แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาไม่ตรงกับคำขอท้ายฟ้องที่โจทก์ มีความประสงค์ โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษา ให้เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องได้ แต่ไม่อุทธรณ์ ดังนี้ จะอ้างว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเช่นนั้นต้องตามความประสงค์ของโจทก์ แล้วไม่ได้ เพราะเป็นข้อที่ไม่ปรากฏในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ จึงชอบแล้ว จำเลยไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ ยกฟ้องแย้งของจำเลย การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ตามฟ้องแย้ง ให้โจทก์ที่ 1 รื้อถอนโครงเหล็กที่ต่อเติมบนดาดฟ้าของ อาคารพิพาท จึงเป็นการพิพากษาให้สิ่งใดนอกเหนือไปจากที่ ปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลย ไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบด้วย มาตรา 246 และ 247 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ย่อมจะรวมถึงในส่วนค่าเสียหายด้วย แต่ตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ยก ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่ให้ยกฟ้องในส่วนนี้ จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมมีทั้ง คำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และ ไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมกันอยู่ โจทก์ที่ 1 จึงต้อง เสียค่าขึ้นศาล 1,800 บาท ตามตาราง 1(3) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และต้องเสียค่าขึ้นศาลตามฟ้องแย้ง อีก 200 บาท รวมเป็นเงิน 2,000 บาท แต่โจทก์ที่ 1 เสียค่า ขึ้นศาลชั้นฎีกามา 6,000 บาท จึงต้องคืนส่วนที่เกิน และเมื่อ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาเกี่ยวกับฟ้องเดิมในส่วน คำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 แต่ให้หักไว้ 200 บาท สำหรับ คำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เสียเกินมาให้โจทก์ที่ 1จำนวน 5,600 บาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตกลงยินยอมให้โจทก์ที่ 1 หรือตัวแทนของโจทก์ที่ 1 ติดป้ายโฆษณาบนพื้นที่ดาดฟ้าอาคารพาณิชย์เลขที่ 240/7 และ 240/8 และจะทำหนังสือยินยอมให้โจทก์ที่ 1หรือตัวแทนของโจทก์ที่ 1 ติดตั้งป้ายโฆษณาเพื่อยื่นต่อทางราชการได้ โดยไม่คิดค่าตอบแทน ต่อมาโจทก์ที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารให้จำเลย และจำเลยได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่ดาดฟ้าอาคารพาณิชย์ทั้งสองคูหาดังกล่าวเพื่อติดตั้งป้ายโฆษณาให้โจทก์ที่ 2 ในฐานะตัวแทนโจทก์ที่ 1 เป็นผู้เช่ามีกำหนดเวลา 30 ปี โจทก์ทั้งสองบอกกล่าวให้จำเลยไปจดทะเบียนการเช่าให้โจทก์ที่ 2 ตามสัญญาพร้อมทั้งลงนามให้โจทก์ที่ 2 ติดตั้งป้ายโฆษณาเพื่อโจทก์ที่ 2 จะได้นำไปยื่นต่อทางราชการ แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงเรื่อยมาขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนการเช่า เป็นเวลา 30 ปี ให้แก่โจทก์ที่ 2 และให้จำเลยทำหนังสือยินยอมให้โจทก์ที่ 2 ติดตั้งป้ายโฆษณาพื้นที่ดาดฟ้าบนอาคารดังกล่าวเป็นเวลา 30 ปี หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง 240,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายอีกเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะจดทะเบียนการเช่าให้โจทก์ที่ 2 เป็นเวลา 30 ปี
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ตกลงยินยอมให้โจทก์ที่ 1 หรือตัวแทนติดตั้งป้ายโฆษณาโดยไม่คิดค่าตอบแทนที่จำเลยยกเลิกหนังสือมอบอำนาจต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เนื่องจากจำเลยทราบว่าถูกโจทก์ทั้งสองหลอกลวงให้จดทะเบียน ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องสูงเกินความเป็นจริง โจทก์ที่ 1 ทำโครงเหล็ก เพื่อติดตั้งป้ายโฆษณาต่อเติมบนดาดฟ้าอาคารพิพาททั้งที่ตามข้อตกลงเดิมมิได้มีกำหนดให้กระทำได้ โจทก์ทั้งสองจึงต้องรื้อถอนส่วนที่ต่อเติมดังกล่าวออกไป ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ทั้งสองรื้อถอนโครงเหล็กที่ต่อเติมบนดาดฟ้าอาคารพิพาทออกไป หากไม่รื้อถอนให้โจทก์ทั้งสองชำระค่าเสียหายเดือนละ 40,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะรื้อถอนโครงเหล็กที่ต่อเติมบนดาดฟ้าอาคารพิพาทออกไป
