คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 655/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จองบัตรที่นั่งดูภาพยนตร์แล้วแต่ไม่สามารถมานั่งตามที่ ๆ จองไว้เพราะจำเลยกลับขายบัตรสำหรับที่นั่งนั้นให้แก่ผู้อื่นไปอีกย่อมถือว่าจำเลยยกเอาเหตุที่มีคนดูภาพยนต์มากเป็นพิเศษมาเป็นเหตุสุดวิสัยเพื่อแก้ตัวไม่ได้
จำเลยผิดสัญญาโจทก์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแก่การนั้นได้ตาม ป.พ.พ. ม.215
ในเรื่องค่าเสียหายโจทก์จะเรียกเอาจากจำเลยได้เพียงไร นอกจากค่าเสียหายที่ได้จ่ายเป็นตัวเงินจริง ๆ แล้ว สำหรับความขวยเขินที่ไม่ได้นั่งดูภาพยนต์ในที่ ๆ จองไว้ความรู้สึกผิดหวัง เสียใจ โจทก์จะถือเหตุเหล่านี้มาฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่ได้เพราะความรู้สึกในทางจิตใจนั้นไม่ใช่ความเสียหายที่จะพึงเรียกร้องกันได้ในกรณีเช่นนี้จะว่าเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตามวรรค 2 แห่ง ป.พ.พ. ม.222 ก็ไม่ได้
การกำหนดค่าเสียหายในกรณีผิดสัญญาตามธรรมดาศาลย่อมกำหนดเพื่อชดเชยแก่การที่โจทก์ต้องเสียไป มิใช่กำหนดเพื่อเป็นการลงโทษจำเลย ดังนั้นหากโจทก์จะมีความเสียหายอย่างไรอีก ความเสียหายนั้นจะพึงคำนวนเป็นราคาเงินเท่าใดก็ต้องคำนวนมาด้วย มิฉะนั้นโจทก์จะได้รับแต่เพียงค่าเสียหายเท่าที่คำนวนเป็นเงินไว้เท่านั้น.

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ๕,๐๐๐ บาท ฐานผิดสัญญาเพราะไม่ได้ดูภาพยนต์ในที่นั่งซึ่งโจทก์ซื้อบัตรจองล่วงหน้าไว้ที่โรงภาพยนต์ของจำเลย ๕ ที่นั่งราคาที่นั่งละ ๑๒ บาท รวมเป็นเงิน ๖๐ บาท โดยจำเลยเอาที่นั่งของโจทก์ที่ซื้อไว้ขายให้ผู้อื่นเสีย การกระทำของจำเลยนอกจากเป็นการผิดสัญญาแล้วยังปฏิบัติไม่สมกับหน้าที่ของจำเลยพึงกระทำต่อบริการของประชาชน ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องโจทก์ประสงค์จะอุทิศให้แก่สาธารณะกุศลสถานเช่น โรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นต้น
จำเลยให้การต่อสู้ว่าวันนั้นเป็นวันหยุดราชการมีคนดูภาพยนต์มากเป็นพิเศษจึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่คนขายบัตรของจำเลยจะตรวจว่าได้ขายบัตรล่วงหน้าให้แก่โจทก์ไว้แล้ว แต่อย่างไรก็ดีจำเลยได้จัดที่นั่งอื่นให้โจทก์ดูในชั้นและอันดับเดียวกัน โจทก์ไม่ยอมจำเลยเสนอให้ดูรอบต่อไปหรือขอใช้เงินคืนให้โจทก์ก็ไม่ยอมกลับนำเรื่องฟ้องร้องกล่าวโทษจำเลยต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ พฤติการณ์ของโจทก์เรื่องสมัครรับความเสียหายหรือไม่บันเทาความเสียหายของตน โจทก์ไม่เสียหายมากดังฟ้อง สัญญาค่าดูภาพยนต์ตีราคาค่าสำราญที่โจทก์จะได้รับ ๕ คน เป็นเงิน ๖๐ บาทเท่านั้น จำเลยจึงวางเงิน ๖๐ บาทต่อศาลเพิ่อชำระให้โจทก์
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยใช่ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๕๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อจำเลยรับจองบัตรที่นั่งไว้ให้แก่โจทก์แล้วกลับขายบัตรสำหรับที่นั่งนั้นให้แก่ผู้อื่นไปอีกซึ่งทำให้โจทก์ไม่สามารถนั่งตามที่ ๆ จองไว้ก็ย่อมถือได้แล้วว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยบอกจะยกเอาเหตุที่มีคนดูภาพยนต์มากเป็นพิเศษมาเป็นเหตุสุดวิสัยเพื่อแก้ตัวหาได้ไม่ เมื่อวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาแล้วโจทก์ก็ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแก่การนั้นได้ตาม ป.พ.พ. ม.๒๑๕ ปัญหาที่จะต้องพิจารณาในเรื่องนี้ก็คือโจทก์จะเรียกเอาค่าเสียหายจากจำเลยได้เพียงไร คดีนี้เท่าที่โจทก์นำสืบไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เสียหายเป็นเงินทองนอกเหนือไปจากเงิน ๖๐ บาทนั้นแต่อย่างไร แต่ที่โจทก์เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท เป็นค่าชดใช้ความขวยเขินเนื่องจากการที่ไม่ได้เข้านั่งดูภาพยนต์ในที่นั่งซึ่งจองไว้ และค่าความผิดหวัง เสียใจเพราะนาน ๆ จะได้ดูภาพยนต์สักครั้งหนึ่ง ในเรื่องความผิดหวังและเสียใจรวมตลอดทั้งได้รับความขวยเขิน ในการที่ไม่ได้ดูภาพยนต์ในวันนั้น โจทก์จะถือเหตุเหล่านี้มาฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่ได้เพราะความรู้สึกในทางจิตใจเช่นนั้นไม่ใช่ความเสียหายที่จะพึงเรียกร้องกันได้ ในกรณีเช่นนี้จะว่าเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากแต่พฤติการณ์พิเศษตามวรรค ๒ แห่ง ป.พ.พ. ม.๒๒๒ ก็ไม่ได้ ศาลนี้จึงเห็นว่านอกจากเงิน ๖๐ บาทที่โจทก์ได้เสียไปในการจองที่นั่งแล้ว หากจะมีความเสียหายอย่างไรอีกความเสียหายนั้นจะพึงคำนวนเป็นราคาเงินเท่าใดก็ไม่มีพยานหลักฐานอันจะคำนวนได้ ในคดีนี้โจทก์จึงไม่ควรได้รับค่าเสียหายมากไปกว่านั้น เพราะการกำหนดค่าเสียหายในกรณีผิดสัญญาตามธรรมดาศาลย่อมกำหนดเพื่อชดเชยการที่โจทก์ต้องเสียไป มิใช่กำหนดเพื่อเป็นการลงโทษจำเลย จำนวนค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
จึงพิพากษาแก้ให้โจทก์รับเงิน ๖๐ บาทที่จำเลยนำมาวางศาลเป็นค่าเสียหายและให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสิ้นแทนจำเลยตาม ป.วิ.แพ่ง ม.๑๖๔ กับค่าทนาย ๓ ศาลรวม ๒๕๐ บาท

Share