แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยพุทธศักราช 2485 พ.ศ.2528 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2528 มาตรา 29 ตรี บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (จำเลยที่ 2) ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลขึ้นในธนาคารแห่งประเทศไทย (จำเลยที่ 1) โดยมี “ฝ่ายจัดการกองทุน” เป็นเจ้าหน้าที่ และให้แยกไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่น วันที่ 30 มกราคม 2529 จำเลยที่ 1 ออกข้อบังคับว่าด้วยการแบ่งส่วนงานของสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 จัดตั้ง “ฝ่ายจัดการกองทุน” ขึ้นในส่วนงานของสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 ให้มีหน้าที่ดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 และในวันเดียวกันก็ออกข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยอัตรากำลังของจำเลยที่ 1 ให้เติมอัตรากำลังของ “ฝ่ายจัดการกองทุน” เข้าไปในอัตรากำลังของจำเลยที่ 1 ข้อบังคับทั้งสองฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2528 เป็นต้นไป ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า “ฝ่ายจัดการกองทุน” ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 29 ตรี คือเจ้าหน้าที่ “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 นั่นเอง การดำเนินงานของจำเลยที่ 2 ที่แยกออกจากธุรกิจอื่นของจำเลยที่ 1 จึงต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ใน “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น บุคคลนอกเหนือจาก “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไม่ได้
การที่ ก. ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ในขณะนั้นและเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 29 สัตตรส ทำสัญญาจ้างแรงงานจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ให้ทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาของจำเลยที่ 2 ก็คือการทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างใน “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 นั่นเอง
จำเลยที่ 1 จำเป็นต้องมีผู้มาปฏิบัติหน้าที่ดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 ในส่วนการบังคับคดีแก่สถาบันการเงิน 56 แห่ง อย่างเร่งด่วน แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีพนักงานที่เชี่ยวชาญที่จะดำเนินการได้ จึงได้จ้างโจทก์ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการมาดำเนินการ อีกทั้งคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติการปรับโครงสร้างองค์กรของสายจัดการกองทุน (ฝ่ายจัดการกองทุน) ดังนั้นโจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แม้ในสัญญาจ้างแรงงานระบุว่าโจทก์ไม่มีฐานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีผลลบล้างบทบัญญัติในมาตรา 29 ตรี จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์แทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญากับโจทก์ และการจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างอยู่ในความรับรู้และเห็นชอบของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ว่าการและเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 6 (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น) และในขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 ก็เป็นประธานกรรมการของคณะกรรมการของจำเลยที่ 2 ด้วยตามมาตรา 29 นว ที่ประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นประธานมีมติอนุมัติให้จ้างโจทก์เป็นที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ถึงสิ้นปีงบประมาณ 2546 ต่อมาจำเลยที่ 2 จึงทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์โดยมีสาระสำคัญตามที่ที่ประชุมมีมติอยู่ในข้อ 1 (3) ว่าจำเลยที่ 2 จะประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์เพื่อพิจารณารับเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 แต่ได้ขยายระยะเวลาจ้างออกเป็นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2547 จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เกินขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแต่เพียงตัวแทนไม่ต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงาน
