คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 651/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าเจ้าของที่ดินให้โจทก์อาศัยทำกินในที่ดิน จำเลยมาขัดขวางไม่ให้โจทก์ทำนาในที่ดินนี้ ขอให้สั่งห้ามจำเลยไม่ให้มาเกี่ยวข้อง ดังนี้ สิทธิครอบครองที่ดินยังคงอยู่แก่เจ้าของ โจทก์เป็นได้อย่างมากก็เพียงผู้ยึดถือไว้ให้อยู่ในฐานผู้แทนผู้ครอบครองตาม ป.ม.แพ่งฯ มาตรา 1381 เท่านั้น โจทก์ไม่มีทรัพย์สิทธิอย่างใดในที่ดินนั้น เมื่อเจ้าของไม่ได้เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายบุญมาและนางบุดดา พ่อตาแม่ยายโจทก์ได้มอบที่นา ๒ แปลงให้โจทก์กับนางโฮมภริยาทำกินและอุปการะเลี้ยงดู นายบุญมาและนางบุดดาตลอดมา บัดนี้ จำเลยซึ่งเป็นน้องเขย นายบุญมาได้เข้ามารบกวนขัดขวางโจทก์มิให้ทำนาตามปกติ จึงขอให้ศาลห้าม จำเลยต่อสู้ว่านาพิพาทเป็นของจำเลยโก่นสร้างขึ้นเองมา ๘ ปีแล้ว โจทก์หรือนายบุญมาและนางบุดดาไม่เคยเกี่ยวข้อง และตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และขอให้ศาลวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องก่อน โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางบุดดามาเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต นางบุดดายื่นคำแถลงว่า นาพิพาทเป็นของนางบุดดาได้มอบให้โจทก์ทำกิน จึงขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมเพื่อสงวนสิทธิในที่พิพาท จำเลยคัดค้าน แต่ศาลชั้นจึงสั่งอนุญาตให้นางบุดดาเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นสืบพะยานโจทก์ แล้วจำเลยไม่ติดใจสืบพะยาน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ศาลอุทธรณ์ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพราะนางบุดดายังไม่ได้รับความยินยอมจากสามี ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ นางบุดดาโจทก์ร่วมจึงถอนตัวออกจากคดี จำเลยไม่คัดค้าน แล้วจำเลยขอให้ศาลวินิจฉัยข้อตัดฟ้อง ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครอง พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้โจทก์ชนะคดี
จำเลยฎีกา,
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์กล่าวมาในฟ้องอ้างว่า ผู้อื่นเป็นเจ้าของที่พิพาท คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยอาศัยเหตุที่ว่าเจ้าของที่พิพาทมอบให้โจทก์อาศัยทำกิน และอุปการะเลี้ยงดูเจ้าของที่ดินนั้นฐานะของโจทก์จึงหาเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพย์สิทธิอื่นใดในที่ดินนั้นไม่ โจทก์มีฐานะเพียงเป็นผู้ดูแลและจัดการที่ดินแทนนายบุญมาและนางบุดดาเท่านั้น สิทธิครอบครองยังคงอยู่แก่เจ้าของที่นา ซึ่งโจทก์จะเป็นอย่างมากก็เพียงผู้ยึดถือไว้ให้ตาม ป.ม.แพ่งฯ มาตรา ๑๓๘๑ ในคดีนี้ จำเลยตั้งพิพาทมาในข้อกรรมสิทธิ การวินิจฉัยคดีจะต้องชี้ถึงกรรมสิทธิหรือความเป็นเจ้าของแห่งทรัพย์สินนั้นเป็นเบื้องต้น เมื่อเจ้าของทรัพย์สินไม่ยอมมาเป็นโจทก์ร่วม และไม่มีการบังคับให้เข้ามาเป็นคู่ความ โจทก์ผู้ไม่มีทรัพย์สินอย่างใดในทรัพย์สินนั้น ก็มิได้รับมอบหมายให้ฟ้องร้องแทนเจ้าทรัพย์ โจทก์จึงหามีอำนาจฟ้องร้องคดีนี้ไม่
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share