แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีที่ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยยื่นฎีกาพร้อมคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นนายหนึ่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ในวันสุดท้ายที่อยู่ในระยะเวลาซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายเวลายื่นฎีกาได้ แต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกา การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอีกนายหนึ่งและองค์คณะในศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่งเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาที่จำเลยมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้แล้ว คำร้องของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม 2537 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2537 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงติดต่อกันจำเลยทั้งสองร่วมกันลักเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต หรือมิฉะนั้นตามวันเวลาดังกล่าวจนกระทั่งถึงวันที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองได้ จำเลยทั้งสองร่วมกันรับของโจร โดยร่วมกันรับเอาไว้ ช่วยพาเอาไปเสียซื้อ รับจำนำ ช่วยซ่อนเร้นซึ่งรถยนต์ของผู้เสียหายที่ถูกลักเอาไป แล้วนำไปซุกซ่อนไว้ที่บ้านพักของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดอันเป็นลักษณะลักทรัพย์ วันที่ 18 มิถุนายน 2537เวลากลางวัน ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองได้ จำเลยทั้งสองร่วมกันทำปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน2 ย-1901 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเอกสารราชการขึ้นทั้งฉบับ แล้วนำไปติดไว้ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 9 ห-7735กรุงเทพมหานคร แทนที่แผ่นป้ายทะเบียนเดิมที่แท้จริง จำเลยทั้งสองร่วมกันทำการปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีประจำปี 2537เลขที่ 0237237 ซึ่งนายทะเบียนจังหวัดกาญจนบุรี เจ้าพนักงานตามกฎหมายออกให้แก่รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น-4670 กาญจนบุรี โดยทำให้ปรากฏตัวเลขและตัวอักษรจากข้อความว่า “น-4670” เป็น “2 ย-1901″และข้อความว่ายี่ห้อรถ “ดัทสัน” เป็นว่า “นิสสัน” ลงในแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีประจำปี ซึ่งเป็นเอกสารราชการที่ออกโดยนายทะเบียนจังหวัดกาญจนบุรี เจ้าพนักงานตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารราชการที่แท้จริง ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่พันตำรวจโทอิทธิพล กิจสุวรรณ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจค้นจับกุมนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร นายทะเบียนจังหวัดกาญจนบุรี กรมการขนส่งทางบก ผู้เสียหาย นายสำราญและประชาชน เหตุเกิดที่ตำบลหนองโอ่งอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสองได้และยึดรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสันของผู้เสียหายที่ถูกลักเอาไปและเครื่องอุปกรณ์ของรถยนต์แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลข 2 ย-1901 กรุงเทพมหานครจำนวน 2 แผ่น และแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีประจำปี 2537จำนวน 1 แผ่น เป็นของกลาง สำหรับรถยนต์พร้อมอุปกรณ์ที่เป็นของผู้เสียหายส่งมอบคืนผู้เสียหายไปแล้วขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 264, 265, 268, 335, 357 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคสอง, 357 วรรคแรกเป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานใช้เอกสารราชการปลอม รวม 2 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ3 ปี ฐานรับของโจรจำคุก 5 ปี รวมจำคุก 11 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ฐานรับของโจรจำคุก 5 ปีจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยก่อนว่า ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ชอบหรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ฟังเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะใช้สิทธิฎีกาตามเงื่อนไขในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221 จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะดำเนินการใช้สิทธิดังกล่าวให้ถูกต้องภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216หรือภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายเวลายื่นฎีกาได้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาพร้อมคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นนายหนึ่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2542 อันเป็นวันสุดท้ายที่อยู่ในระยะเวลาซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายเวลายื่นฎีกาได้ แต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกา การที่จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องลงวันที่ 14 กันยายน 2542 ขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอีกนายหนึ่งและองค์คณะในศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการยื่นคำร้องของจำเลยที่ 1 ในครั้งนี้นั้นได้ล่วงพ้นระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้เสียแล้ว คำร้องดังกล่าวของจำเลยที่ 1จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
อนึ่ง สำหรับความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมนั้น จำเลยที่ 1ใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมและใช้แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีประจำปีปลอมติดอยู่กับรถยนต์คันเดียวกันโดยมีเจตนาอย่างเดียวกันคือเพื่อให้ผู้อื่นหรือเจ้าพนักงานตำรวจเห็นว่ารถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 มีและใช้ขับอยู่ เป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนและเสียภาษีประจำปีถูกต้องตามกฎหมายอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อจำเลยที่ 1 จะใช้รถยนต์โดยชอบ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1ในความผิดดังกล่าว 2 กระทง จึงมิชอบ และความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมต้องปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา 265 แต่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ทั้งยังไม่ระบุข้อกฎหมายที่ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมแต่กระทงเดียวด้วย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหาดังกล่าว แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา 265 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผู้ใช้เอกสารราชการปลอมเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 แต่มีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมเพียงกระทงเดียว จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี เมื่อรวมโทษจำคุก 5 ปีของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจร เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด7 ปี ลดโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์