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองได้รับความยินยอมจากจำเลยให้ติดตั้งโครงเหล็กบนดาดฟ้าอาคารพิพาทเพื่อติดตั้งป้ายโฆษณาตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อขายบ้านพร้อมที่ดิน ทั้งโจทก์ที่ 2 ไม่ได้ทำโครงเหล็กดังกล่าวจำเลยไม่มีสิทธิจะบังคับให้โจทก์ทั้งสองรื้อถอนและเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์บนดาดฟ้าอาคารพิพาทเพื่อให้โจทก์ที่ 1ใช้ติดตั้งป้ายโฆษณามีกำหนด 30 ปี หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 72,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 อีกเดือนละ 3,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะจดทะเบียนภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์ให้โจทก์ที่ 1 ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 และยกฟ้องแย้ง คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ด้วยและให้โจทก์ที่ 1 รื้อถอนโครงเหล็กที่ต่อเติมบนดาดฟ้าอาคารออกไป ส่วนคำขออื่นตามฟ้องแย้งของจำเลยให้ยก
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1ประการแรกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์บนดาดฟ้าอาคารพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 นั้นเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ โดยที่โจทก์ที่ 1ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ได้บรรยายฟ้องแล้วว่าจำเลยทำบันทึกข้อตกลงไว้ท้ายสัญญาจะซื้อขายยินยอมให้โจทก์ที่ 1 หรือตัวแทนติดตั้งป้ายโฆษณาบนพื้นที่ดาดฟ้าของอาคารพิพาท ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง โจทก์ที่ 1 จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนการเช่าแก่โจทก์ที่ 2 ในฐานะตัวแทนของโจทก์ที่ 1เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ที่ 2 กับจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์กันแต่โจทก์ที่ 1 ได้เป็นโจทก์ในคดีด้วย จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์บนดาดฟ้าอาคารพิพาทแก่โจทก์ที่ 1 ได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ เห็นว่าตามคำฟ้อง โจทก์ทั้งสองได้บรรยายไว้อย่างแจ้งชัดว่าโจทก์ที่ 2เป็นผู้อยู่ในฐานะที่จะได้รับประโยชน์จากการได้ใช้พื้นที่ดาดฟ้าของอาคารพิพาท หาใช่มีฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ที่ 1เพียงอย่างเดียวไม่ ด้วยเหตุนี้ โจทก์ทั้งสองจึงมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนการเช่าแก่โจทก์ที่ 2 ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์บนดาดฟ้าอาคารพิพาทแก่โจทก์ที่ 1 จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ทั้งสอง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาไม่ตรงกับคำขอท้ายฟ้องที่โจทก์ทั้งสองมีความประสงค์ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องได้ แต่ไม่อุทธรณ์ดังนี้ จะอ้างว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเช่นนั้นต้องตามความประสงค์ของโจทก์ทั้งสองแล้วไม่ได้เพราะเป็นข้อที่ไม่ปรากฎในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ประการต่อไปมีว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ที่ 1 รื้อถอนโครงเหล็กที่ต่อเติมบนดาดฟ้าของอาคารพิพาทชอบหรือไม่ เห็นว่า จำเลยไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ที่ 1 รื้อถอนโครงเหล็กที่ต่อเติมบนดาดฟ้าของอาคารพิพาทตามฟ้องแย้งจึงเป็นการพิพากษาให้สิ่งใด ๆนอกเหนือไปจากที่ปรากฏในคำฟ้องของจำเลย ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247 ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่โจทก์ที่ 1 ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ย่อมจะรวมถึงในส่วนค่าเสียหายด้วย แต่ตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องในส่วนนี้ จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง ตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมมีทั้งคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมกันอยู่ โจทก์ที่ 1จึงต้องเสียค่าขึ้นศาล 1,800 บาท ตามตาราง 1(3)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และต้องเสียค่าขึ้นศาลตามฟ้องแย้งอีก 200 บาท รวมเป็นเงิน 2,000 บาท แต่โจทก์ที่ 1เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา 6,000 บาท จึงต้องคืนส่วนที่เกินเมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาเกี่ยวกับฟ้องเดิมในส่วนคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 151 แต่ให้หักไว้ 200 บาท สำหรับคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เสียเกินมาให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,600 บาท”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ให้โจทก์ที่ 1 รื้อถอนโครงเหล็กที่ต่อเติมบนดาดฟ้าของอาคารพิพาท นอกจากนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาจำนวน 5,600 บาท แก่โจทก์ที่ 1