แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยไม่ได้บัญญัติให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ แตกต่างกับกรณีกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองรับเงินของโจทก์ไว้ย่อมเป็นหนี้เงิน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ให้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยทั้งสองจะตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้บอกกล่าวทวงถาม แล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่รับไว้ถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงิน 20,701,095.88 บาท และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 16,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558) ต้องไม่เกิน 542,465.75 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์เพิ่มอีก 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6893 เลขที่ 9777 และเลขที่ 16361 โดยที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลง เป็นที่ดินเลขที่ 47 เลขที่ 48 และเลขที่ 102 ตามลำดับ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันเป็นผืนเดียว ต่อมาวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 โจทก์ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและวางมัดจำที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลง เนื้อที่ 28 ไร่ 347 ตารางวา กับจำเลยทั้งสองรวมเป็นเงิน 115,470,000 บาท โดยวางมัดจำส่วนที่ 1 ในวันทำสัญญาเป็นเงิน 4,000,000 บาท และส่วนที่ 2 ในวันที่ 12 มิถุนายน 2558 เป็นเงิน 16,000,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์วันที่ 15 ตุลาคม 2558 หลังจากนั้น วันที่ 14 ตุลาคม 2558 โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายไปยังจำเลยทั้งสอง โดยอ้างเหตุว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ ทำให้โจทก์หลงเชื่อว่าที่ดินของผู้อื่นที่อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นที่ดินของจำเลยทั้งสองที่จะขายแก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองฉ้อฉลโจทก์เป็นเหตุให้หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและวางมัดจำเป็นโมฆียะหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของคู่ความได้ความว่า ก่อนเกิดข้อพิพาท โจทก์ไม่เคยรู้จักจำเลยทั้งสองและไม่เคยทราบตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินพิพาทที่แท้จริง กรณีจึงไม่มีเหตุจูงใจให้โจทก์ต้องกลั่นแกล้งกล่าวหาจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะตรวจสอบที่ตั้งของที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลง ได้จากสำเนาโฉนดที่ดิน แต่หากโจทก์ไปดูที่ดินติดถนนบางนา-ตราด กม. 52 ในพื้นที่จริง โจทก์ย่อมไม่อาจทราบได้ว่าที่ดินพิพาทคือที่ดินแปลงใดและมีแนวเขตเริ่มจากจุดใด เนื่องจากที่ดินบริเวณดังกล่าวมีอาณาเขตติดต่อกันเป็นที่ดินผืนใหญ่ผืนเดียวโดยไม่มีป้ายหรือสิ่งใดบ่งบอกว่าที่ดินส่วนใดเป็นของจำเลยทั้งสองและที่ดินส่วนใดเป็นของบุคคลอื่น ฉะนั้นการที่โจทก์เชื่อมั่นและปักใจมาตลอดว่า ที่ดินพิพาทที่โจทก์จะซื้อตั้งอยู่ติดถนนบางนา-ตราด กม. 52 โดยมีแนวเขตที่ดินเริ่มจากแนวรั้วลวดหนามด้านซ้ายไปจนจรดแนวลำรางด้านขวา จึงไม่น่าจะเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ดังที่จำเลยทั้งสองอ้าง แต่น่าจะเกิดจากการที่นางสาวภาวินันท์และจำเลยที่ 1 นำชี้และยืนยันจนทำให้โจทก์สำคัญผิดว่า ที่ดินเลขที่ 49 ของนายธงชัย ซึ่งอยู่ติดกับแนวรั้วลวดหนามเป็นที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสอง โดยความในข้อนี้เห็นได้ชัดจากคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนายสาธิต เจ้าหน้าที่รังวัดที่ดินที่ยืนยันว่า ในวันรังวัดที่ดินวันที่ 10 สิงหาคม 2558 พยานสอบแนวเขตที่ดินพิพาทจากนางสาวภาวินันท์ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยทั้งสองแล้ว นางสาวภาวินันท์ชี้แนวเขตที่ดินของจำเลยทั้งสองว่า เริ่มจากแนวรั้วลวดหนาม ซึ่งเป็นการชี้แนวเขตที่ผิดไปจากความจริง ทั้งเมื่อพิจารณา ในรายละเอียดลึกลงไปก็พบว่า จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลง เมื่อปี 2538 จากนั้นจำเลยทั้งสองได้เคยรังวัดสอบที่ดินของตนเมื่อปี 2549 โดยนายธงชัยผู้เป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงเลขที่ 49 ได้ลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินไว้ด้วยและในส่วนที่ดินเลขที่ 49 ของนายธงชัยดังกล่าว นายธงชัยได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ให้ข้อมูลมีใจความว่า นายธงชัยซื้อที่ดินมาเมื่อปี 2548 โดยขณะนั้นแนวรั้วลวดหนามและเสาตอม่อได้มีอยู่ก่อนแล้ว รูปคดีตามถ้อยคำของนายสาธิตและนายธงชัยจึงชี้ชัดว่า จำเลยทั้งสองทราบตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินพิพาทเป็นอย่างดี แต่ตั้งใจปกปิดความจริงแก่โจทก์โดยไม่สุจริต เมื่อข้อนำสืบของโจทก์ที่วินิจฉัยเป็นลำดับมามีพยานหลักฐานเชื่อมโยงสอดคล้องต้องกันสมเหตุสมผล จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือดีกว่าข้อนำสืบต่อสู้ของจำเลยทั้งสอง โดยกรณีรับฟังได้ว่า โจทก์แสดงเจตนาทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและวางมัดจำ เพราะถูกจำเลยทั้งสองใช้กลฉ้อฉลโดยมอบหมายให้นางสาวภาวินันท์ซึ่งเป็นนายหน้าฝ่ายขายนำชี้และยืนยันทำเลที่ตั้งของที่ดินพิพาทผิดจากความจริงไปประมาณ 90 เมตร ซึ่งหากโจทก์ทราบความจริงตั้งแต่ต้นว่าที่ตั้งของที่ดินพิพาทไม่ได้มีแนวเขตจากแนวรั้วลวดหนามด้านซ้าย แต่อยู่ในแนวโค้งของถนนบางนา-ตราด ไปตลอด โจทก์ย่อมจะไม่ซื้อที่ดินพิพาทเพราะไม่เหมาะแก่ประโยชน์ในทางธุรกิจตามคำยืนยันของโจทก์ การแสดงเจตนาทำสัญญาของโจทก์เพราะถูกกลฉ้อฉลถึงขนาดเช่นนี้ จึงเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 และเมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมด้วยการบอกเลิกสัญญา ย่อมถือว่านิติกรรมเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรกและเป็นผลให้คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิริบมัดจำจำนวน 20,000,000 บาท โดยต้องคืนมัดจำทั้งหมดแก่โจทก์ ทั้งหากจำเลยทั้งสองเห็นว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทด้วยความสมัครใจโดยไม่ได้ถูกจำเลยทั้งสองใช้กลฉ้อฉลและโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาทำให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองก็ควรที่จะปกป้องรักษาสิทธิและพิสูจน์ความสุจริตของตนด้วยการฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมกับชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 95,470,000 บาท แก่จำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองไม่กระทำเช่นนั้น ประกอบกับเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 16,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นอกจากจำเลยทั้งสองจะไม่อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้แล้ว จำเลยทั้งสองยังนำเงิน 16,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอีกจำนวนหนึ่งรวมเป็นเงิน 17,745,753.50 บาท ไปวางต่อศาลชั้นต้นในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเพื่อชำระให้แก่โจทก์ ซึ่งทำให้เห็นได้โดยปริยายว่า จำเลยทั้งสองยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับมัดจำคืนไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินมัดจำแก่โจทก์เพิ่มเติมอีก 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 20,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 16,000,000 บาท นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2558 และของต้นเงิน 4,000,000 บาท นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2558 อันเป็นการให้ดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่จำเลยได้รับเงินแต่ละครั้งจากโจทก์นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง คงบัญญัติให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยไม่ได้บัญญัติให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ แตกต่างกับกรณีกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ดังนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนดอกเบี้ย จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และการที่จำเลยทั้งสองรับเงินของโจทก์ไว้ดังกล่าวย่อมเป็นหนี้เงิน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยทั้งสองจะตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้บอกกล่าวทวงถาม แล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 โดยโจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 20,000,000 บาท ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าว จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2558 ครบกำหนด 15 วัน ตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามดังกล่าววันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000,000 บาท นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