ตามสัญญาจ้างแรงงานข้อ 1 (3) ระบุว่า “…นายจ้างจะประเมินผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างเพื่อพิจารณารับเข้าเป็นพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป…” หมายความว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทนต้องประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์เพื่อพิจารณารับเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์จะเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับผลการปฏิบัติงานเพียงประการเดียว หากผลการปฏิบัติงานผ่านเกณฑ์การประเมินจำเลยที่ 1 ต้องรับโจทก์เข้าเป็นพนักงาน เมื่อผลประเมินการปฏิบัติงานของโจทก์อยู่ในเกณฑ์ดีมากและผ่านการประเมิน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานตามสัญญา แนวคิดเรื่ององค์กรกะทัดรัดเกิดขึ้นก่อนการจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างแต่จำเลยที่ 1 ก็ยังคงทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์หลังจากมีการทำสัญญาจ้างแล้วคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงอนุมัติให้ดำเนินการกลยุทธ์องค์กรกะทัดรัดได้ จำเลยที่ 1 จึงยกข้อที่ต้องเป็นองค์กรกะทัดรัดจึงไม่รับโจทก์เข้าเป็นพนักงานมาอ้างไม่ได้ จำเลยที่ 1 มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องจ้างโจทก์เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ (เป็นเจ้าหน้าที่) ดำเนินการแก้ไขปัญหาของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธุรกิจของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงอ้างมาตรา 20 (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น) มาปฏิเสธการรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุไม่มีความจำเป็นแก่ธุรกิจของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานตามสัญญาจ้างแรงงาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 53,664,936 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นกองทุนในจำเลยที่ 1 มีฝ่ายจัดการกองทุน (สายจัดการกองทุน) ซึ่งเป็นหน่วยงานของจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยพุทธศักราช 2485 พ.ศ.2528 มาตรา 29 ตรี แม้จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคล แต่ก็เป็นเพียงกระบวนการหรือวิธีการที่จะให้จำเลยที่ 1 สามารถดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มั่นคงและมีเสถียรภาพในกรณีสถาบันการเงินเกิดวิกฤตการณ์ร้ายแรงได้คล่องตัวเท่านั้น โดยยังคงเป็นภาระหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่ต้องควบคุมอย่างใกล้ชิด จำเลยที่ 2 จึงเป็นนิติบุคคลที่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 ไม่ได้แยกเป็นอิสระอย่างเด็ดขาดจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ตระหนักดีถึงทรัพย์สินจำนวนมากของสถาบันการเงิน 56 แห่ง ที่ถูกกรมบังคับคดียึดไว้แล้วยังไม่ได้ขายทอดตลาดจึงได้พูดกับนายเกริกซึ่งเป็นที่มาของเงื่อนไขการประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ประกอบการพิจารณาบรรจุเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ว่าการและเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคลของจำเลยที่ 1 และในฐานะประธานกรรมการของจำเลยที่ 2 กับนายเกริกในฐานะผู้ช่วยผู้ว่าการสายจัดการกองทุนของจำเลยที่ 1 และในฐานะผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ในขณะนั้นต่างก็ตระหนักถึงภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในการหานักกฎหมายที่มีความสามารถเชี่ยวชาญด้านการบังคับคดีและการศาล มีความซื่อสัตย์สุจริตมาประสานงานกับกรมบังคับคดี จึงรู้เห็นร่วมกันติดต่อทาบทามโจทก์ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประสงค์มาเป็นที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยที่ 2 ในการประสานงานกับกรมบังคับคดี จำเลยที่ 2 กับโจทก์จึงทำสัญญาจ้างแรงงานโดยระบุเรื่องจำเลยที่ 2 ประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์เพื่อพิจารณารับโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ไว้ในข้อ 1 (3) จำเลยที่ 1 ไม่เคยคัดค้าน โต้แย้ง หรือท้วงติงว่าจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ตกลงตามเงื่อนไขนั้น หรือไม่ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ตกลงกับโจทก์เช่นนั้น เป็นกรณีจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 รู้เห็นสมัครใจเข้าร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยนายเกริกจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ในตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์ประสานงานกับกรมบังคับคดีให้การขายทอดตลาดสิทธิเรียกร้องของสถาบันการเงิน 56 แห่ง สำเร็จลุล่วง จำเลยที่ 1 จึงผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ จำเลยที่ 3 กระทำการในฐานะผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำเป็นส่วนตัว จำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการของจำเลยที่ 2 หลังจากนายเกริกในฐานะผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 4 ไม่อาจปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานเป็นการส่วนตัวได้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ การรับโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ขึ้นอยู่กับการประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์เพียงสถานเดียว เมื่อผลการปฏิบัติงานของโจทก์อยู่ในเกณฑ์ดีมากและผ่านการประเมิน จำเลยที่ 1 ต้องรับโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จะยกข้ออ้างซึ่งไม่มีอยู่ในสัญญาจ้างแรงงานว่าจำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างปรับองค์กรให้กะทัดรัด ต้องลดอัตรากำลังและไม่มีฝ่ายใดต้องการที่ปรึกษากฎหมายมาเป็นเหตุไม่บรรจุโจทก์เป็นพนักงานไม่ได้ ข้ออ้างที่ว่าไม่มีหน่วยงานใดต้องการโจทก์เป็นที่ปรึกษากฎหมายไม่ตรงตามความเป็นจริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหาย 10 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยประการแรกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องผูกพันต่อโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 พ.