แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5614/2549 ของศาลอาญาธนบุรี มีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (3) กล่าวคือ ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินห้าสิบปี เมื่อปรากฏว่าในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 49 ปี 4 เดือน จึงนับโทษจำคุกคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4614/2549 ของศาลอาญาธนบุรีได้ แต่เมื่อรวมทุกกระทงแล้วต้องจำคุกไม่เกินห้าสิบปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 317 และนับโทษของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5614/2549 ของศาลอาญาธนบุรี
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปจากบิดามารดา ผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งไม่ใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำคุก 6 ปี รวมจำคุก 12 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุก 6 ปี ให้นับโทษคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5614/2549 ของศาลอาญาธนบุรี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม), 317 วรรคสาม (เดิม) นับโทษคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5614/2549 ของศาลอาญาธนบุรี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกต้องไม่เกินห้าสิบปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยประการแรกที่ฎีกาทำนองว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามนั้น เห็นว่า ความผิดฐานนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม) กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่สี่ปี มิได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์ไม่ต้องสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพ ศาลจึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนี้ตามที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นใหม่ซึ่งขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย ทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น เพิ่งยกขึ้นมาว่ากันในศาลฎีกา จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 252 ที่แก้ไขใหม่ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ศาลชั้นต้นรับฎีกาข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
สำหรับฎีกาของจำเลยประการต่อไปที่ว่า ให้ศาลกำหนดโทษจำเลยใหม่ โดยนำโทษคดีนี้รวมเข้ากับโทษในคดีคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5614/2549 ของศาลอาญาธนบุรีนั้น เห็นว่า คดีนี้และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5614/2549 ของศาลอาญาธนบุรี วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุต่างกัน แต่ลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวกัน ผู้เสียหายที่ 1 คดีนี้กับผู้เสียหายคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5614/2549 ของศาลอาญาธนบุรี เป็นบุคคลคนเดียวกัน จำเลยถูกจับกุมและถูกอายัดตัวไว้ในคดีนี้ แสดงว่าพนักงานสอบสวนอาจสอบสวนความผิดทุกสำนวนให้เสร็จแล้วเสนอความเห็นและส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการโจทก์พร้อมกันทุกสำนวนได้ ดังนั้นคดีนี้และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5614/2549 ของศาลอาญาธนบุรี จึงมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) กล่าวคือ ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินห้าสิบปี เมื่อปรากฏว่าในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 49 ปี 4 เดือน จึงนับโทษจำคุกคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5614/2549 ของศาลอาญาธนบุรีได้ แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วต้องจำคุกต้องไม่เกินห้าสิบปี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายขอให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษย้อนหลังนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยต้องไปดำเนินการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 5 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 277 วรรคหนึ่ง และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกขั้นต่ำและโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีอัตราโทษสูงกว่ากฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมอันเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษายืน