แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันระบุว่า จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ ที่โจทก์ระบุในคำฟ้อง ทั้งตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร์จากฐานข้อมูลการทะเบียนสำนักทะเบียนกลางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งรับรองก่อนวันที่โจทก์ฟ้อง 3 วัน ก็ระบุว่าจำเลยที่ 2 มีที่อยู่บ้านเลขที่ดังกล่าว การส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้แก่จำเลยที่ 2 โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามคำสั่งของศาลแรงงานกลางก็มีบุคคลเดียวกับบุคคลที่เคยรับหนังสือทวงถามไว้แทนจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับไว้แทน น่าเชื่อว่าบ้านเลขที่ตามที่โจทก์ระบุในคำฟ้องเป็นถิ่นที่อยู่ของจำเลยที่ 2 จริง แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่ามีภูมิลำเนาแห่งอื่นอีก หากเป็นความจริงก็ต้องถือว่า จำเลยที่ 2 มีถิ่นที่อยู่หลายแห่ง บ้านเลขที่ตามฟ้องโจทก์ย่อมเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ด้วยแห่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 38 การส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาตามฟ้อง โดยมีผู้รับแทนจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นการส่งหมายโดยชอบ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 2 ทราบวันนัดพิจารณาโดยชอบแล้ว
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดในวันที่ 9 กันยายน 2542 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2543 เกินกำหนด 7 วันนับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดตาม พ.ร.บ. จัดตั้ง ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 41 คำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้ยกคำร้องจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างและจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระค่า เสียหายแก่โจทก์ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๑๙๙,๗๗๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๒ จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยจำเลยที่ ๒ รับผิดในต้นเงินเพียง ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๒ จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๓ ขอให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าจำเลยที่ ๒ ไม่จงใจขาดนัดเพราะศาลส่งหมายเรียกแก่จำเลยที่ ๒ ที่บ้านเลขที่ ๑๐๒/๓ ถนนประชาธิปัตย์ ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งความจริงแล้วจำเลยที่ ๒ มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านพักครูโรงเรียนราษฎร์วิทยา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี จำเลยที่ ๒ จึงไม่ทราบวันนัด หากจำเลยที่ ๒ ให้การต่อสู้คดี จำเลยที่ ๒ สามารถชนะคดีโจทก์ได้
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องเกินกำหนด ๗ วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งว่าขาดนัดตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๑ ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๘ บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลธรรมดามีถิ่นที่อยู่หลายแห่งซึ่งอยู่สับเปลี่ยนกันไป หรือมีหลักแหล่งที่ทำการงานเป็นปกติหลายแห่ง ให้ถือว่าแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น” ปรากฏข้อเท็จจริงจากสำนวนคดีนี้ว่า เมื่อจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาค้ำประกันรับรองความเสียหาย ระบุว่า จำเลยที่ ๒ มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ ๑๒๐/๓ ถนนประชาธิปัตย์ ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ ๒ ตามที่โจทก์ระบุในคำฟ้อง ทั้งตามแบบรับรองรายงานการทะเบียนราษฎร์จากฐานข้อมูลการทะเบียน สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งรับรอง ณ วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๒ ก่อนวันที่โจทก์ฟ้องสามวัน ก็ระบุว่าจำเลยที่ ๒ มีที่อยู่บ้านเลขที่ดังกล่าว การส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามคำสั่งของศาลแรงงานกลางก็มีผู้รับไว้แทนจำเลยที่ ๒ ซึ่งผู้รับแทนนี้ก็เป็นบุคคลเดียวกับที่เคยรับหนังสือทวงถาม และใบตอบรับในประเทศ จึงน่าเชื่อว่าบ้านเลขที่ ๑๒๐/๓ ถนนประชาธิปัตย์ ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นถิ่นที่อยู่ของจำเลยที่ ๒ จริง แม้จำเลยที่ ๒ จะอ้างว่าจำเลยที่ ๒ มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านพักครูโรงเรียนราษฎร์วิทยา จังหวัดเพชรบุรี ก็ตาม หากเป็นความจริงก็ต้อง ถือว่าจำเลยที่ ๒ มีถิ่นที่อยู่หลายแห่ง ดังนั้น บ้านเลขที่ ๑๒๐/๓ ถนนประชาธิปปัตย์ ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ย่อมเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ ๒ ด้วยแห่งหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๘ ดังกล่าวข้างต้น เมื่อปรากฏว่ามีการส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้แก่จำเลยที่ ๒ ณ ภูมิลำเนาตามฟ้อง ทั้งมีผู้รับแทนจำเลยที่ ๒ จึงเป็นการส่งหมายโดยชอบ ย่อมถือว่าจำเลยที่ ๒ ทราบวันที่ศาลแรงงานกลางนัดพิจารณาคดีนี้โดยชอบแล้ว
เมื่อปรากฏว่า ศาลแรงงานกลางพิจารณาคดีนี้และมีคำสั่งว่าจำเลยที่ ๒ ขาดนัดในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๓ จึงเกินกำหนด ๗ วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๑ คำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้ยกคำร้อง จำเลยที่ ๒ ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.