แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๙/๒๕๕๓
วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสิงห์บุรี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑ นางวนิดา จงเลิศตระกูล ที่ ๑ พันตรี สุรเดช จงเลิศตระกูล ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสิงห์บุรี ที่ ๑ เทศบาลเมืองสิงห์บุรี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๖๕/๒๕๕๑ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๖๗๓ และ ๗๖๗๔ ตำบลต้นโพธิ์ (บางมอญ) อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เนื้อที่แปลงละ ๙๗ ตารางวา เมื่อปี ๒๕๔๘ โดยจดทะเบียนลงชื่อผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้ซื้อทั้งสองแปลง จากการรังวัดสอบเขตที่ดินปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ก่อสร้างถนนร่มโพธิ์รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและมีการวางท่อประปาและเสาไฟฟ้าลงในที่ดินดังกล่าวรวมเนื้อที่ประมาณ ๗ – ๑๐ ตารางวา ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีหนังสือขอความเป็นธรรม ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จากการตรวจสอบการก่อสร้างถนนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่พบว่ามีการตรวจสอบเขตที่ดินก่อนที่จะทำการก่อสร้าง ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองรื้อถอนถนนในส่วนที่รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง หรือแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ถนนส่วนที่ผ่านที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีความกว้าง ๕ เมตร เท่ากับความกว้างถนนที่ผ่านที่ดินแปลงอื่น ๆ ทุกแปลง โดยเจ้าของที่ดินเดิมอุทิศให้เป็นถนนสาธารณะต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ด้วยวาจา การก่อสร้างปรับปรุงถนนดังกล่าวในปี ๒๕๒๒ ปี ๒๕๔๒ และปี ๒๕๔๔ ไม่มีผู้ใดโต้แย้งสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวเมื่อปี ๒๕๔๘ ภายหลังจากที่ถนนร่มโพธิ์ในส่วนที่ผ่านที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองรับโอนนั้นได้ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่มีสิทธิดีกว่าเจ้าของเดิม ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้ตรวจสอบรังวัดให้ทราบเนื้อที่ดินที่แน่นอนก่อนการซื้อขาย เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง แต่ประเด็นหลักที่คู่ความโต้แย้งกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินส่วนที่เป็นถนนพิพาทว่า เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ ตามมาตรา ๕๓ (๑) ประกอบมาตรา ๕๐ (๒) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และมาตรา ๑๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ตลอดจนปัจจุบันนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยังมีหน้าที่ตรวจตราและจัดการรักษาทางบกทางน้ำรวมทั้งดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมิให้ผู้ใดเกียดกันเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตนตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ ดังนั้น การก่อสร้างถนนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองและปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินกิจการทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก่อสร้างถนนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเสียหาย กรณีตามฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) ประกอบมาตรา ๗๑ (๑) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ และแม้จะมีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับที่ดินระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กับผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก็มิได้อยู่ในฐานะผู้ทรงกรรมสิทธิ์หรือผู้ทรงสิทธิครอบครองถนนสาธารณประโยชน์ (ถนนต้นโพธิ์) เพียงแต่ มีกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ทางปกครองดำเนินการก่อสร้างถนน ซึ่งรัฐจำต้องอาศัยและใช้อำนาจเหนือเอกชน ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับความมีอยู่หรือสถานะของที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งมิใช่คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด นอกจากนั้นประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาเนื้อหาของคดี แม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปอันว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบุคคลเกี่ยวกับที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลและสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม แต่การพิจารณาดังกล่าวมิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีไว้โดยเฉพาะ ศาลปกครองจึงมีอำนาจนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดสิงห์บุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่าที่ดินพิพาทอยู่ในโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก่อสร้างถนนร่มโพธิ์วางท่อประปาและปักเสาไฟฟ้ารุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดิน หรือแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อน หรือความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การแก้คดีว่าที่ดินส่วนที่พิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วก่อนที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองซื้อที่ดิน ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ตรวจสอบรังวัดให้ทราบเนื้อที่ดินที่แน่นอนก่อนการซื้อขาย เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต คดีจึงมีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน และผู้ฟ้องคดีทั้งสองมุ่งประสงค์ให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินเป็นสำคัญ การที่จะพิจารณาว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำละเมิดหรือไม่ และจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่เพียงใด ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเป็นที่ยุติเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้าง หรือตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า ได้ร่วมกันซื้อที่ดิน มีโฉนดสองแปลง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองสร้างถนนรุกล้ำที่ดินดังกล่าว และมีการวางท่อประปาและเสาไฟฟ้าลงในที่ดินรวมเนื้อที่ประมาณ ๗ – ๑๐ ตารางวา ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองรื้อถอนถนนในส่วนที่รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง หรือแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ถนนส่วนที่ผ่านที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง มีความกว้าง ๕ เมตร เท่ากับความกว้างถนนที่ผ่านที่ดินแปลงอื่น ๆ ทุกแปลง โดยเจ้าของที่ดินเดิมอุทิศให้เป็นถนนสาธารณะต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ด้วยวาจา ผู้ฟ้องคดีทั้งสองรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวหลังจากที่ถนนในส่วนที่ผ่านที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองรับโอนได้ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่มีสิทธิดีกว่าเจ้าของเดิม ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ตรวจสอบรังวัดให้ทราบเนื้อที่ดิน ที่แน่นอนก่อนการซื้อขาย เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้ฟ้องคดีทั้งสองใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนั้นการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่ผู้ฟ้องคดีขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินที่เป็นถนนสาธารณะเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางวนิดา จงเลิศตระกูล ที่ ๑ พันตรี สุรเดช จงเลิศตระกูล ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสิงห์บุรี ที่ ๑ เทศบาลเมืองสิงห์บุรี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ติดราชการ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