คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6558/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยกับป. สามีโจทก์ พักอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันในท้องที่ย่านชุมนุมชน โดยเปิดเผย และมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาจนมีบุตรด้วยกัน โดยบุตรก็ใช้นามสกุล ของ ป. ด้วยนั้น เป็นพฤติการณ์ที่แสดงโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ ป.ในทำนองชู้สาวแล้วโดยไม่จำเป็นต้องออกงานสังคมร่วมกับ ป. แต่อย่างใด ตามปกติภริยาย่อมต้องรักใคร่หวงแหนมิให้สามีไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ หญิงอื่นเว้นแต่จะมีเหตุผลพิเศษอย่างยิ่ง โจทก์มีความรักและหวงแหน ป. ผู้เป็นสามีถึงกับต้อง ย้ายจากจังหวัดนครศรีธรรมราชติดตามมาอยู่กับ ป. ที่จังหวัดจันทบุรีและยังไปร้องเรียน ต่อผู้บังคับบัญชา ป.ให้ว่ากล่าวตักเตือน ป.ให้ยุติความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยด้วย ไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลหรือพฤติการณ์พิเศษอย่างใดที่โจทก์มีความจำเป็นต้องยินยอมให้จำเลยมาเป็นภริยาของ ป. อีกคนหนึ่ง เมื่อจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับ ป. ในทำนองชู้สาวโดยโจทก์มิได้ยินยอมเช่นนี้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ค่าทดแทนที่ภริยาเรียกจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมี ความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวนั้น พิจารณาจากความเสียหายที่ภริยาพึงได้รับ พฤติการณ์แห่งคดีและสถานะของคู่สมรสเป็นหลัก โจทก์สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย มหิดลประกอบอาชีพรับราชการนับว่าเป็นผู้มีเกียรติฐานะในวงสังคม โจทก์กับ ป.สมรส กันมานานถึง 10 ปี มีบุตรด้วยกัน 1 คน สถานะของครอบครัวมีความมั่นคงสมบูรณ์ การกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาของสิบตำรวจเอกประชุม มรรคผล โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อ พ.ศ. 2530 มีบุตรด้วยกัน 1 คน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2538 จำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสิบตำรวจเอกประชุม โจทก์ต้องจ่ายเงิน 40,000 บาท ให้แก่จำเลยเพื่อไม่ให้จำเลยร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของสิบตำรวจเอกประชุม และไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสิบตำรวจเอกประชุมต่อไป แต่เมื่อเดือนตุลาคม 2538 จำเลยกลับแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสิบตำรวจเอกประชุมอีก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าทดแทน 200,000 บาท และอีกเดือนละ2,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสิบตำรวจเอกประชุม
จำเลยให้การว่า เมื่อปลายปี 2538 จำเลยได้เสียเป็นสามีภริยากับสิบตำรวจเอกประชุม โดยถูกสิบตำรวจเอกประชุมหลอกลวงว่ายังไม่มีภริยา และต่อมาโจทก์ยินยอมให้สิบตำรวจเอกประชุมยกย่องจำเลยเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง จำเลยไม่เคยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสิบตำรวจเอกประชุม โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์และสิบตำรวจเอกประชุม มรรคผล เป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2530 ตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.1 มีบุตรด้วยกัน 1 คนปลายปี 2538 จำเลยและสิบตำรวจเอกประชุมพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกันที่ถนนพระยาตรังอำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี โดยมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาตลอดมาจนถึงปัจจุบัน และมีบุตรด้วยกันคือเด็กชายพิธิวัตณ์ มรรคผล คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสิบตำรวจเอกประชุมในทำนองชู้สาวหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าจำเลยกับสิบตำรวจเอกประชุมพักอาศัยอยู่ในบ้านเช่าอย่างเงียบ ๆ ไม่มีใครทราบและไม่เคยออกงานสังคมกับสิบตำรวจเอกประชุมจำเลยจึงมิได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสิบตำรวจเอกประชุมในทำนองชู้สาวนั้น เห็นว่า การที่จำเลยกับสิบตำรวจเอกประชุมพักอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันในท้องที่ย่านชุมนุมชนโดยเปิดเผย และมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาจนมีบุตรด้วยกัน โดยบุตรก็ใช้นามสกุลของสิบตำรวจเอกประชุมด้วยนั้น เป็นพฤติการณ์ที่แสดงโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับสิบตำรวจเอกประชุมในทำนองชู้สาวแล้วโดยไม่จำเป็นต้องออกงานสังคมร่วมกับสิบตำรวจเอกประชุมด้วยแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปคือ โจทก์ยินยอมให้สิบตำรวจเอกประชุมมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และพันตำรวจตรีพาชื่น พาณุพินธุ มาเบิกความเป็นพยานว่าโจทก์มิได้ยินยอมให้สิบตำรวจเอกประชุมมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับจำเลยโจทก์เคยไปหาจำเลยขอร้องให้ยุติความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับสิบตำรวจเอกประชุมแต่จำเลยไม่ยอมยุติความสัมพันธ์ดังกล่าว โจทก์ยังเคยไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของสิบตำรวจเอกประชุมเกี่ยวกับเรื่องที่สิบตำรวจเอกประชุมมาได้จำเลยเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง จนสิบตำรวจเอกประชุมถูกเรียกมาว่ากล่าวตักเตือนและรับว่าจะปฏิบัติตามคำตักเตือน ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยและสิบตำรวจเอกประชุมมาเบิกความเป็นพยานว่าหลังจากโจทก์ทราบว่าจำเลยและสิบตำรวจเอกประชุมมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันแล้ว โจทก์ยินยอมให้จำเลยเป็นภริยาของสิบตำรวจเอกประชุมอีกคนหนึ่ง โดยตกลงกันว่าให้อยู่กันคนละบ้านและอยู่กันคนละวันสลับกัน เห็นว่า ตามปกติภริยาย่อมต้องรักใคร่หวงแหนมิให้สามีไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่นเว้นแต่จะมีเหตุผลพิเศษอย่างยิ่ง โจทก์มีความรักและหวงแหนสิบตำรวจเอกประชุมผู้เป็นสามีถึงกับต้องย้ายจากจังหวัดนครศรีธรรมราชติดตามมาอยู่กับสิบตำรวจเอกประชุมที่จังหวัดจันทบุรี นอกจากนี้ยังไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาสิบตำรวจเอกประชุมให้ว่ากล่าวตักเตือนสิบตำรวจเอกประชุมให้ยุติความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยด้วย ไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลหรือพฤติการณ์พิเศษอย่างใด ที่โจทก์มีความจำเป็นต้องยินยอมให้จำเลยมาเป็นภริยาของสิบตำรวจเอกประชุทอีกคนหนึ่ง จำเลยเองก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ยอมรับว่า เมื่อต้นปี2539 สิบตำรวจเอกประชุมถูกย้ายไปอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอโป่งน้ำร้อนเพื่อไปอยู่กับโจทก์ โดยโจทก์เป็นผู้วิ่งเต้นให้ย้ายไป แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้สิบตำรวจเอกประชุมยุติความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลย จึงน่าเชื่อว่าโจทก์มิได้ยินยอมให้สิบตำรวจเอกประชุมมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับจำเลยแต่อย่างใด ฉะนั้น เมื่อจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสิบตำรวจเอกประชุมในทำนองชู้สาวโดยโจทก์มิได้ยินยอมเช่นนี้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายคือ ค่าทดแทนที่จำเลยต้องชดใช้ให้แก่โจทก์สูงเกินไปหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่า สิบตำรวจเอกประชุมมิได้แจ้งให้จำเลยทราบว่ามีโจทก์เป็นภริยาอยู่แล้ว จำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรที่เกิดจากสิบตำรวจเอกประชุม 1 คน ทั้งมีรายได้เพียงจากการขายสลากกินแบ่งเท่านั้น ค่าทดแทนที่กำหนดให้จำเลยต้องชดใช้จำนวน 100,000 บาท จึงสูงเกินไป ขอให้ลดลงเหลือเพียง20,000 บาท นั้น เห็นว่า ค่าทดแทนที่ภริยาเรียกจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวนั้น พิจารณาจากความเสียหายที่ภริยาพึงได้รับ พฤติการณ์แห่งคดีและสถานะของคู่สมรสเป็นหลัก โจทก์สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบอาชีพรับราชการนับว่าเป็นผู้มีเกียรติฐานะในวงสังคม โจทก์กับสิบตำรวจเอกประชุมสมรสกันมานานถึง 10 ปี มีบุตรด้วยกัน 1 คนสถานะของครอบครัวมีความมั่นคงสมบูรณ์ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน

Share