ศ.2528 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2528 มาตรา 29 ตรี บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (จำเลยที่ 2) ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลขึ้นในธนาคารแห่งประเทศไทย (จำเลยที่ 1) มีวัตถุประสงค์เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยมี “ฝ่ายจัดการกองทุน” เป็นเจ้าหน้าที่ และให้แยกไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่น วันที่ 30 มกราคม 2529 จำเลยที่ 1 ออกข้อบังคับว่าด้วยการแบ่งส่วนงานของสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 จัดตั้ง “ฝ่ายจัดการกองทุน” ขึ้นในส่วนงานของสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 ให้มีหน้าที่ดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 และในวันเดียวกันก็ออกข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยอัตรากำลังของจำเลยที่ 1 ให้เติมอัตรากำลังของ “ฝ่ายจัดการกองทุน” เข้าไปในอัตรากำลังของจำเลยที่ 1 ข้อบังคับทั้งสองฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2528 เป็นต้นไป ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า “ฝ่ายจัดการกองทุน” ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 29 ตรี คือเจ้าหน้าที่ “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 นั้นเอง เมื่อมาตรา 29 ตรี บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า “ฝ่ายจัดการกองทุน” เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และให้แยกจำเลยที่ 2 ไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่นของจำเลยที่ 1 การดำเนินงานของจำเลยที่ 2 ที่แยกออกจากธุรกิจอื่นของจำเลยที่ 1 จึงต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ใน “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น บุคคลนอกเหนือจาก “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไม่ได้
ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันได้ความว่าอัตรากำลังของ “ฝ่ายจัดการกองทุน” ประกอบด้วยพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่สังกัดอยู่ฝ่ายจัดการกองทุนกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแสดงว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใน “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 มีทั้งพนักงานและลูกจ้าง ดังนั้นการที่นายเกริก ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ในขณะนั้นและเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 29 สัตตรส ทำสัญญาจ้างแรงงานจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ให้ทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาของจำเลยที่ 2 ก็คือการทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างใน “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 นั่นเอง ประกอบกับปรากฏตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของจำเลยที่ 2 นำเงิน 7 แสนล้านบาทเศษ ไปช่วยสถาบันการเงิน 56 แห่ง ต่อมาศาลพิพากษาให้สถาบันการเงิน 56 แห่ง ล้มละลาย จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 9 แสนล้านบาทเศษ ต้องมีการขายทอดตลาดสิทธิเรียกร้องของสถาบันการเงิน 56 แห่ง ที่มีอยู่เหนือลูกหนี้มากกว่า 62,000 ราย เป็นเงินหลายแสนล้านบาท แล้วนำเงินมาเฉลี่ยคืนแก่เจ้าหนี้ แต่สิทธิเรียกร้องของสถาบันการเงิน 56 แห่ง กำลังจะขาดอายุความ ลูกหนี้และหลักประกันของสถาบันการเงิน 56 แห่ง ค่อย ๆ เสียหายเสื่อมค่าลงไปเรื่อย ๆ จำเลยที่ 2 จะยึดก็ไม่ทัน ปรับโครงสร้างหนี้ก็ไม่ทัน อุปสรรคอยู่ที่กรมบังคับคดีไม่เคยขายทอดตลาดลูกหนี้ทางบัญชีและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ากระทำไม่ได้ พนักงานของจำเลยที่ 1 ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้เรื่องศาลยุติธรรมและกรมบังคับคดีมากนัก จำเลยที่ 3 เห็นว่า โจทก์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในทางการศาลยุติธรรมและกรมบังคับคดี และมีกำหนดขายทอดตลาดสิทธิเรียกร้องของสถาบันการเงิน 56 แห่ง ครั้งแรกในวันที่ 2 ธันวาคม 2545 อันเป็นที่มาของการทำสัญญาจ้างแรงงานในวันที่ 21 ตุลาคม 2545 แสดงว่าในขณะนั้นจำเป็นต้องมีผู้มาปฏิบัติหน้าที่ดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 ในส่วนการบังคับคดีแก่สถาบันการเงิน 56 แห่ง อย่างเร่งด่วน แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีพนักงานที่เชี่ยวชาญที่จะดำเนินการได้ จึงได้จ้างโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการมาดำเนินการ อีกทั้งคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติการปรับโครงสร้างองค์กรของสายจัดการกองทุน (ฝ่ายจัดการกองทุน) ดังนั้น โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แม้ในสัญญาจ้างแรงงานระบุว่าโจทก์ไม่มีฐานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีผลลบล้างบทบัญญัติในมาตรา 29 ตรี จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์แทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญากับโจทก์ และการจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างอยู่ในความรับรู้และเห็นชอบของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ว่าการและเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 6 (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น) และในขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 ก็เป็นประธานกรรมการของคณะกรรมการของจำเลยที่ 2 ด้วยตามมาตรา 29 นว ว่าที่ประชุมซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นประธานมีมติ “อนุมัติให้ว่าจ้างนายนิพนธ์ (โจทก์) เป็นที่ปรึกษากฎหมายของกองทุน (จำเลยที่ 2) ตามที่เสนอตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ถึงสิ้นปีงบประมาณ 2546 (กันยายน 2546) โดยให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานในช่วงเวลาที่จัดจ้างนายนิพนธ์ ฯ ดังกล่าว และจะนำผลการประเมินมาประกอบการพิจารณาเพื่อบรรจุเป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย (จำเลยที่ 1) ในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมายของสายงานอื่น ๆ โดยไม่อิงกับตำแหน่งบริหารต่อไป” ต่อมาจำเลยที่ 2 จึงทำสัญญาจ้างแรงงานในวันที่ 21 ตุลาคม 2545 โดยมีสาระสำคัญตามที่ที่ประชุมมีมติอยู่ในข้อ 1 (3) ว่าจำเลยที่ 2 จะประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์เพื่อพิจารณารับเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 แต่ได้ขยายระยะเวลาจ้างออกเป็นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2547 จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เกินขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงาน ต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแต่เพียงตัวแทนไม่ต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงาน อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยประการที่สองว่าเมื่อผลประเมินการปฏิบัติงานของโจทก์อยู่ในเกณฑ์ดีมากและผ่านการประเมิน จำเลยที่ 1 ต้องรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานตามสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ 1 (3) ระบุว่า “…นายจ้างจะประเมินผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างเพื่อพิจารณารับเข้าเป็นพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป…” หมายความว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทนต้องประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์เพื่อพิจารณารับเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์จะเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับผลการปฏิบัติงานเพียงประการเดียว หากผลการปฏิบัติงานผ่านเกณฑ์การประเมินจำเลยที่ 1 ต้องรับโจทก์เข้าเป็นพนักงาน เมื่อผลประเมินการปฏิบัติงานของโจทก์อยู่ในเกณฑ์ดีมากและผ่านการประเมินจำเลยที่ 1 จึงต้องรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานตามสัญญา จะอ้างว่าการรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานหรือไม่เป็นอำนาจพิจารณาของจำเลยที่ 1 และหน่วยงานของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องการบุคลากรเพิ่มไม่ได้ อีกทั้งปรากฏว่าคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 อนุมัติวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่ให้จำเลยที่ 1 เป็นองค์กรที่มีคุณภาพโดยใช้กลยุทธ์องค์กรกะทัดรัดภายในปี 2550 และอนุมัติให้ดำเนินการตามแนวทางองค์กรกะทัดรัดได้ แสดงว่าแนวคิดเรื่ององค์กรกะทัดรัดเกิดขึ้นก่อนการจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างแต่จำเลยที่ 1 ก็ยังคงทำสัญญาจ้างแรงงานหลังจากมีการทำสัญญาจ้างแล้วคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงอนุมัติให้ดำเนินการกลยุทธ์องค์กรกะทัดรัดได้ จำเลยที่ 1 จึงยกข้อที่ต้องเป็นองค์กรกะทัดรัดไม่รับโจทก์เข้าเป็นพนักงานมาอ้างไม่ได้ จำเลยที่ 1 มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องจ้างโจทก์เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ (เป็นเจ้าหน้าที่) ดำเนินการแก้ไขปัญหาของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธุรกิจของจำเลยที่ 1 (ที่มาตรา 29 ตรี บัญญัติให้แยกไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่นของจำเลยที่ 1) ดังที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จำเลยที่ 1 จึงอ้างมาตรา 20 (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น) มาปฏิเสธการรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุไม่มีความจำเป็นแก่ธุรกิจของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ 1 (3) อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง