คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่าโจทก์จดทะเบียนซื้อที่ดินโดยไม่สุจริตและกล่าวต่อไปว่าก่อนฟ้องโจทก์รังวัดที่ดินแล้ว ก่อนซื้อผู้ขายก็ได้รังวัดแล้วจำเลยยืนยันว่าจำเลยครอบครองอยู่ ดังนี้เป็นคำให้การชัดแจ้งว่าโจทก์ไม่สุจริตเพราะรู้แล้วว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทอยู่ ไม่เคลือบคลุม
โจทก์ฟ้องขับไล่จากที่ๆ โจทก์ซื้อมาตามหน้าโฉนดจำเลยให้การว่าจำเลยครอบครองมานาน ไม่ชัดว่าจำเลยรับหรือไม่รับว่าเป็นที่ในโฉนดในวันชี้สองสถานจำเลยแถลงไม่รับรองแผนที่วิวาทเป็นการอธิบายความในคำให้การว่าที่วิวาทไม่อยู่ในเขตโฉนดศาลรับฟังคำแถลง และให้โจทก์นำสืบก่อนได้ ไม่จำต้องทำคำร้องแก้เพิ่มเติมคำให้การ
ซื้อที่ดินมีโฉนดโดยรู้เขตที่ผู้ขายและเจ้าของข้างเคียงครอบครองอยู่ต่อมารังวัดปรากฏว่าโฉนดคลุมถึงที่ข้างเคียงด้วย ไม่เรียกว่าซื้อโดยสุจริตอันจะมีสิทธิดีกว่าผู้ครอบครองที่ข้างเคียงนั้น
ฎีกาที่ขอให้ถือเอาความเห็นแย้งในชั้นอุทธรณ์เป็นส่วนหนึ่งของฎีกานั้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอ้างพยานเพิ่มเติมเมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้วโดยอ้างว่ายังบกพร่องอยู่ ศาลไม่น่าจะอนุญาตให้อ้างแต่ศาลชั้นต้นอนุญาตอ้างว่าเพื่อความยุติธรรม ศาลฎีกาไม่เห็นควรสั่งเป็นอย่างอื่น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 โจทก์ได้ซื้อที่นา โฉนดเลขที่ 3950 ตำบลอินทรประมูล (บางพลับ) อำเภอโพธิ์ทอง (ไชไย) จังหวัดอ่างทอง เนื้อที่ 31 ไร่ 16 วา ไว้จากนายยิ่ง สุขพัฒน์ และนางแสวง เกลี้ยงสอาด เมื่อได้จดทะเบียนการซื้อขายถูกต้องตามกฎหมายแล้วโจทก์ให้เจ้าพนักงานรังวัดสอบเขตปรากฏว่าเนื้อที่ขาดหายไป 1 ไร่ 2 งาน โดยจำเลยทั้งสองรุกล้ำเข้ามาคนละ 2 งาน โจทก์รับซื้อไว้โดยสุจริต ไม่ทราบถึงการครอบครองรุกล้ำมาก่อน

ขอศาลบังคับให้จำเลยคืนที่ดินให้โจทก์ และให้จำเลยชดใช้จากการขาดผลประโยชน์ในที่ดินอีกคนละ 200 บาทต่อปี

จำเลยทั้งสองให้การใจความว่า การซื้อขายของโจทก์มิได้เป็นโดยสุจริต จำเลยครอบครองที่พิพาทมากว่า 21 ปี ก่อนโจทก์ซื้อก็ได้นำช่างแปนที่ไปรังวัดสอบเขตแล้ว

คดีมีการทำแผนที่และปูโฉนด ปรากฏว่าเขตโฉนด 3950 ของโจทก์ได้คลุมไปถึงที่ ๆ จำเลยครอบครองบางส่วน แต่โจทก์ไม่ได้เรียกร้องเอาเต็มตามเขตโฉนดทั้งหมด คงเรียกเอาคืนบางส่วน คือตามแนวเส้นเหลืองในแผนที่วิวาท

