แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คนเข้าเมืองซึ่งยอมแสดงตนเป็นคนต่างด้าวและทำใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวไปแล้วต่อมาภายหลังจะร้องขอให้ศาลพิสูจน์สัญชาติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองอีกไม่ได้ เพราะไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับ พ.ร.บ. คนเข้าเมืองแต่อย่างใด ถ้าหากประสงค์จะขอให้ศาลแสดงสัญชาติก็ชอบที่จะฟ้องผู้โต้แย้งสิทธิเป็นคดีมีข้อพิพาท(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2498)
ย่อยาว
ผู้ร้อง ร้องว่าเป็นคนไทยโดยกำเนิดบิดาส่งไปศึกษายังประเทศจีน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ถึง พ.ศ.๒๔๘๒ ผู้ร้องเดินทางกลับถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองก็ได้อ้างว่าเป็นคนสัญชาติไทยแต่เจ้าพนักงานแนะนำว่า ถ้ายอมแสดงตนเป็นคนต่างด้าวและทำหนังสือสำคัญทะเบียนคนต่างด้าวเสียจะได้กลับภูมิลำเนาโดยเร็วไม่ถูกคุมตัว ผู้ร้องจึงยอม บัดนี้ผู้ร้องมีความประสงค์จะขอให้ศาลพิสูจน์สัญชาติและสั่งว่าผู้ร้องเป็นคนเกิดในประเทศไทยมีสัญชาติไทยตาม ก.ม.ตามความใน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๔๙๓ ม.๔๓
พนักงานอัยการจังหวัดนครศรีธรรมราชคัดค้านว่าผู้ร้องเป็นคนต่างด้าว
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีไม่พอฟังว่าผู้ร้องเป็นคนสัญชาติไทย จึงสั่งให้ยกคำร้องเสีย และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ผู้ร้องร้องตาม ม.๔๓ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๔๙๓ แต่ได้ความว่าผู้ร้องเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยไม่ได้ร้องขอพิสูจน์ว่าเป็นคนไทยตามม.๒๘ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๔๘๐ กลับยอมแสดงตนเป็นคนต่างด้าวและทำหนังสือสำคัญทะเบียนคนต่างด้าวไปแล้ว การที่มาร้องนี้ไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองแต่อย่างใด จะมาอาศัยอำนาจตาม บท ก.ม. ดังกล่าวไม่ได้ อนึ่งการขอให้แสดงสัญชาตินั้นจะต้องมี ก.ม.สนับสนุนให้สิทธิเช่น พ.ร.บ.คนเข้าเมือง มิฉะนั้นผู้นั้นจะต้องฟ้องผู้โต้แย้งสิทธิเป็นคดีมีข้อพิพาท (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๑๑/๒๔๙๗) เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิจะร้องได้เช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไป ศาลฎีกาจึงพิพากษายืน