คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6552/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์มรดกรวม6รายการเป็นทรัพย์สินที่เจ้ามรดกได้มาขณะที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ5เดิมการพิจารณาว่าเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาประเภทใดต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ได้มาเมื่อเจ้ามรดกได้รับมรดกและได้รับการยกให้ในระหว่างสมรสโดยไม่มีการระบุว่าให้เป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับร. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ5เดิมมาตรา1466แม้ต่อมาจะมีบทบัญญัติบรรพ5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519ใช้บังคับมีมาตรา1471บัญญัติให้ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หาเป็นสินส่วนตัวและมาตรา1474บัญญัติให้ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือและพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ได้ระบุว่าเป็นสินสมรสจึงเป็นสินสมรสอันแตกต่างจากบทบัญญัติแห่งบรรพ5เดิมก็ตามก็ไม่ทำให้ทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสอยู่แต่เดิมเปลี่ยนเป็นสินส่วนตัวของเจ้ามรดกเพราะกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่ได้บัญญัติให้เปลี่ยนแปลงไปดังกรณีสินเดิมจึงจะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ5ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519มาตรา1471มาใช้บังคับแก่กรณีนี้หาได้ไม่เมื่อทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรสเจ้ามรดกคงมีส่วนแต่เพียงครึ่งเดียวที่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ที่ศาลชั้นต้นฟังว่าทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์มรดกรวม4รายการเป็นสินสมรสนั้นไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นสินสมรสเพราะเหตุว่าเป็นทรัพย์สินที่เจ้ามรดกได้มาระหว่างสมรสโดยได้รับมรดกซึ่งไม่มีการระบุให้เป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1466ดังที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวโต้แย้งในอุทธรณ์แต่อย่างใดอุทธรณ์ของโจทก์ที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน4รายการนี้จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคหนึ่งแม้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา223ทวิศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนายอุทัย ควนสุวรรณ เจ้ามรดกและนางเอี่ยม ควนสุวรรณ โดยเจ้ามรดกรับรองแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้สืบสันดานของเจ้ามรดก เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2535 เจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ มีทรัพย์มรดกหลายรายการรวมราคา 10,000,000 บาท ปรากฏตามบัญชีทรัพย์มรดกเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งตกแก่ทายาทโดยธรรมและคู่สมรสรวม 5 คน รวมทั้งโจทก์และจำเลยด้วยตามบัญชีทายาทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2คนละส่วนเท่า ๆ กัน โจทก์จำเลยร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกตามคำสั่งศาลจังหวัดราชบุรี แต่จำเลยทำบัญชีทรัพย์ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ปิดบัง ยักย้าย ไม่แจ้งทรัพย์มรดกตามบัญชีทรัพย์มรดกอันดับที่ 22, 23 และ 24 และแจ้งรายการค่าใช้จ่ายในการปลงศพและค่าจัดรูปที่ดินสูงกว่าความเป็นจริงไปมากโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ตามส่วนแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกตามบัญชีทรัพย์มรดกท้ายฟ้องหมายเลข 1 ให้โจทก์ 1 ใน 5 ส่วนคิดเป็นเงิน 2,000,000 บาท หากจำเลยไม่แบ่ง ให้ขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวนำเงินให้โจทก์ 1 ใน 5 ส่วนด้วย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า นายอุทัย ควนสุวรรณ เจ้ามรดกมีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายคือนางรวีวรรณ ควนสุวรรณ จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2486 มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือนางเปรมจิตต์ เกษมสันติภาพ อุบาสิกาสุนันทา สุนทรศรีและจำเลย ระหว่างอยู่กินด้วยกันมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันตามบัญชีทรัพย์มรดกท้ายฟ้องเอกสารหมายเลข 1 อันดับที่ 1 ถึง 21และ 23 จึงเป็นสินสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับนางรวีวรรณเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายทรัพย์สินดังกล่าวเฉพาะส่วนของเจ้ามรดกซึ่งมีเพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทส่วนทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์มรดก อันดับที่ 22 เป็นผลประโยชน์จากสิทธิเก็บกินของนางรวีวรรณ และอันดับที่ 24 เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยมิใช่เป็นมรดกแต่อย่างใด โจทก์มิได้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกและเจ้ามรดกก็ไม่เคยรับรองโจทก์ว่าเป็นบุตร โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดก เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการปลงศพเจ้ามรดกจำนวน 438,793 บาท และการจัดรูปที่ดินจำนวน 46,170.75 บาท รวม 484,963.75 บาท จำเลยได้จ่ายจากเงินส่วนตัวของจำเลย ขอให้กองมรดกของนายอุทัย ควนสุวรรณชำระหนี้จำนวน 484,963.75 