แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ด้านหลังมี ณ. เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ 5 ลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายของโจทก์ ที่พิมพ์ลงในหนังสือมอบอำนาจจริง และมีเจตนาในการทำนิติกรรมการโอนที่ดินโดย ณ. ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน และในวันเดียวกันก็มีหนังสือมอบอำนาจอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งรับรองโดย ณ. เช่นเดียวกัน แต่เป็นการมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกเฉพาะส่วนพร้อมสิ่งปลูกสร้างตลอดจนให้ผู้รับมอบอำนาจให้ถ้อยคำต่างๆ ต่อเจ้าพนักงานที่ดินแทนโจทก์จนเสร็จการ การที่โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือโดยมีพยานรับรอง 2 คน จึงเป็นการสมบูรณ์ ถือเสมอกับการลงลายมือชื่อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 9 วรรคสอง และตามมาตรา 822 การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าลงลายนิ้วมือในหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความ ทั้งมอบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลยที่ 1 ไป แสดงถึงความประมาทเลินเล่อของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ของโจทก์และนำไปแสดงต่อบุคคลภายนอกคือจำเลยที่ 2 จนจำเลยที่ 2 หลงเชื่อว่าโจทก์มอบอำนาจเช่นนั้นจริง โจทก์จะยกความประมาทเลินเล่อของตนขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินที่จำเลยที่ 2 รับโอนโดยสุจริตหาได้ไม่ เว้นแต่โจทก์จะนำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า โจทก์และนายสมจิตร สามีโจทก์ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 61548 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2541 ขณะโจทก์ต้องโทษจำคุก อยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง จำเลยที่ 1 รับจะเลี้ยงดูเด็กชายสมปอง บุตรโจทก์ คิดค่าเลี้ยงดูเป็นเงิน 40,000 บาท โดยให้โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายสมจิตรเพื่อรับโอนที่ดินดังกล่าวให้เป็นของโจทก์เสียก่อน แล้วให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินไปเป็นหลักประกันการกู้เงินจำนวน 40,000 บาท จากนางชูศรีเพื่อนำเงินมาเป็นค่าเลี้ยงดูบุตรโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 จัดพิมพ์หนังสือมอบอำนาจและนำแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมาให้โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือ ต่อมาจำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ โดยหลังจากศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2541 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย แล้วจำเลยทั้งสองนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ พิมพ์ข้อความโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจไปขายฝากที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้ยินยอมและไม่เป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์ โดยแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการให้จดทะเบียนนิติกรรมสัญญาขายฝาก หลังจากโจทก์พ้นโทษจึงแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากและส่งมอบโฉนดที่ดินคืนโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 61548 หากจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และห้ามมิให้จำเลยทั้งสองเข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 61548 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2541 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนการขายฝากดังกล่าว หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือมอบอำนาจซึ่งโจทก์ลงลายพิมพ์นิ้วมือไปจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดิน และสำเนาโฉนดที่ดิน ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 61548 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ด้านหลัง มีนายณัฐพลเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ 5 ลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายของนางวิมลโจทก์ ที่พิมพ์ลงในหนังสือมอบอำนาจจริง และมีเจตนาในการทำนิติกรรมดังกล่าว โดยนายณัฐพลลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน และในวันเดียวกันก็มีหนังสือมอบอำนาจอีกฉบับหนึ่งซึ่งรับรองโดยนายณัฐพลเช่นเดียวกัน แต่เป็นการมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกเฉพาะส่วนพร้อมสิ่งปลูกสร้างตลอดจนให้ผู้รับมอบอำนาจให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อเจ้าพนักงานที่ดินแทนโจทก์จนเสร็จการ การที่โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือโดยมีพยานรับรอง 2 คน จึงเป็นการสมบูรณ์ ถือเสมอกับการลงลายมือชื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 