คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลแสดงว่าโจทก์เกิดในประเทศไทยมีสัญชาติเป็นไทยให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้โจทก์ออกไปนอกราชอาณาจักรไทย จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์เป็นคนต่างด้าวเกิดในประเทศจีนเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้รับอนุญาต ประเด็นจึงมีว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติไทยโดยเกิดในประเทศไทยจริงหรือไม่ ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่าโจทก์เคยรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวย่อมขาดจากสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) 2496 นั้น เป็นกรณีที่เกิดขึ้นเนื่องจากมี ก.ม.ซึ่งเพิ่งออกใช้ภายหลังฟ้องจะเท็จจริงประการใดจึงยังไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้
คณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองซึ่งเป็นคณะบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งโดย พ.ร.บ. คนเข้าเมืองไม่ใช่บุคคลอันสังกัดขึ้นอยู่กับกรมตำรวจก็ตามมีหน้าที่เพียงพิจารณาและลงมติเกี่ยวกับเรื่องร้องขอพิสูจน์สัญชาติเท่านั้น ส่วนการที่มีหนังสือหรือคำสั่งแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อให้โจทก์ออกไปนอกราชอาณาจักรนั้นเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองอันสังกัดอยู่กับกรมตำรวจ โจทก์ย่อมฟ้องกรมตำรวจได้.

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ที่สั่งให้โจทก์เดินทางออกนอกราชอาณาจักร และมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์เป็นคนไทย มีสัญชาติไทย
จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์เป็นคนต่างด้าวเกิดในประเทศจีน เชื้อชาติจีน และสัญชาติจีน โจทก์เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมืองที่ใช้ในขณะนั้น ทั้งยังต่อสู้ในข้อ ก.ม.โดยสรุปว่าโจทก์ถูกเจ้าพนักงานสั่งให้ออกไปนอกราชอาณาจักรไทยแล้ว โจทก์ได้ทราบคำสั่งแล้วไม่คัดค้านคำสั่งนี้ต่อคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองภายในกำหนด ๔๘ ชม. คำสั่งของเจ้าพนักงานจึงเป็นยุติโจทก์ฟ้องเพิกถอนไม่ได้ ซึ่งโจทก์ก็ได้คัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานแต่เจ้าพนักงานคงไม่เชื่อตามข้ออ้างของโจทก์ ถึงหากโจทก์เป็นบุคคลสัญชาติไทยสิทธิของโจทก์ก็ถูกกระทบกระเทือนโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองอันไม่ใช่บุคคลซึ่งสังกัดขึ้นอยู่กับกรมตำรวจ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องกรมตำรวจเป็นจำเลย
นอกจากข้อต่อสู้ดังกล่าวแล้ว ระหว่างพิจารณาโจทก์ได้เบิกความเป็นพยานว่าโจทก์เคยได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมาแล้ว จำเลยจึงยื่นคำแถลงขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดว่าโจทก์ขาดจากสัญชาติไทยและให้ยกฟ้องตาม พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งให้เพิ่มตาม ม.๑๖ ทวิ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ ด้วยอีกประการหนึ่ง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วพิพากษาแสดงว่าโจทก์เกิดในประเทศไทย มีสัญชาติเป็นไทย ส่วนข้อ ก.ม. ที่จำเลยหยิบยกขึ้นต่อสู้ทุกข้อศาลแพ่งไม่รับฟัง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาทั้งปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ข้อ ก.ม. ที่จำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มีรวม ๒ ข้อคือ
๑. ให้ศาลหยิบยกประเด็นตามคำแถลงของจำเลยที่ให้ชี้ขาดว่าโจทก์ขาดสัญชาติไทย ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ ขึ้นวินิจฉัย เพราะตัวโจทก์เองเบิกความว่าโจทก์เป็นคนมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าง ซึ่งประเด็นข้อนี้ศาลอุทธรณ์มิได้ยกขึ้นวินิจฉัย
ข้อศาลฎีกาเห็นว่าขณะฟ้องคดีนี้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ ยังไม่ได้ใช้ เพิ่มประกาศใช้ขึ้นภายหลัง และที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็เพื่อให้ศาลแสดงว่าโจทก์เกิดในประเทศไทยมีสัญชาติเป็นไทย ให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้โจทก์ออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ประเด็นจึงมีว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติไทย โดยเกิดในประเทศไทยจริงหรือไม่ ส่วนข้อที่ว่าโจทก์เคยรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวย่อมขาดจากสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๖ นั้นเป็นกรณีที่เกิดขึ้นเนื่องจากมี ก.ม. ซึ่งเพิ่งออกใช้ภายหลังฟ้อง จะจริงเท็จประการใดจึงยังไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้
๒. คัดค้านว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องกรมตำรวจเป็นจำเลยในคดีนี้อ้างว่าสิทธิของโจทก์ได้รับกระทบกระเทือนโดยมติของคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองซึ่งเป็นคณะบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งโดย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ไม่ใช่บุคคลอันสังกัดขึ้นอยู่กับกรมตำรวจ และหนังสือที่สั่งให้โจทก์เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรไทยก็อาศัยมติของคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง ไม่ใช่คำสั่งของกรมตำรวจ จึงไม่มีอำนาจฟ้องกรมตำรวจ
ข้อนี้เห็นว่าคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองมีหน้าที่เพียงพิจารณาและลงมติเกี่ยวกับเรื่องร้องขอพิสูจน์สัญชาติเท่านั้น ส่วนการที่มีหนังสือหรือคำสั่งแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อให้โจทก์ออกไปนอกราชอาณาจักรนั้น เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมือง อันสังกัดอยู่กรมตำรวจ โจทก์ย่อมฟ้องกรมตำรวจได้
ข้อ ก.ม.ที่จำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นอันตกไป
ส่วนฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นคนมีสัญชาติไทยดังฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์มีทั้งพยานบุคคลและเอกสารฟังได้ว่าโจทก์เกิดในราชอาณาจักรไทย มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน.

Share