คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดเกิดขึ้นในทะเลหลวง นอกราชอาณาจักรไทยศาลไทยจะลงโทษผู้กระทำผิดที่เป็นคนไทยในข้อหาความผิดต่อชีวิตตาม ป.อ.มาตรา 8 (4) ได้ต่อเมื่อผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 8 (ก)แต่คดีนี้ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าผู้ตายซึ่งถือว่าเป็นผู้เสียหายเป็นใครบ้าง และไม่ปรากฏว่าจะมีผู้ใดซึ่งสามารถจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) ได้ดำเนินการร้องขอให้ศาลไทยลงโทษ ที่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ขอให้ลงโทษก็เฉพาะผู้เสียหายทั้งสี่ที่ถูกปล้นทรัพย์และพยายามฆ่าเท่านั้น ฉะนั้น จึงลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นไม่ได้ คงลงโทษได้เฉพาะข้อหาปล้นทรัพย์และพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งผู้เสียหายทั้งสี่ได้ร้องทุกข์ขอให้ลงโทษจำเลยแล้วเท่านั้น
โจทก์บรรยายฟ้องข้อหาปล้นทรัพย์ไว้ในข้อ 1 ก.แยกต่างหากจากข้อหาฆ่าและพยายามฆ่าซึ่งอยู่ในข้อ 1 ข. เพียงว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้มีดและขวานเป็นอาวุธในการปล้นทรัพย์โดยใช้เรือยนต์ซึ่งใช้ในการประมงเป็นยานพาหนะเท่านั้น ไม่ได้บรรยายว่าในการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายด้วยถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยดังกล่าว ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคท้าย ได้เพราะเป็นการเกินคำขอที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 คงลงโทษจำเลยได้เพียงฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธและใช้ยานพาหนะเพื่อการทำผิดเท่านั้น
หลังจากที่จำเลยกับพวกปล้นทรัพย์ได้แล้ว ได้ถอยเรือไปอยู่ห่างจากเรือของผู้เสียหายาทั้งสี่กับพวกประมาณ 20 เมตร เพื่อรอดูเรือประมงลำที่ 3 และลำที่ 4 เข้ามาเทียบกับเรือผู้เสียหายทั้งสี่กับพวกแล้วลูกเรือประมงลำที่ 3 ขึ้นไปพาพวกของผู้เสียหายทั้งสี่ที่เป็นหญิง 6 คน ขึ้นไปบนเรือประมงลำที่ 3เสร็จ แล้วเรือประมงลำที่ 3 และลำที่ 4 จึงแล่นออกไป หลังจากนั้นจำเลยกับพวกขับเรือประมงพุ่งเข้าชนเรือผู้เสียหายทั้งสี่กับพวกจนมีพวกของผู้เสียหายตกทะเลหายไปประมาณ 20 คน นั้น ยังอยู่ในช่วงแห่งการปล้นทรัพย์ เพราะเป็นเวลาใกล้ชิดต่อเนื่องจากการได้ทรัพย์และพาเอาทรัพย์ที่ปล้นได้ไป เจตนาที่จำเลยกับพวกต้องการให้ผู้เสียหายกับพวกถึงแก่ความตายก็เพื่อปกปิดการที่ตนกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้นเอง การพยายามฆ่าผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับการปล้นทรัพย์ซึ่งต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
ปัญหาข้อกฎหมายเหล่านี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามป.วิ.อ. มาตรา 195, 225

Share