ศาลจังหวัดอ่างทองพิจารณาแล้วเชื่อว่า ขณะโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3950 จากนายยิ่งเจ้าของเดิมนั้น โจทก์รู้แล้วว่าที่ดินที่ซื้อขายมีแนวเขตเพียงแนวตาลนี้เท่านั้น และย่อมรู้ถึงการครอบครองของจำเลยในเนื้อที่ ๆ พ้นแนวต้นตาลตลอดไป ฉะนั้นเมื่อจำเลยครอบครองที่พิพาทมาเกิน 10 ปี จำเลยย่อมได้สิทธิในการครอบครองปรปักษ์ แม้โฉนดของโจทก์จะคลุมถึงบริเวณพิพาท โจทก์ก็ไม่มีสิทธิในบริเวณพิพาท พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังรวมใจความว่า เขตโฉนดของโจทก์ไม่แน่นอนเพราะเป็นโฉนดแบบเก่า ไม่มีหลักหมุด อาจคลาดเคลื่อนกับเนื้อที่ที่ครอบครองจากด้านใดก็ได้ และเมื่อราว พ.ศ. 2494 ได้มีการรังวัดที่พิพาทเพื่อแบ่งแยก เจ้าพนักงานรังวัดได้ทำการรังวัดตามเขตครอบครอง (ไม่ใช่ตามรูปแผนที่) มีการปักเขตตกลงยินยอมกันมีต้นตาลเป็นแนวเขต แต่การรังวัดคราวทำแผนที่พิพาทเป็นการรังวัดตามรูปแผนที่ไม่ใช่รังวัดตามเนื้อที่ที่ครอบครอง (ดังคราว พ.ศ. 2494) เนื้อที่ครอบครองก่อนรังวัดกับเนื้อที่ในโฉนดจึงไม่ตรงกัน ฉะนั้นจึงต้องถือกรรมสิทธิ์ตามแนวเขตที่ครอบครองเป็นหลัก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้ยกฟ้องโจทก์

ผู้พิพากษานายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า ควรให้โจทก์ชนะคดีในข้อเท็จจริงและในข้อกฎหมาย

โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตามฎีกา

ข้อ 2. ใจความว่า

ก. โจทก์ได้ซื้อที่ดินไว้ด้วยการโอนทะเบียนเสียค่าตอบแทนตามสมควรแก่ราคา ไม่ทราบว่ามีการรุกล้ำกันมาก่อน โจทก์ย่อมได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 จำเลยให้การแต่เพียงว่า การซื้อขายไม่สุจริต จำเลยครอบครองมา 21 ปี ก่อนการขายมีการสอบเขต ผู้ขายได้รังวัดสอบเขตแล้วดังนี้หน้าที่นำสืบพิสูจน์ข้อบกพร่องต้องตกอยู่แก่จำเลยมากกว่าโจทก์แม้ว่าจำเลยจะแถลงไม่รับรองแผนที่และไม่รับรองว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์

ข. คำให้การของจำเลยเคลือบคลุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ค. จำเลยอ้างพยานเข้ามาเมื่อโจทก์สืบพยานแล้ว โดยผิดหลักวิธีพิจารณา

ง.ไม่น่าจะมีเหตุอันควรระแวงสงสัยว่านายม้วนกำนันเบิกความเข้าข้างโจทก์

ข้อ 3. คำให้การของจำเลยลงวันที่ 2 มิถุนายน 2495 เคลือบคลุมคำแถลงของจำเลยในวันชี้สองสถานไม่ใช่คำให้การตามกฎหมาย

ข้อ 4. โจทก์ขอให้ถือเอาความเห็นแย้งในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งแห่งฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ของโจทก์ด้วย

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีเรื่องนี้แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เดิมทีนายยิ่ง สุขพัฒน์ และนางแสวง เกลี้ยงสอาด เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3950 เนื้อที่ 31 ไร่ 16 ตารางวาได้ขายให้โจทก์เป็นราคา 15,500 บาท โอนทะเบียนกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อมาโจทก์ให้เจ้าพนักงานไปสอบเขต ปรากฏว่าด้านตะวันตกที่ดินของโจทก์มีที่ดินของจำเลยทั้งสองอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์เป็นเนื้อที่รวม 1 ไร่เศษ

