คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดเกิดขึ้นในทะเลหลวง นอกราชอาณาจักรไทย ศาลไทยจะลงโทษผู้กระทำผิดที่เป็นคนไทยในข้อหาความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 8(4) ได้ต่อเมื่อผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8(ก) แต่คดีนี้ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าผู้ตายซึ่งถือว่าเป็นผู้เสียหายเป็นใครบ้าง และไม่ปรากฏว่าจะมีผู้ใดซึ่งสามารถจัดการแทนผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(2)ได้ ดำเนินการร้องขอให้ศาลไทยลงโทษ ที่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ขอให้ลงโทษก็เฉพาะผู้เสียหายทั้งสี่ที่ถูกปล้นทรัพย์และพยายามฆ่าเท่านั้น ฉะนั้น จึงลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นไม่ได้ คงลงโทษได้เฉพาะข้อหาปล้นทรัพย์และพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งผู้เสียหายทั้งสี่ได้ร้องทุกข์ขอให้ลงโทษจำเลยแล้วเท่านั้น โจทก์บรรยายฟ้องข้อหาปล้นทรัพย์ไว้ในข้อ 1 ก. แยกต่างหากจากข้อหาฆ่าและพยายามฆ่าซึ่งอยู่ในข้อ 1 ข. เพียงว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้มีดและขวานเป็นอาวุธในการปล้นทรัพย์โดยใช้เรือยนต์ซึ่งใช้ในการประมงเป็นยานพาหนะเท่านั้น ไม่ได้บรรยายว่าในการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายด้วยถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยดังกล่าว ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคท้าย ได้เพราะเป็นการเกินคำขอที่โจทก์กล่าวในฟ้องไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 คงลงโทษจำเลยได้เพียงฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธและใช้ยานพาหนะเพื่อการทำผิดเท่านั้น หลังจากที่จำเลยกับพวกปล้นทรัพย์ได้แล้ว ได้ถอยเรือไปอยู่ห่างจากเรือของผู้เสียหายทั้งสี่กับพวกประมาณ 20 เมตร เพื่อรอดูเรือประมงลำที่ 3 และลำที่ 4 เข้ามาเทียบกับเรือผู้เสียหายทั้งสี่กับพวกแล้วลูกเรือประมงลำที่ 3 ขึ้นไปพาพวกของผู้เสียหายทั้งสี่ที่เป็นหญิง 6 คน ขึ้นไปบนเรือประมงลำที่ 3 เสร็จแล้วเรือประมงลำที่ 3และลำที่ 4 จึงแล่นออกไป หลังจากนั้นจำเลยกับพวกขับเรือประมงพุ่งเข้าชนเรือผู้เสียหายทั้งสี่กับพวกจนมีพวกของผู้เสียหายตกทะเลหายไปประมาณ 20 คน นั้น ยังอยู่ในช่วงแห่งการปล้นทรัพย์ เพราะเป็นเวลาใกล้ชิดต่อเนื่องจากการได้ทรัพย์และพาเอาทรัพย์ที่ปล้นได้ไปเจตนาที่จำเลยกับพวกต้องการให้ผู้เสียหายกับพวกถึงแก่ความตายก็เพื่อปกปิดการที่ตนกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้นเอง การพยายามฆ่าผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับการปล้นทรัพย์ซึ่งต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปัญหาข้อกฎหมายเหล่านี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195,225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2533 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยกับพวกอีก 7 คน ซึ่งหลบหนีได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ
ก. จำเลยกับพวกร่วมกันใช้มีดและขวานเป็นอาวุธปล้นทรัพย์หลายรายการรวมเป็นเงินประมาณ 23,000 บาท ของผู้เสียหายทั้งสี่ไปโดยทุจริตโดยจำเลยกับพวกใช้อาวุธมีดและขวานที่นำติดตัวไปจี้บังคับขู่เข็ญว่า ทันใดนั้นจะแทงและฟันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่กับพวกรวมประมาณ 191 คน ซึ่งเป็นคนสัญชาติเวียดนามอพยพมาจากประเทศเวียดนามด้วยเรือยนต์ไม้ให้ถึงแก่ความตายหากขัดขืนเพื่อความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์และยึดถือเอาทรัพย์ไว้ โดยการปล้นทรัพย์ดังกล่าว จำเลยกับพวกใช้เรือยนต์ที่ใช้ในการทำประมงเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกในการกระทำผิดพาทรัพย์นั้นไปเพื่อให้พ้นจากการจับกุม
