัญญากับโจทก์แทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่กรณีทำแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ อันจะอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัว และเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการสาขาของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทยซึ่งเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2เข้าทำการเกี่ยวข้องกับโจทก์ จึงเป็นการทำในฐานะที่เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1รับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 นั้นเป็นเพียงได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ให้มีอำนาจติดต่อกับโจทก์แทนจำเลยที่ 1 ได้ตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งในการยื่นคำร้องขอนำเรือเข้าท่าภายในอาณาบริเวณของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 นั้น จำเลยที่ 3ก็ระบุไว้ชัดเจนว่ากระทำการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 3เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1 จึงหาต้องร่วมกับจำเลยที่ 1รับผิดต่อโจทก์ไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการสุดท้ายมีว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินเท่าใดซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยเพราะเห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความและพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ และเห็นว่าโจทก์เสียหายเป็นเงิน 2,650,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,650,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share