แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำให้การที่ขัดแย้งกันเองได้แก่คำให้การที่ยืนยันข้อเท็จจริงหลายทางไม่ชัดแจ้งว่าข้อเท็จจริงที่ให้การนั้นเป็นไปในทางหนึ่งทางใด ตอนแรกจำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยรู้จักหรือไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยไม่ได้ลงชื่อในสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้อง ลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยไม่เคยกู้เงินและไม่เคยรับเงินจากโจทก์ แต่ในตอนต่อมาจำเลยกลับให้การว่า สัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องเกิดจากภริยาจำเลยเคยกู้ยืมเงินจากโจทก์และภริยาจำเลยได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้คืนสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้โดยไม่ได้กรอกข้อความและให้โจทก์ยึดถือไว้ในการที่ภริยาจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ แล้วโจทก์กรอกข้อความในสัญญาดังกล่าวโดยที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกันคำให้การดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าจำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์และหนังสือสัญญากู้เป็นเอกสารปลอม แต่เหตุแห่งการปฏิเสธขัดแย้งกันไม่ชัดแจ้งว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอมเพราะเหตุใด คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง
แม้จำเลยไม่มีประเด็นนำสืบตามคำให้การ แต่คดียังมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้อง จึงจะชนะคดีได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์รวมเงินต้นและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน172,500 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 150,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยรู้จักหรือมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงิน ไม่เคยได้รับเงินและไม่ได้ลงชื่อในสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้อง ลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม หากศาลฟังว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยจริงแล้ว จำเลยก็ไม่ต้องชดใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์ดังเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อปี 2530 ภริยาจำเลยเคยกู้ยืมเงินจากโจทก์ ต่อมาวันที่ 18 เมษายน 2531 ภริยาจำเลยได้ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์อ้างว่าต้นฉบับสัญญากู้ยืมเงินซึ่งจำเลยลงชื่อไว้โดยไม่ได้กรอกข้อความและภริยาจำเลยให้โจทก์ยึดถือไว้ยังหาไม่พบ หากพบแล้วโจทก์จะคืนให้ภริยาจำเลย เมื่อภริยาจำเลยหลงลืมไม่ได้ติดตามทวงถามโจทก์กลับนำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมากรอกข้อความฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 172,500 บาทแก่โจทก์พร้อมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 150,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำให้การของจำเลยขัดแย้งกันไม่ชัดแจ้งเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คำให้การที่ขัดแย้งกันเองได้แก่คำให้การที่ยืนยันข้อเท็จจริงหลายทางไม่ชัดแจ้งว่าข้อเท็จจริงที่ให้การนั้นเป็นไปในทางหนึ่งทางใด คดีนี้ตอนแรกจำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยรู้จักหรือไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยไม่ได้ลงชื่อในสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้อง ลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยไม่เคยกู้เงินและไม่เคยรับเงินจำนวน 150,000 บาท จากโจทก์แต่ตอนต่อมาจำเลยกลับให้การว่า สัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้เกิดจากภริยาจำเลยเคยกู้ยืมเงินจากโจทก์เมื่อปี 2530 และภริยาจำเลยได้ชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยคืนให้แก่โจทก์ครบถ้วนไปแล้วตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2531 หากแต่โจทก์ไม่ได้คืนต้นฉบับสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้โดยไม่ได้กรอกข้อความและให้โจทก์ยึดถือไว้ในการที่ภริยาจำเลยกู้ยืมเงิน โจทก์จึงกรอกข้อความในสัญญากู้ยืมเงินโดยที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกันแล้วนำมาเป็นหลักฐานในการฟ้องคดีนี้ คำให้การของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ และหนังสือสัญญากู้ยืมเงินท้ายฟ้องที่โจทก์อ้างเป็นเอกสารปลอม แต่เหตุแห่งการปฏิเสธขัดแย้งกันไม่ชัดแจ้งว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอมเพราะเหตุใด คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีประเด็นนำสืบตามคำให้การ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าเมื่อจำเลยไม่มีประเด็นนำสืบตามคำให้การ คดีจึงฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะคดียังมีประเด็นข้อพิพาทและโจทก์ต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้องจึงจะชนะคดีได้ และเนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทที่ว่าจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี