แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำสัญญาจ้างเอกชนให้ส่งเอกสารเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหรือคำสั่งให้ชำระค่าใช้จ่าย รวมทั้งรับเช็คจากบริษัทผู้รับประกันภัยจากรถ หรือบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด หรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แต่จำเลยส่งมอบงานไม่ถูกต้อง ต้องว่าจ้างบุคคลอื่นทำงานแทน ขอให้ชำระค่าเสียหาย เห็นว่า สัญญาพิพาทมีสาระสำคัญว่าให้จำเลยมีหน้าที่ส่งเอกสารที่โจทก์จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหรือออกคำสั่งให้ชำระค่าใช้จ่าย รวมทั้งรับเช็คจากบริษัทผู้รับประกันภัยจากรถ หรือจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหรือจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ และให้จำเลยเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายในการดำเนินงานตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นตัวแทนโจทก์ในการตรวจสอบเอกสารชุดคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น รวมทั้งติดตามผลทางคดีเพื่อประกอบการขอรับค่าเสียหาย จัดประชุมและพัฒนาระบบชุดเอกสารการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย การดำเนินการตามข้อสัญญาพิพาทจึงเป็นเพียงการที่โจทก์มุ่งประสงค์ให้จำเลยเข้ามาดำเนินการจัดการงานทางธุรการเพื่อความสะดวกของโจทก์ในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ แม้จะมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดการจ้างให้จำเลยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์ ก็เป็นเพียงการให้คำปรึกษาเพื่อให้การเรียกเก็บหรือออกคำสั่งให้ชำระค่าใช้จ่ายเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่มีลักษณะเป็นการว่าจ้างให้จำเลยเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณสุขโดยตรง และไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะถือว่าเป็นสัญญาทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๕๔/๒๕๕๖
วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๖
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลจังหวัดนนทบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนนทบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๔ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โจทก์ ยื่นฟ้องบริษัทเวก้า โลจีสติกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด จำเลย ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. ๑๕๗๐/๒๕๕๔ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๘ โจทก์ตกลงทำสัญญาจ้างจำเลยตามสัญญาเลขที่ ๑๒/๒๕๔๙ ให้จำเลยดำเนินการตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้แก่โจทก์ในการดำเนินงานตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยจำเลยมีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารชุดคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นของผู้ประสบภัยจากรถทั้งหมดที่ได้รับจากหน่วยบริการในโครงการนำร่อง และพิจารณาวงเงินคุ้มครองสูงสุดที่ผู้ประสบภัยได้รับตามสิทธิความคุ้มครองให้ถูกต้อง ครบถ้วน และส่งเอกสารชุดคำร้องดังกล่าวเพื่อเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหรือคำสั่งให้ชำระค่าใช้จ่าย รวมทั้งรับเช็คค่ารักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากบริษัทผู้รับประกันภัยจากรถ หรือบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด หรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ส่งมอบให้โจทก์ และรับใบเสร็จรับเงินจากโจทก์ส่งมอบให้กับกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยหรือบริษัทผู้รับประกันภัยจากรถ ตลอดจนประสานงานและติดตามการชำระเงินจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยหรือบริษัทประกันภัยรถเพื่อให้ได้รับชำระเงินตามสิทธิ ความคุ้มครอง นอกจากนี้ จำเลยจะต้องประมวลผลการดำเนินงาน รวมทั้งปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคดังกล่าว การจัดประชุม/การอบรมผู้ปฏิบัติงานของหน่วยบริการ และการพัฒนาระบบเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งโจทก์ตกลงจ่ายค่าจ้างดำเนินการดังกล่าวเป็นเงิน ๙๐๐,๐๐๐ บาท กำหนดจ่ายเงินค่าจ้าง ๓ งวด จำเลยส่งมอบงานให้โจทก์เพียง ๒ งวด และรับเงินค่าจ้างแล้ว ส่วนงานงวดที่ ๓ จำเลยส่งมอบงานไม่ถูกต้องเนื่องจากมีเอกสารชุดคำร้องที่ได้รับจากโจทก์แล้วยังไม่ส่งคืนและส่วนที่ส่งไปกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยและบริษัทผู้รับประกันภัยยังไม่ได้รับ ทำให้หน่วยบริการเสียผลประโยชน์ในการเรียกเก็บเงิน โจทก์แจ้งให้จำเลยแก้ไข แต่จำเลยก็ยังส่งมอบงานงวดที่ ๓ ไม่ถูกต้องเช่นเคย โจทก์จึงไม่ตรวจรับงานจ้าง การกระทำของจำเลย เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีเอกสารส่งเบิกจากบริษัทประกันภัยและกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย รวมถึงยังขาดขั้นตอนการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและเสียผลประโยชน์ในการเรียกเก็บเงิน โจทก์บอกเลิกสัญญา และว่าจ้างบุคคลอื่นทำงานงวดที่ ๓ แทนจำเลย ขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยปฏิบัติถูกต้องตามข้อกำหนดในสัญญาทุกประการ มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ให้บริการแก่ประชาชนและบริการสาธารณสุข แต่สัญญาที่โจทก์กล่าวอ้างและฟ้องจำเลยเป็นสัญญาที่ให้จำเลยกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในวิธีปฏิบัติงานของโจทก์ มิได้ให้จำเลยเป็นตัวแทนในการบริการแก่ประชาชนหรือทำบริการสาธารณะแต่อย่างใด ข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยมีเพียงแต่ว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาที่ทำไว้หรือไม่ ซึ่งรายละเอียดของสัญญาโจทก์อ้างว่าจำเลยมีหน้าที่เพียงนำส่งเอกสารเพื่อขอเก็บเงินค่าใช้จ่าย หรือคำสั่งให้ชำระค่าใช้จ่าย รับเช็คจากบริษัทผู้รับประกันภัย บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด หรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย รวมถึงให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่โจทก์ โดยจำเลยไม่มีหน้าที่บริการประชาชนหรือสาธารณะโดยตรง ข้อสัญญาที่โจทก์กล่าวอ้างทำขึ้นด้วยความมุ่งหมายผูกพันตนด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกันอันเป็นสัญญาทางแพ่ง มิใช่สัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๒๖ โดยมาตรา ๑๒ กำหนดให้โจทก์จะต้องดำเนินการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ บริษัทผู้รับประภัยรถ หรือบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ในกรณีผู้ประสบภัยจากรถตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถได้ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการนำส่งเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อส่งต่อให้หน่วยบริการต่อไปอีกด้วย ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลย โดยข้อ ๑ วรรคหนึ่ง ของสัญญากำหนดให้จำเลยดำเนินการ ตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้จำเลยมีหน้าที่นำส่งเอกสารเพื่อเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหรือคำสั่งให้ชำระค่าใช้จ่าย รวมทั้งรับเช็คจากบริษัทผู้รับประกันภัยรถ หรือบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด หรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขแห่งสัญญา รวมทั้งเอกสารแนบท้ายสัญญาข้อ ๒ กำหนดให้เอกสารแนบท้ายสัญญาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ซึ่งได้แก่ ข้อกำหนดการจ้างที่ปรึกษา ใบเสนอราคาและเอกสารประกอบของบริษัท และแบบรายงานการตรวจเอกสารและความเห็น แบบรายงานข้อมูลฯ โดยข้อกำหนดการจ้างบริษัทที่ปรึกษาที่แนบท้ายสัญญากำหนดงานที่จำเลยจะต้องดำเนินการ ดังนี้ ๑. เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายในการดำเนินการ ตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ ๒. เป็นตัวแทนโจทก์ในการตรวจสอบเอกสารคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นของผู้ประสบภัยจากรถทั้งหมดที่ได้รับจากหน่วยบริการฯ ๓. จัดส่งเอกสารชุดคำร้องขอฯ ให้โจทก์เพื่อเรียกเก็บจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ หรือบริษัทผู้รับประกันภัยรถ ติดตามผลทางคดีเพื่อประกอบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ส่วนที่เกินค่าเสียหายเบื้องต้น ๔. เป็นตัวแทนโจทก์ในการจัดส่งเอกสารชุดคำร้องฯ เพื่อเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลระหว่างโจทก์กับกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ หรือบริษัทผู้รับประกันภัยรถ และการรับเช็คค่ารักษาพยาบาลของผู้ประสบภัยจากรถ ที่เรียกเก็บจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถหรือบริษัทผู้รับประกันภัยรถ ส่งมอบให้โจทก์และส่งมอบใบเสร็จรับเงินให้กับกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถหรือบริษัทผู้รับประกันภัยรถฯ ๕. การติดตามการชำระเงินค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทผู้รับประกันภัยรถและกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ ๖. รายงานผลการดำเนินการตามข้อ ๒ – ข้อ ๕ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาอุปสรรค ๗. ร่วมกับโจทก์ในการจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการจัดอบรมผู้ปฏิบัติงานของหน่วยบริการเพื่อให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์การจัดทำแบบฟอร์ม คู่มือ และเอกสารอื่นที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน การพัฒนาระบบเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ และ ๘. วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประมวลผลการดำเนินงานรวมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นสัญญามีคู่สัญญาฝ่ายโจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีวัตถุประสงค์ให้จำเลยเข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งเป็นบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของโจทก์ จำเลยมิได้มีหน้าที่เพียงนำส่งเอกสารเพื่อเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหรือคำสั่งให้ชำระค่าใช้จ่าย และรับเช็คจากบริษัทผู้รับประกันภัยรถ หรือบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด หรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถเท่านั้น หากแต่จำเลยยังมีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ รวมทั้งพัฒนาระบบเรียกเก็บค่าใช้จ่าย เพื่อบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของโจทก์ ตามมาตรา ๑๒ และมาตรา ๒๖ (๖) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ แทนโจทก์ ซึ่งหากโจทก์ไม่ว่าจ้างจำเลย โจทก์ก็จะต้องจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าวเอง สัญญาจ้างพิพาทมีวัตถุประสงค์ให้จำเลยเข้าร่วมดำเนินการหรือเข้าดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะแทนโจทก์ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหายกรณีโจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยให้ส่งเอกสารเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหรือคำสั่งให้ชำระค่าใช้จ่าย รวมทั้งรับเช็คจากบริษัทผู้รับประกันภัยจากรถ หรือบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด หรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แต่จำเลยส่งมอบงานไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีเอกสารส่งเบิกจากบริษัทประกันภัยและกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย รวมถึงยังขาดขั้นตอนการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ต้องว่าจ้างบุคคลอื่นทำงานแทน จึงต้องพิจารณาว่า สัญญาพิพาทดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคล ซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โจทก์ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่เพื่อรองรับภารกิจของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการจัดการดูแลให้บุคคลทุกคนมีสิทธิได้เข้ารับการบริการสาธารณสุข เมื่อบุคคลทั่วไปเข้าใช้บริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการใดแล้ว หน่วยบริการนั้นจะต้องแจ้งการเข้ารับบริการให้โจทก์ทราบ โดยโจทก์มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ที่จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เช่น จากบริษัทประกันภัย กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เป็นต้น และมีอำนาจที่จะออกคำสั่งให้ผู้รับผิดชอบต้องชำระค่าใช้จ่าย ตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ ข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์ทำสัญญาพิพาทว่าจ้างจำเลย โดยมีสาระสำคัญว่าให้จำเลยมีหน้าที่ส่งเอกสารที่โจทก์จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหรือออกคำสั่งให้ชำระค่าใช้จ่าย รวมทั้งรับเช็คจากบริษัทผู้รับประกันภัยจากรถ หรือจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหรือจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ และให้จำเลยเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายในการดำเนินงานตามมาตรา ๑๒ เป็นตัวแทนโจทก์ในการตรวจสอบเอกสารชุดคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น รวมทั้งติดตามผลทางคดีเพื่อประกอบการขอรับค่าเสียหาย จัดประชุมและพัฒนาระบบชุดเอกสารการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย การดำเนินการตามข้อสัญญาพิพาทจึงเป็นเพียงการที่โจทก์มุ่งประสงค์ให้จำเลยเข้ามาดำเนินการจัดการงานทางธุรการเพื่อความสะดวกของโจทก์ในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ แม้จะมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดการจ้างให้จำเลยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์ ก็เป็นเพียงการให้คำปรึกษาเพื่อให้การเรียกเก็บหรือออกคำสั่งให้ชำระค่าใช้จ่ายเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีลักษณะเป็นการว่าจ้างให้จำเลยเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณสุขโดยตรง และไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะถือว่าเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โจทก์ บริษัทเวก้า โลจีสติกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