จำนวนที่ 1 ไร่เศษนี้ เมื่อคราวทำแผนที่วิวาท (อันดับ 15) เป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่ทางด้านตะวันตก โจทก์ว่าเป็นของโจทก์แต่ประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ภายในเส้นสีเหลืองและสีเขียว แต่จำเลยว่าเขตของจำเลยจดเส้นสีเขียวซึ่งเลยเส้นสีเหลืองไปทางทิศตะวันออกจนจดแนวต้นตาล ตามแนวเส้นสีเขียวนี้มีต้นตาลอายุอย่างน้อยประมาณ 30 ปี ขนาดทำตาลได้แล้วขึ้นอยู่ 10 ต้น ต่อจากต้นตาลมาทางทิศตะวันตกจนหมดเขตที่โจทก์ว่าเป็นของโจทก์เป็นป่าต้นข่อยต้นมะขามเทศแนวต้นตาลนี้เป็นแนวหมายสำคัญ เพราะโจทก์ว่าเขตโฉนดของโจทก์กินเนื้อที่จากแนวต้นตาลมาทางทิศตะวันตกจนจดเส้นสีเหลือง เนื้อที่ประมาณครึ่งไร่ ซึ่งเป็นป่าต้นข่อยต้นมะขามเทศ ฯ ไม่มีใครทำประโยชน์อะไร เลยเส้นสีเหลืองไปทางตะวันตกจนจดเส้นสีแดง เป็นเนื้อที่อยู่ในโฉนดเหมือนกันแต่โจทก์ไม่ได้เรียกร้องเอา โจทก์เรียกร้องเพียงระหว่างแนวต้นข่อยต้นมะขามเทศและแนวต้นตาล คือระหว่างเส้นสีเหลืองและเส้นสีเขียวส่วนจำเลยว่า เขตที่โจทก์ว่าเป็นของโจทก์นี้จำเลยครอบครองอยู่นานประมาณ 21 ปี คือครอบครองระหว่างเส้นสีเหลืองถึงเส้นสีเขียว

ตามรูปแผนที่ตามเนื้อที่ที่เจ้าพนักงานรังวัด โฉนดของโจทก์คลุมเนื้อที่ตลอดเส้นสีแดง กล่าวคือกินเขตเลยต้นตาลเส้นสีเขียวและเส้นสีเหลืองที่โจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์ ต่ออีกไปจนกระทั่งจดเส้นสีแดง

โฉนดของโจทก์เป็นโฉนดแบบเก่าไม่มีหลักหมุดปัก

คดีคงมีปัญหาเฉพาะเขตที่โจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์ตามแผนที่วิวาท คือแนวต้นตาลซึ่งเป็นเส้นสีเขียวไปทางตะวันตกจนจดแนวต้นข่อยต้นมะขามเทศ ซึ่งเป็นเส้นสีเหลือง ว่าจะเป็นของโจทก์หรือของจำเลย

ขั้นต้น ศาลฎีกา จะวินิจฉัยปัญหากฎหมายตามความเห็นแย้งของผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เสียก่อน

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ซื้อที่ดินตามโฉนดมาด้วยความสุจริตมิได้รู้ว่ามีการรุกล้ำกัน จำเลยเป็นเพียงผู้ครอบครองที่พิพาทไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์

จำเลยให้การว่า การซื้อขายของโจทก์หาเป็นไปโดยสุจริตไม่

จำเลยได้ครอบครองที่รายพิพาทมาเป็นเวลาประมาณ 21 ปีแล้วและก่อนจะมีการโอนขาย นายยิ่งนางแสวง (เจ้าของเดิม) ได้นำเจ้าพนักงานแผนที่ไปทำการรังวัดไว้ครั้งหนึ่งแล้ว

ตามที่โจทก์อ้างในฟ้องข้อ 2 ว่า หลังจากจดทะเบียนการซื้อขายแล้ว โจทก์ได้ให้เจ้าพนักงานไปรังวัดเขตที่ดินในโฉนดที่โจทก์ซื้อไว้นั้น เป็นเรื่องรังวัดก่อนฟ้องคดีนี้ แต่จำเลยก็ได้ยืนยันเขตติดต่อกันเป็นการถูกต้องแล้ว การอ้างเช่นนี้เป็นการกล่าวเอาเปรียบจำเลย โดยโจทก์มิได้นำเอาความจริงมากล่าว

ความเห็นแย้งว่า คำให้การของจำเลยว่า การซื้อขายไม่สุจริตเป็นคำให้การเคลือบคลุม เพราะจำเลยไม่ได้ให้การให้ชัดแจ้งว่าไม่สุจริตเพราะเหตุใด เหตุแห่งการไม่สุจริตมีหลายข้อหลายประการจำเลยจะอาศัยข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างแล้วนำพยานมาสืบปฏิเสธไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

นอกจากข้อที่จำเลยอ้างว่า โจทก์ไม่สุจริตนี้แล้ว จำเลยยังได้อ้างว่าเมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานไปรังวัดก่อนฟ้องคดีนี้ (รังวัดคือคราวที่โจทก์รู้ว่าเนื้อที่ขาดไปจากโฉนดที่โจทก์ซื้อมา) จำเลยก็ได้ยืนยันว่าเขตติดต่อกัน (คือแนวต้นตาล) เป็นอันถูกต้อง และก่อนหน้าโจทก์จะซื้อที่ดิน นายยิ่งนางแสวงเจ้าของเดิมได้นำเจ้าพนักงานไปรังวัดที่ดิน (พ.ศ. 2494) ครั้งหนึ่งแล้ว จำเลยได้ครอบครองที่พิพาทตลอดมาเป็นเวลา 21 ปี กล่าวคือได้ครอบครองที่พิพาทตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ จำเลยได้ครอบครองตามที่พิพาท (ตามแนวต้นตาลไปทางตะวันตก) ตลอดมาจนกระทั่งบัดนี้

ทั้งนี้เมื่อรวมคำให้การของจำเลยทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้วหมายความว่า จำเลยได้ครอบครองที่พิพาทตลอดมา และโจทก์ทราบการครอบครองของจำเลย เหตุแห่งการไม่สุจริตของโจทก์คือการที่โจทก์ทราบว่าจำเลยได้ครอบครองที่พิพาท โจทก์ได้ซื้อที่พิพาททั้ง ๆ ที่โจทก์ทราบว่าจำเลยครอบครองอยู่ อันเป็นเหตุแสดงว่าโจทก์ไม่สุจริต คำให้การของจำเลยจึงชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 แล้ว คือไม่เคลือบคลุม

ความเห็นแย้งว่า หน้าที่นำสืบควรตกแก่จำเลย เพราะ

1. โจทก์ว่า ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อที่ตามเนื้อที่ในหน้าโฉนดที่โจทก์ซื้อ และจำเลยให้การว่าได้ครอบครองที่พิพาทมา 21 ปี ซึ่งหมายความว่าจำเลยทราบแล้วว่าที่พิพาทเป็นเนื้อที่ในหน้าโฉนด และจำเลยมิได้ให้การปัดปฏิเสธว่าที่พิพาทอยู่นอกเนื้อที่ในหน้าโฉนด

2. การที่จำเลยได้แถลงวันชี้สองสถานว่า เนื้อที่ ๆ โจทก์ฟ้องไม่อยู่ในเขตโฉนดของโจทก์นั้น เป็นการแถลงแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การโดยไม่ได้ยื่นคำร้อง ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์นำสืบก่อน โดยถือว่าจำเลยปฏิเสธไม่รับรองเนื้อที่ตามหน้าโฉนด จึงเป็นข้อที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหากฎหมาย 2 ข้อนี้รวมกันไป

