คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5729/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้กระทำผิดฐานฉ้อโกงได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่3ต้องเป็นผลโดยตรงจากการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง บริษัทย. โดยจำเลยที่2ถึงที่5อ้างว่าได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายประกอบกิจการเกี่ยวกับการเป็นโบรคเกอร์ให้กับผู้ลงทุนในการติดต่อซื้อขายในสัญญาสกุลเงินตราต่างประเทศกับตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทั่วโลกโดยบริษัทย.เป็นคอมมิสชั่นเฮ้าส์ของตลาดโลกซึ่งไม่เป็นความจริงจึงเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแต่การที่โจทก์และบุคคลอื่นนำเงินไปลงทุนกับบริษัทย. เพื่อประกอบกิจการสั่งซื้อสั่งขายเงินตราต่างประเทศมีลักษณะเป็นการเก็งกำไรการที่จะได้กำไรหรือขาดทุนขึ้นอยู่กับความเสี่ยงทั้งการประกอบกิจการดังกล่าวก็เป็นวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งของบริษัทย. หากแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังเท่านั้นจึงเป็นความสมัครใจในการร่วมลงทุนการได้ไปซึ่งทรัพย์สินในการร่วมลงทุนมิได้เกิดจากผลโดยตรงจากการถูกหลอกลวงว่าบริษัทย. ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าวการกระทำของจำเลยที่2ถึงที่5จึงไม่เป็นความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 343, 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 1 หลบหนีศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 จากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า บริษัทยูนิเวอร์สคอนซัลแตนท์ จำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.5 จำเลยที่ 2เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนด้านบัญชีจำเลยที่ 4 เป็นหัวหน้ากลุ่มดูแลตัวแทนภายในกลุ่ม จำเลยที่ 5เป็นพนักงานของบริษัท บริษัทยูนิเวอร์ส คอนซัลแตนท์ จำกัดประกอบกิจการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง การประกอบกิจการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเก็งกำไร ผู้ที่ประสงค์จะลงทุนต้องติดต่อกับโบรคเกอร์ของบริษัทที่เป็นคอมมิสชั่นเฮ้าส์เพื่อทำการซื้อขายแทน โดยต้องนำเงินไปวางเป็นค่าค้ำประกันในการสั่งซื้อสั่งขายเงินตราต่างประเทศหากการซื้อขายได้กำไรก็สามารถถอนเงินส่วนกำไร แต่ถ้าหากขาดทุนก็ต้องนำเงินไปลงทุนเท่าเดิมหรืออย่างน้อยร้อยละ 70 การลงทุนมีทั้งได้กำไรและขาดทุนขึ้นอยู่กับความเสี่ยง โจทก์นำเงินไปร่วมลงทุนกับบริษัทยูนิเวอร์ส คอนซัลแตนท์ จำกัด โดยแต่งตั้งนางสาวช่อทิพย์หิรัญวงษ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นตัวแทนและนำเงินไปลงทุนหลายครั้งรวมเป็นเงิน 412,770 บาท ตามทะเบียนประวัติลูกค้าและใบเสร็จรับเงินมัดจำเอกสารหมาย จ.8, จ.9 ต่อมาบริษัทยูนิเวอร์ส คอนซัลแตนท์ จำกัด ต้องหยุดกิจการเนื่องจากจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ถูกจับในข้อหาประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต และซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ไปแล้ว นอกจากโจทก์ร่วมลงทุนดังกล่าวแล้ว ยังมีประชาชนประมาณ 50 คน ร่วมลงทุนกับบริษัทยูนิเวอร์ส คอนซัลแตนท์ จำกัด ด้วย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบด้วยมาตรา 343นั้น นอกจากจะเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและได้กระทำต่อประชาชนแล้ว โดยการหลอกลวงนั้นผู้กระทำได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่ 3ด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การประกอบกิจการของบริษัทยูนิเวอร์ส คอนซัลแตนส์ จำกัด โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3ที่ 4 และที่ 5 นั้น ไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว การที่บริษัทฯ อ้างว่าได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายประกอบกิจการเกี่ยวกับการเป็นโบรคเกอร์ให้กับผู้ลงทุนในการติดต่อซื้อขาย ในสัญญาสกุลเงินตราต่างประเทศกับตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทั่วโลก โดยบริษัทฯ เป็นคอมมิสชั่นเฮ้าส์ของตลาดโลก ตามเอกสารหมาย จ.6 จึงเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง มีปัญหาต่อไปว่า ที่โจทก์นำเงินไปร่วมลงทุนกับบริษัทยูนิเวอร์ส คอนซัลแตนท์ จำกัด นั้น เป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินโดยการหลอกลวงดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์และบุคคลอื่นนำเงินไปลงทุนกับบริษัทยูนิเวอร์ส คอนซัลแตนท์จำกัด เพื่อประกอบกิจการสั่งซื้อสั่งขายเงินตราต่างประเทศนั้นมีลักษณะเป็นการเก็งกำไร การที่จะได้กำไรหรือขาดทุนขึ้นอยู่กับความเสี่ยง ซึ่งก็ปรากฏว่าตัวแทนของโจทก์สั่งซื้อสั่งขายหลายครั้งมีกำไรและขาดทุน ทั้งก่อนลงทุนผู้ลงทุนได้ทราบวิธีการดำเนินกิจการตามที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย จ.6 แล้ว ทั้งการประกอบกิจการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศก็เป็นวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งของบริษัทฯ หากแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ซึ่งบริษัทฯ ประกอบกิจการโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ดังนั้น การที่โจทก์และบุคคลอื่นนำเงินไปลงทุนกับบริษัทยูนิเวอร์ส คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อประกอบกิจการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศดังกล่าวจึงเป็นความสมัครใจในการร่วมลงทุน การได้ไปซึ่งทรัพย์สินในการร่วมลงทุนมิได้เกิดจากผลโดยตรงจากการถูกหลอกลวงว่าบริษัทฯ ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share