ข. หลังจากกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว จำเลยกับพวกได้ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่และชาวเวียดนามรวม 191 คนซึ่งร่วมโดยสารเรือยนต์ไม้ให้ถึงแก่ความตาย เพื่อปกปิดความผิดและให้พ้นจากอาญาโดยจำเลยกับพวกร่วมกันใช้เรือยนต์ประมงซึ่งได้ใช้เป็นยานพาหนะในการกระทำผิดแล่นพุ่งเข้าชนเรือยนต์ไม้ที่ผู้เสียหายทั้งสี่กับชาวเวียดนามโดยสารอยู่ เป็นเหตุให้ชาวเวียดนามซึ่งไม่ทราบชื่อตกทะเลถึงแก่ความตายจำนวน 20 คนสมดังเจตนาของจำเลยกับพวก ส่วนผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ที่เหลือรวมจำนวน 171 คน พยายามช่วยเหลือตนเองประกอบกับมีผู้พบเห็นและทำการช่วยเหลือไว้ได้ทัน จึงไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลยกับพวกเหตุเกิดในทะเลหลวงนอกราชอาณาจักรไทย ในวันที่ 8 สิงหาคม 2534เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ และพนักงานสอบสวนได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดให้ทำการสอบสวนโดยชอบแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 289, 340, 340 ตรี, 80, 83, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7), 80, 83 กระทงหนึ่งฐานร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90ให้ประหารชีวิต และมาตรา 340 วรรคท้าย, 340 ตรี อีกกระทงหนึ่งให้ประหารชีวิต เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงให้ประหารชีวิตสถานเดียว
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ร่วมกระทำความผิดคดีนี้ และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้ความผิดเกิดขึ้นในทะเลหลวง นอกราชอาณาจักร ศาลไทยจะลงโทษผู้กระทำผิดที่เป็นคนไทยในข้อหาความผิดต่อชีวิตตามมาตรา 8(4) ได้ต่อเมื่อผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8(ก) แต่คดีนี้ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าผู้ตายซึ่งถือว่าเป็นผู้เสียหายเป็นใครบ้างและไม่ปรากฏว่าจะมีผู้ใดซึ่งสามารถจัดการแทนผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(2) ดำเนินการร้องขอให้ศาลไทยลงโทษ ที่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ขอให้ลงโทษตามเอกสารหมาย จ.6 ก็เฉพาะนางสาวลี้ ง๊อก แอม นายฟาม วัน บา นายเหงียนวัน ยาน และนายเจิน ฮุง ที่ถูกปล้นทรัพย์และพยายามฆ่าเท่านั้นฉะนั้นจึงลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นมาด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่ปรากฏว่ามีผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340วรรคท้าย ด้วยนั้น เป็นการเกินคำขอที่โจทก์กล่าวในฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 เพราะโจทก์บรรยายฟ้องข้อหาปล้นทรัพย์ไว้ในข้อ 1 ก. แยกต่างหากจากข้อหาฆ่าและพยายามฆ่าซึ่งอยู่ในข้อ 1 ข. เพียงว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้มีดและขวานเป็นอาวุธในการปล้นทรัพย์โดยใช้เรือยนต์ซึ่งใช้ในการประมงเป็นยานพาหนะเท่านั้น ไม่ได้บรรยายว่าในการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายด้วยถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยดังกล่าว คงลงโทษจำเลยได้เพียงฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธและใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด และเห็นว่าหลังจากที่จำเลยกับพวกปล้นทรัพย์ได้แล้ว ถอยเรือไปอยู่ห่างจากเรือของผู้เสียหายกับพวกประมาณ 20 เมตรเพื่อรอดูการที่เรือประมงลำที่ 3 และลำที่ 4 เข้ามาปฏิบัติการเทียบกับเรือผู้เสียหาย แล้วลูกเรือประมงลำที่ 3 ขึ้นไปพาผู้หญิงเวียดนาม 6 คน ขึ้นไปบนเรือประมงลำที่ 3 เสร็จแล้ว เรือประมงลำที่ 3 และลำที่ 4 จึงแล่นออกไป หลังจากนั้นจำเลยกับพวกขับเรือประมงพุ่งเข้าชนเรือผู้เสียหายจนมีพวกของผู้เสียหายตกทะเลหายไปประมาณ 20 คน นั้น ยังอยู่ในช่วงแห่งการปล้นทรัพย์ เพราะเป็นเวลาใกล้ชิดต่อเนื่องจากการได้ทรัพย์และพาเอาทรัพย์ที่ปล้นได้ไปเจตนาที่จำเลยกับพวกต้องการให้ผู้เสียหายกับพวกถึงแก่ความตายก็เพื่อปกปิดการที่ตนกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์นั้นเอง การพยายามฆ่าผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับการปล้นทรัพย์ซึ่งต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90ปัญหาเหล่านี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195, 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรค 2 ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี83 ฐานพยายามฆ่าตามมาตรา 289(7), 80, 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 289(7), 80 ประกอบมาตรา 52(1) ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 ให้จำคุกตลอดชีวิต และให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาฆ่าผู้อื่น

Share