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่ากองมรดกจะชำระแก่จำเลยเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้นำเงินส่วนตัวไปใช้จ่ายค่าปลงศพและค่าจัดรูปที่ดิน ค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่เกิน200,000 บาท จำเลยได้รับเงินจากผู้มาช่วยงานศพเจ้ามรดกเกินกว่า 200,000 บาท จึงเรียกร้องเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากกองมรดกไม่ได้ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ชั้นชี้สองสถานศาลมีคำสั่ง เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยและสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกของนายอุทัยควนสุวรรณ ตามบัญชีทรัพย์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 อันดับที่ 1ถึงอันดับที่ 21 และอันดับที่ 23 ให้โจทก์ 1 ใน 5 ส่วนจากกึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าว หากไม่สามารถแบ่งได้ให้นำทรัพย์อันดับที่ 3 ถึงอันดับที่ 21 และอันดับที่ 23 เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาด นำเงินมาแบ่งให้โจทก์ตามส่วนดังกล่าวคำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาว่านายอุทัย ควนสุวรรณ เจ้ามรดกกับนางรวีวรรณหรือระวีวรรณ จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2486มีบุตรด้วยกัน 3 คน จำเลยเป็นบุตรคนโต โจทก์เป็นบุตรของเจ้ามรดกอันเกิดจากภริยาอื่นอีกคนหนึ่งซึ่งเจ้ามรดกรับรองแล้ว เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2535 มีทรัพย์สินที่เป็นมรดก 22 รายการตามบัญชีทรัพย์มรดกเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1อันดับที่ 1 ถึง 21 และ 23 ในส่วนเฉพาะทรัพย์สินที่โจทก์อุทธรณ์ขึ้นมา 10 รายการ นั้น ทรัพย์สินอันดับที่ 9, 11, 14 และ 18เป็นทรัพย์ที่เจ้ามรดกได้รับมรดกระหว่างสมรส อันดับที่ 15และที่ 17 เจ้ามรดกได้รับยกให้ระหว่างสมรสเช่นเดียวกันโดยการรับมรดกและการยกให้นั้นไม่ได้แสดงไว้ว่าให้เป็นสินเดิมหรือเป็นสินส่วนตัว และได้มาก่อน พ.ศ. 2519 คดีมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในชั้นนี้แต่เพียงว่า ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์มรดกเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1อันดับที่ 9, 11, 12, 13, 14, 15, 17, 18, 19 และ 21 นั้นเป็นสินส่วนตัวของเจ้ามรดกหรือเป็นสินสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับนางรวีวรรณ โจทก์อุทธรณ์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิม ก่อนการตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ได้ยกเลิกแล้วและทรัพย์สิน 10 รายการ ดังกล่าวเจ้ามรดกได้มาโดยการรับมรดกและได้รับยกให้ซึ่งไม่มีการระบุว่าให้เป็นสินสมรส จึงถือเป็นสินส่วนตัวของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 1471 ศาลฎีกาเห็นว่าสำหรับทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์มรดกเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1อันดับที่ 9, 11, 14, 15, 17 และ 18 เจ้ามรดกได้มาขณะที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม การพิจารณาว่าเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาประเภทใดต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ได้มา เมื่อเจ้ามรดกได้รับมรดกและได้รับการยกให้ในระหว่างสมรสโดยไม่มีการระบุว่าให้เป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับนางรวีวรรณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม มาตรา 1466แม้ต่อมาจะมีบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับมีมาตรา 1471 บัญญัติให้ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หาเป็นสินส่วนตัว และมาตรา 1474 บัญญัติให้ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือและพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ได้ระบุว่าเป็นสินสมรส จึงเป็นสินสมรส อันแตกต่างจากบทบัญญัติแห่งบรรพ 5 เดิมก็ตาม ก็ไม่ทำให้ทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสอยู่แต่เดิมเปลี่ยนเป็นสินส่วนตัวของเจ้ามรดก เพราะกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่ได้บัญญัติให้เปลี่ยนแปลงไปดังกรณีสินเดิม จึงจะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 1471 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้หาได้ไม่ เมื่อทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรสเจ้ามรดกคงมีส่วนแต่เพียงครึ่งเดียวที่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ 1 ใน 5 ส่วนจากกึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าวชอบแล้ว ส่วนทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์มรดกอันดับที่ 12, 13, 19 และ 21 ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลชั้นต้นฟังว่าเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิมซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วไม่ชอบด้วยนั้น เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นฟังว่าทรัพย์สิน 4 รายการดังกล่าวเป็นสินสมรสนั้นไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นสินสมรสเพราะเหตุว่าเป็นทรัพย์สินที่เจ้ามรดกได้มาระหว่างสมรสโดยได้รับมรดกซึ่งไม่มีการระบุให้เป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 เดิม ดังที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวโต้แย้งในอุทธรณ์แต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน4 รายการนี้ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share