แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 ที่บัญญัติว่า ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ็งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรนั้น หมายถึง กรณีนิติกรรมที่ทำกันไว้มีข้อความไม่ชัดแจ้ง หรือมีข้อความขัดแย้งกันหรืออาจแปลความหมายได้เป็นหลายนัย แต่ถ้าข้อความในสัญญาชัดเจนแล้ว ย่อมไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องตีความการแสดงเจตนา
สัญญาจำนองพร้อมข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าทำสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์ ดังนี้ จึงนำบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 มาบังคับให้ต้องสืบพยานบุคคลประกอบเพื่อตีความถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาหาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) คดีจึงฟังได้ว่า สัญญาจำนองที่ดินพร้อมข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นการทำสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้ออาหารสัตว์(อาหารกุ้ง) จากโจทก์ กำหนดส่งสินค้าและชำระราคาเป็นรายงวด หากผิดนัดยอมให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม 2540 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน2540 จำเลยที่ 1 สั่งซื้ออาหารกุ้งจากโจทก์แล้วค้างชำระราคารวม 18 งวด เป็นเงิน1,288,161.84 บาท ต่อมาวันที่ 23 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 29797 ในวงเงิน 700,000 บาท เป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1โจทก์ทวงถามจำเลยที่ 1 และบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,465,284 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 1,288,161.84 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์ที่จำนองของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ในวงเงิน 700,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เฉพาะรายการสินค้าที่นางสาวเสาวลักษณ์ กว้างคณานุรักษ์ ลงลายมือชื่อรับมอบสินค้าเป็นเงินไม่เกิน 700,000 บาทเท่านั้น ส่วนรายการอื่นจำเลยที่ 1 ไม่ได้สั่งซื้อและไม่ได้รับมอบสินค้า จำเลยที่ 2จดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่หากจำเลยที่ 2 จะรับผิดก็ไม่เกิน 700,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,288,161.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 177,122 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 29797 ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลาจังหวัดสงขลา พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ในวงเงิน 700,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีกรรมการ3 คน จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการคนหนึ่งลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอีก 1 คน ประทับตราบริษัททำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2539 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้ออาหารกุ้งจากโจทก์โดยโจทก์ให้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 3,000,000 บาท จากนั้นระหว่างวันที่ 21 มีนาคม 2540 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้ออาหารกุ้งจากโจทก์ 18 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,288,161.84 บาท แต่ยังไม่ได้ชำระราคาแก่โจทก์ต่อมาวันที่ 23 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 29797 ตำบลพะวงอำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ให้แก่โจทก์ในวงเงิน700,000 บาท ตามสัญญาจำนองพร้อมข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.5และ จ.6
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจำนองพร้อมข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.5และ จ.6 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินของจำเลยที่ 2 มาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ภายในวงเงิน 700,000 บาท ตามสัญญาจำนองพร้อมข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 แต่ตามสัญญาจำนองพร้อมข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ซึ่งเป็นสัญญาจำนองระหว่างโจทก์ผู้รับจำนองกับจำเลยที่ 2ผู้จำนองมีข้อความในสัญญาจำนองดังกล่าวแต่เพียงว่า ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้การซื้อขายอาหารกุ้งที่นางเพ็ญศรี พิทักษธรรม มีต่อผู้รับจำนองทั้งในปัจจุบันและในภายภาคหน้าเป็นเงิน 700,000 บาท เท่านั้น ข้อความในสัญญาดังกล่าวมิได้ระบุว่าเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ก็มีฐานะแยกเป็นบุคคลหนึ่งต่างหากจากจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด หากโจทก์มีความประสงค์จะทำสัญญาจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ก็น่าจะระบุไว้ว่า สัญญาจำนองนี้เป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1เช่นเดียวกับสัญญาซื้อขายอาหารสัตว์เอกสารหมาย จ.4 ก็ระบุว่าเป็นการทำสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ และที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน ไม่เคยมีหนังสือถึงกัน การตีความสัญญาจำนองต้องตีความตามเจตนาของคู่สัญญาว่าการจำนองดังกล่าวเป็นการจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 บัญญัติว่า ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ็งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรนั้น หมายถึงกรณีนิติกรรมที่ทำกันไว้มีข้อความไม่ชัดแจ้ง หรือมีข้อความขัดแย้งกันหรืออาจแปลความหมายได้เป็นหลายนัย จึงให้ตีความการแสดงเจตนาโดยเพ็งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงเป็นสำคัญ ยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร แต่ถ้าข้อความในสัญญาชัดเจนแล้วย่อมไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องตีความการแสดงเจตนาซึ่งตามสัญญาจำนองพร้อมข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าทำสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์ ดังนี้ จึงนำบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 มาบังคับให้ต้องสืบพยานบุคคลประกอบเพื่อตีความถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาหาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) คดีจึงฟังได้ว่า สัญญาจำนองที่ดินพร้อมข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นการทำสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน