คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6571/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534มาตรา 104(2) โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมยังสถานพินิจ ฯลฯ นั้น จะต้องห้ามอุทธรณ์แต่เฉพาะกรณีที่อุทธรณ์เกี่ยวกับการที่ศาลใช้ดุลพินิจเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจเท่านั้นมิได้ห้ามจำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ฉะนั้น จำเลยทั้งสองจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวได้หรือไม่จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดาซึ่งเมื่อนำพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6มาประกอบแล้วก็คือบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง ในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งอัตราโทษตามมาตรา 277 วรรคสองระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต และตามมาตรา 277 วรรคสามระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต อันเป็นอัตราโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวิ จำเลยจึงอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดได้ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 121

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 277 วรรคสอง, และวรรคสาม, 279, 317 วรรคสาม
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 277 วรรคสอง และวรรคสาม ขณะกระทำผิดจำเลยทั้งสองมีอายุ 14 ปีเศษ และ 16 ปีเศษ ตามลำดับ ลดมาตราส่วนให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 ประกอบมาตรา 75 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 25 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104(2)ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันพิพากษาโดยให้เจ้าหน้าที่รายงานความประพฤติจำเลยทั้งสองทุก 3 เดือนด้วย คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 121หรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องซึ่งเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เห็นว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 121 บัญญัติว่า”คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) ฯลฯ
(2) กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 104เว้นแต่ในกรณีที่การใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนนั้นเป็นการพิจารณาหรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปเพื่อกักและอบรมมีกำหนดระยะเวลาเกินสามปี
(3) ฯลฯ
ดังนั้น การต้องห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ในกรณีที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 104 ซึ่งคดีนี้เป็นกรณีตามมาตรา 104(2) ที่บัญญัติให้อำนาจศาลที่พิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจ สถานศึกษาหรือสถานฝึกและอบรมหรือสถานแนะนำทางจิต ตามเวลาที่ศาลกำหนดแต่ต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 121(2) ดังกล่าว คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วนั้น จะต้องห้ามอุทธรณ์แต่เฉพาะกรณีที่อุทธรณ์เกี่ยวกับการที่ศาลใช้ดุลพินิจเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจเท่านั้น มิได้ห้ามจำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดฉะนั้น จำเลยทั้งสองจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวได้หรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดา ซึ่งเมื่อนำพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6 มาประกอบแล้ว ก็คือบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่บัญญัติไว้ในมาตรา193 ทวิ ว่า “ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง ในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฯลฯ” เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งอัตราโทษตามมาตรา 277 วรรคสอง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต และตามมาตรา 277 วรรคสามระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตอันเป็นอัตราโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ จำเลยทั้งสองจึงอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 121 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองไว้ให้ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิจารณาพิพากษานั้นชอบแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงพัชยาพร ในลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีสาระสอดคล้องต้องกันมีเหตุผลและน้ำหนักดีเชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงพัชยาพรผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share