คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3319/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ฟ้องแย้งของจำเลยสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในเรื่องวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ซึ่งมีข้อกำหนดให้ผู้ขอใช้วิธีการชั่วคราวซึ่งใช้สิทธิโดยมิชอบต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว ดังนั้น หากการใช้สิทธิของโจทก์ทั้งสองเป็นไปโดยมิชอบ ก็ต้องบังคับตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในลักษณะนี้ ฟ้องแย้งของจำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งสองรู้ว่าทางพิพาทไม่ตกอยู่ในภารจำยอม แต่ยังฟ้องคดีโดยไม่สุจริตและยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาล จนทำให้จำเลยเสียหายต้องรื้อรั้วและยอมให้บุคคลอื่นใช้ทางพิพาท เป็นการกล่าวอ้างว่าเหตุที่ศาลมีคำสั่ง อนุญาตตามคำขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ทั้งสองเป็นความผิด ของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งโจทก์ทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 263(1) แต่ตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์ทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนเมื่อศาลตัดสินให้โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายแพ้คดี ขณะจำเลยยื่นฟ้องแย้งศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำพิพากษา ทั้งยัง ไม่แน่นอนว่าศาลชั้นต้นจะตัดสินให้โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายแพ้คดีด้วยสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของจำเลยยังไม่เกิด จำเลยยัง ไม่มีสิทธิฟ้องร้อง จึงไม่อาจรับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณาได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองและของจำเลยอยู่ติดกัน โจทก์ทั้งสองใช้ทางเดินผ่านที่ดินจำเลยออกไปสู่ทางสาธารณะโดยความสงบเปิดเผยและเจตนาใช้ทางดังกล่าว เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองมากว่า 10 ปีแล้ว ทางดังกล่าว จึงตกเป็นภารจำยอม จำเลยกับพวกร่วมกันขุดหลุมปักเสาคอนกรีตทำเป็นรั้วในทางเดินที่เป็นภารจำยอมอันเป็นการกีดขวาง ทำให้โจทก์ทั้งสองไม่สามารถใช้ทางภารจำยอมดังกล่าวออกไปสู่ถนนสาธารณะได้ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนเสาคอนกรีตทั้งหมดบนทางภารจำยอม ให้เปิดทางภารจำยอมกว้างประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ 800 เมตร เพื่อให้โจทก์ทั้งสองใช้ทางดังกล่าวได้ และให้จำเลยจดทะเบียนภารจำยอมในทางดังกล่าว
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินของจำเลยไม่เคยตกอยู่ในภารจำยอมของที่ดินของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองมาปลูกบ้านในที่ดินที่โจทก์ทั้งสองซื้อมา และใช้รถบรรทุกขนสัมภาระผ่านทางพิพาททำให้ทางพิพาทเสียหายแล้วไม่ซ่อมแซม จำเลยจึงทำรั้วลวดหนามและโครงเหล็กปิดกั้นทางพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของจำเลย แต่ยังฟ้องคดีโดยไม่สุจริต และได้ยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลจนทำให้จำเลยต้องรื้อเสาคอนกรีตรั้วลวดหนามและโครงเหล็กออกจำเลยต้องยอมให้บุคคลอื่นใช้ทางพิพาทดังกล่าว ทำให้จำเลยเสียหายขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับโจทก์ทั้งสองมิให้เกี่ยวข้องกับทางพิพาทและให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน 39,875 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายอีกวันละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองเลิกเกี่ยวข้องกับทางพิพาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การ แต่ไม่รับฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฟ้องแย้งของจำเลยสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในเรื่องวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อกำหนดให้ผู้ขอใช้วิธีการชั่วคราวซึ่งใช้สิทธิโดยมิชอบต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้แล้วดังนั้น หากการใช้สิทธิของโจทก์ทั้งสองเป็นไปโดยมิชอบก็ต้องบังคับตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในลักษณะนี้ ฟ้องแย้งของจำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งสองรู้ว่าทางพิพาทไม่ตกอยู่ในภารจำยอม แต่ยังฟ้องคดีโดยไม่สุจริตและยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาล จนทำให้จำเลยเสียหายต้องรื้อรั้วและยอมให้บุคคลอื่นใช้ทางพิพาท เป็นการกล่าวอ้างว่าเหตุที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ทั้งสองเป็นความผิดของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งโจทก์ทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 263(1) แต่ตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์ทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อศาลตัดสินให้โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายแพ้คดีขณะจำเลยยื่นฟ้องแย้งศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำพิพากษา ทั้งยังไม่แน่นอนว่าศาลชั้นต้นจะตัดสินให้โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายแพ้คดีด้วยสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของจำเลยยังไม่เกิด จำเลยยังไม่มีสิทธิฟ้องร้อง จึงไม่อาจรับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณาได้ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องแย้งของจำเลยไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมจึงไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share