วรรคสอง และตามมาตรา 822 บัญญัติว่า ถ้าตัวแทนทำการอันใดเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนไซร้ ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตราก่อนนี้เป็นบทบังคับ แล้วแต่กรณี กล่าวคือ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งเป็นตัวแทนของตนตามมาตรา 821 การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าลงลายพิมพ์นิ้วมือในหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความ ทั้งมอบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลยที่ 1 ไป แสดงถึงความประมาทเลินเล่อของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ของโจทก์และนำไปแสดงต่อบุคคลภายนอกคือจำเลยที่ 2 จนจำเลยที่ 2 หลงเชื่อว่าโจทก์มอบอำนาจเช่นนั้นจริง โจทก์จะยกความประมาทเลินเล่อของตนขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินที่จำเลยที่ 2 รับโอนโดยสุจริตหาได้ไม่ เว้นแต่โจทก์จะนำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 2 ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8845/2542 ระหว่าง นายแสวงโจทก์ นายเชิดกับพวก จำเลย
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 กระทำการโดยไม่สุจริตหรือไม่ จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต โจทก์จึงต้องนำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 2 ซึ่งในเรื่องนี้โจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 2 มีอาชีพปล่อยเงินให้กู้ จำเลยที่ 1 ได้บอกพยานว่าเงินค่าร้องขอตั้งผู้จัดการ
มรดกของสามีพยานนั้นจำเลยที่ 2 เป็นคนออกเงินให้ จึงต้องขายฝากที่ดินพร้อมบ้านเป็นเงิน 300,000 บาท นำไปกินใช้และเลี้ยงดูเด็กชายสมปอง นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเล่าให้พยานฟังอีกว่าจำเลยที่ 2 ส่งเสียเงินให้จำเลยที่ 1 และไป ๆ มา ๆ หาจำเลยที่ 1 แต่ขณะนี้จำเลยที่ 2 ไปมีภริยาใหม่แล้วแต่ก็ยังส่งเสียอยู่ เดิมจำเลยที่ 1 บอกจำเลยที่ 2 ว่าพยานมอบอำนาจให้มากู้เงิน 40,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 อยากได้ที่ดินจึงบอกให้ขายฝาก 300,000 บาท จำเลยที่ 2 มาหาพยานที่บ้านบอกให้พยานขายที่ดิน แต่พยานไม่ยอมขาย จำเลยที่ 1 เคยเล่าให้พยานฟังว่าจำเลยที่ 2 จะยกที่ดินพิพาทตามฟ้องให้หากพ้นกำหนดการไถ่ถอนการขายฝาก แต่ก็ไม่ยกให้เสียแล้ว แสดงว่าร่วมกันหลอกลวงพยาน เห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยปราศจากหลักฐาน ทั้งยังปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยเล่าให้โจทก์ฟังแล้วว่าจำเลยที่ 2 จะยกที่ดินตามฟ้องให้หากพ้นกำหนดการไถ่ถอนการขายฝาก จึงเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าโจทก์ทราบแล้วว่ามีการขายฝาก พฤติการณ์ดังกล่าวตามที่โจทก์นำสืบจึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานในเรื่องของความสุจริตของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 6 ได้
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือในหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปหลายฉบับโดยเจตนาพิมพ์เพื่อให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจนำที่ดินพิพาทไปวางประกันเงินกู้ตามที่ตกลงกันเท่านั้น จำเลยที่ 1 ทราบถึงเจตนาของการมอบอำนาจของโจทก์ดีแล้ว แต่จำเลยที่ 1 กลับนำแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจเปล่าไปจัดการพิมพ์ข้อความเปลี่ยนเจตนาของโจทก์จากการมอบอำนาจให้นำที่ดินไปวางเป็นหลักประกันเป็นการมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจทำสัญญาขายฝากที่ดินโดยปราศจากอำนาจ เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมเกี่ยวข้อง และที่โจทก์ฎีกาว่า แม้สำเนาหนังสือมอบอำนาจจะมีลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์และมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คน ทั้งมีนายณัฐพล เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ 5 ลงลายมือชื่อรับรองไว้ก็ตาม ก็มิได้หมายความว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมีข้อความครบถ้วนสมบูรณ์หรือบังคับใช้ตามกฎหมายได้แต่อย่างใดนั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นไปตามที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ก็หาอาจต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตหาได้ไม่ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่กล่าวแล้วข้างต้น เว้นแต่บุคคลภายนอกจะกระทำการโดยไม่สุจริตเท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาก็ได้วินิจฉัยไปแล้ว ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ ของโจทก์นั้นไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลทางคดีแต่อย่างใด จึงไม่จำต้องวินิจฉัย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