คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6556/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนอนุญาตให้ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ข้อความที่ตัดสินไม่ควรสู่ศาลสูงสุดจะวินิจฉัยไม่อนุญาตให้ฎีกา ยกคำร้องของจำเลย และไม่รับฎีกา
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง โดยขอให้ ส. ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามเนื้อหาเป็นเรื่องขอให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงลายมือชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกา จึงให้ส่งไปให้ ส. พิจารณาสั่ง ต่อมาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 25 ธันวาคม 2541 ต่อศาลชั้นต้นระบุขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกา เมื่อปรากฏว่าผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ฎีกาและสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยแล้ว ย่อมถือได้ว่าคำร้องของจำเลยดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว หากจำเลยประสงค์จะให้ผู้พิพากษาคนอื่นอนุญาตให้ฎีกาจำเลยต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นใหม่ภายในกำหนดเวลายื่นฎีกา แต่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งซึ่งเนื้อหาคือยื่นคำร้องเป็นกรณีนี้ต่อศาลชั้นต้นเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลายื่นฎีกาแล้ว การยื่นคำร้องดังกล่าวของจำเลย จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ยกคำร้อง กรณีเช่นว่านี้ไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลฎีกาที่จะรับฎีกาของจำเลยได้ จำเลยจึงฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีการับฎีกาของจำเลยไม่ได้
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า หากจำเลยประสงค์จะให้ผู้พิพากษาคนอื่นอนุญาตให้ฎีกา จำเลยต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นใหม่ภายในกำหนดเวลายื่นฎีกา หาได้วินิจฉัยว่าจำเลยนี้มิได้ยื่นฎีกาใหม่ภายในกำหนดเวลายื่นฎีกาดังจำเลยฎีกาไม่ ดังนี้จึงถือไม่ได้ว่าฎีกาของจำเลยเป็นการคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 216 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

Share