แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลย อ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดิน แต่จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๕ มีหนังสือคัดค้านการรังวัดอ้างว่าที่ดินของโจทก์บางส่วนทับซ้อนแนวเขตกำแพงเมือง-คูเมือง เมืองพระธาตุจอมทอง ทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการแบ่งแยกที่ดินและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ได้ ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันรื้อถอน และหรือถอยร่นแนวเขตที่ดินที่รุกล้ำทับซ้อนออกจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันเพิกถอนคำสั่งหนังสือคัดค้านแนวเขตการแบ่งแยกที่ดินและให้ร่วมกันหรือแทนกันกำหนดแนวเขตที่ดินให้เป็นไปตามการนำชี้ของโจทก์ ส่วนจำเลยทั้งห้าให้การทำนองเดียวกันว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากที่ดินของโจทก์บางส่วนทับซ้อนแนวเขตกำแพงเมือง-คูเมือง เมืองพระธาตุจอมทอง อันเป็นโบราณสถาน ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ เอกชนหรือราษฎรไม่สามารถยึดถือครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ได้ และเป็นที่ราชพัสดุ เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจาณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๕๓/๒๕๕๖
วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๖
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดพะเยา
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดพะเยาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๕ นายมงคล บุญเรือง โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานธนารักษ์ พื้นที่พะเยา ที่ ๑ ธนารักษ์พื้นที่พะเยา ที่ ๒ กรมธนารักษ์ ที่ ๓ อธิบดีกรมธนารักษ์ ที่ ๔ สำนักศิลปากร ที่ ๗ น่าน ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดพะเยา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๓๗๒/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๖๔๙ ตำบลต๋อม อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย (ปัจจุบัน ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา) เนื้อที่ ๕ ไร่ ๓ งาน ๕๕ ตารางวา ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๔ โจทก์ยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินในนามเดิม และเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพะเยาทำการสำรวจรังวัดที่ดินตาม คำขอของโจทก์ แต่จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๕ มีหนังสือคัดค้านการรังวัด อ้างว่าที่ดินของโจทก์บางส่วนทับซ้อนแนวเขตกำแพงเมือง-คูเมือง เมืองพระธาตุจอมทอง เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและเป็นการรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์โดยปกติสุข ทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการแบ่งแยกที่ดินและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ได้ ที่ดินของโจทก์ไม่ใช่ที่ดินที่ทางราชการสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันไม่ใช่ที่ราชพัสดุ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันรื้อถอนและหรือถอยร่นแนวเขตที่ดินที่รุกล้ำทับซ้อนออกจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันเพิกถอนคำสั่งหนังสือคัดค้านแนวเขตการแบ่งแยกที่ดิน และให้ร่วมกันหรือแทนกันกำหนดแนวเขตที่ดิน ให้เป็นไปตามการนำชี้ของโจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ดำเนินการดังกล่าวข้างต้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งห้าให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๕ คัดค้านการแบ่งแยกที่ดินของโจทก์เนื่องจากที่ดินของโจทก์บางส่วนทับซ้อนแนวเขตกำแพงเมือง-คูเมือง เมืองพระธาตุจอมทอง อันเป็นโบราณสถาน ตาม พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ เอกชนหรือราษฎรไม่สามารถยึดถือครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ได้และเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแล้ว การตรวจสอบและการกำหนดแนวเขต กำแพงเมือง-คูเมือง เมืองพระธาตุจอมทอง ได้ดำเนินการตามกฎหมาย มิได้เกิดจากการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๕ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองโดยเจ้าพนักงานของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ออกกฎ คำสั่งหรือกระทำการอื่นใด เนื่องจากการกระทำที่ไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่สุจริตหรือเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ อันเป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙
ศาลจังหวัดพะเยาพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างว่า ตนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและคู่ความซึ่งเป็นส่วนราชการและผู้แทนส่วนราชการอีกฝ่ายหนึ่งโต้เถียงว่า ฝ่ายที่กล่าวอ้างไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นโบราณสถานและที่ราชพัสดุ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิของโจทก์ตามที่โจทก์มีคำขอแล้วนั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเป็นที่ยุติเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์หรือเป็นโบราณสถานและที่ราชพัสดุ โดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นหลักในการพิจารณาเป็นสำคัญ ก่อนที่จะพิจารณาในประเด็นข้อปลีกย่อยอื่น ดังนั้นจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินโดยแท้ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่าคดีนี้ผู้ถูกฟ้องทั้งห้าเป็นหน่วยงานทางปกครองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินของรัฐประเภทที่ราชพัสดุ ตามพระราชบัญญัติราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการปกครองดูแลบำรุงรักษาและการใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๖ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าได้มีหนังสือคัดค้านแนวเขตที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีนำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดแบ่งแยกในนามเดิมว่า มีการปักหลักเขตรุกล้ำทับซ้อนแนวเขตกำแพงเมือง-คูเมือง เมืองพระธาตุจอมทอง จึงเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ราชพัสดุตามที่กฎหมายบัญญัติ ผู้ถูกฟ้องทั้งห้ามิได้อยู่ในฐานะเจ้าของหรือผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด แม้การที่ศาลจะพิพากษาว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติก่อนว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินของรัฐประเภทที่ราชพัสดุ แต่ประเด็น ดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี และแม้ว่าการพิจารณาเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะต้องพิจารณา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินเป็นหลักก็ตาม ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแห่งคดีได้หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจศาลหนึ่งศาลใดไว้โดยเฉพาะ ศาลปกครอง จึงมีอำนาจนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาใช้วินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๖๔๙ ยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดิน ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพะเยาทำการสำรวจรังวัดที่ดิน ตามคำขอของโจทก์ แต่จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๕ มีหนังสือคัดค้านการรังวัดอ้างว่าที่ดินของโจทก์บางส่วนทับซ้อนแนวเขตกำแพงเมือง-คูเมือง เมืองพระธาตุจอมทอง ทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการแบ่งแยกที่ดินและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ได้ ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันรื้อถอน และหรือถอยร่นแนวเขตที่ดินที่รุกล้ำทับซ้อนออกจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันเพิกถอนคำสั่งหนังสือคัดค้านแนวเขตการแบ่งแยกที่ดินและให้ร่วมกันหรือแทนกันกำหนดแนวเขตที่ดินให้เป็นไปตามการนำชี้ของโจทก์ ส่วนจำเลยทั้งห้าให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากที่ดินของโจทก์บางส่วนทับซ้อนแนวเขตกำแพงเมือง-คูเมือง เมืองพระธาตุจอมทอง อันเป็นโบราณสถาน ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ เอกชนหรือราษฎรไม่สามารถยึดถือครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ได้และเป็นที่ราชพัสดุ เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจาณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายมงคล บุญเรือง โจทก์ สำนักงานธนารักษ์ พื้นที่พะเยา ที่ ๑ ธนารักษ์พื้นที่พะเยา ที่ ๒ กรมธนารักษ์ ที่ ๓ อธิบดีกรมธนารักษ์ ที่ ๔ สำนักศิลปากร ที่ ๗ น่าน ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) นายดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