เรื่องนี้ข้อนำสืบนี้ โจทก์อ้างว่าที่พิพาทอยู่ในโฉนดของโจทก์ จำเลยเพียงแต่ให้การว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทมาเป็นเวลา 21 ปีแล้ว คำให้การของจำเลยยังไม่ชัดว่า จำเลยรับหรือไม่รับว่าที่พิพาทอยู่ในโฉนดของโจทก์ ฉะนั้นในวันชี้สองสถาน โจทก์รับรองว่าแผนที่พิพาทถูกต้อง ส่วนจำเลยปฏิเสธว่าไม่ถูก แผนที่พิพาทคือแผนที่ในหน้าโฉนดที่โจทก์ฟ้องนั้นเอง การที่จำเลยปฏิเสธว่าแผนที่ของโจทก์ไม่ถูกนั้น เป็นแต่คำอธิบายขยายความคำว่าที่พิพาทในคำให้การของจำเลย เพื่อแสดงว่าจำเลยได้ครอบครองที่พิพาทจริงแต่ที่พิพาทไม่อยู่ในโฉนดของโจทก์ คำแถลงต่อศาลเช่นนี้เป็นเพียงคำอธิบายความในคำให้การของจำเลยไม่ใช่คำให้การเพิ่มเติม ฉะนั้นหน้าที่นำสืบจึงตกอยู่แก่โจทก์ คำแถลงของจำเลยเป็นเพียงอธิบายความในคำให้การของจำเลย ไม่จำเป็นต้องทำเป็นคำร้อง เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 183 ให้อำนาจศาลที่จะฟังคำแถลงของคู่ความแล้วชี้ขาดตัดสินไปตามนั้นได้ คำแถลงของจำเลยต้องตามมาตรานี้ เป็นการชอบด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งแล้ว

ปัญหาต่อไปมีว่าแผนที่วิวาทจะถูกต้องหรือไม่นั้นเป็นที่เถียงกันอยู่ระหว่างคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และความเห็นแย้ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องความเห็นแย้งว่าถูกต้องแล้ว

แผนที่พิพาทนี้ตามคำนายสมยศพยานโจทก์และนายเมืองพยานจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ทำการรังวัดทั้งสองคนว่า ถูกต้องกับแผนที่ในโฉนด แต่เป็นแผนที่แบบเก่าไม่มีหยุดในการทำแผนที่วิวาทนี้นายสมยศอาศัยหมุดในบริเวณนั้นเป็นหลัก แผนที่แบบเก่าไม่มีหมุดนี้ นายสมยศพยานโจทก์และนายเมืองพยานจำเลยเบิกความต้องกันว่าอาจคลาดเคลื่อนได้ เมื่อแผนที่อาจคลาดเคลื่อนได้แล้วเนื้อที่ในโฉนดก็อาจคลาดเคลื่อนได้เช่นเดียวกัน ฉะนั้นจึงควรมีพยานบุคคลเข้าช่วยเป็นหลักฐานประกอบว่าแผนที่นั้นถูกต้องเพียงไร

นายสมยศเจ้าพนักงานรังวัดพยานโจทก์ว่า พยานรังวัดที่พิพาท 2 ครั้ง ๆ แรกราว พ.ศ. 2494 รังวัดเพื่อแบ่งแยก คือรังวัดตามเขตครอบครองไม่ใช่ตามเนื้อที่ในโฉนด มีการปักหลักตกลงยินยอมกันตามแนวเขตต้นตาล ต้นตาลนี้อยู่ทางด้านตะวันตกมีแนวเดียว นายยิ่งผู้ทำการขอแบ่งแยกชี้ว่า ต้นตาลเป็นแนวเขตที่ตนปกครองมาเจ้าพนักงานรังวัดจึงได้ปักหลักดังกล่าวมา แนวเขตต้นตาลนี้เป็นแนวเขตที่นายยิ่งชี้ก่อนกรณีพิพาท แต่ครั้นเมื่อเกิดกรณีพิพาทกันแล้ว นายยิ่งผู้ขายที่ให้โจทก์กลับชี้ว่าเขตที่นายยิ่งครอบครองมานั้นนับจากแนวต้นตาล (เส้นเขียว) ไปทางตะวันตกจนจดแนวต้นข่อยต้นมะขามเทศ (เส้นเหลือง) คำนายยิ่งจึงไม่อยู่แก่ร่องรอย ให้การเพื่อเป็นประโยชน์แก่โจทก์ เชื่อไม่ได้

นายยิ่งเองเบิกความในคดีนี้ว่า ตนเคยทำนามาเพียงแนวเขตต้นตาลและเคยให้จำเลยเช่าต้นตาลทำน้ำตาลและตนครอบครองจากแนวต้นตาลไปทางทิศตะวันตกจนจดแนวต้นข่อยต้นมะขามเทศ แต่นายเมือง มุสิกะพันธ์พยานจำเลยเบิกความว่า เมื่อโจทก์ซื้อที่นาจากนายยิ่งแล้วพยานไปทำการรังวัดสอบเขตเนื้อที่ในหน้าโฉนด โจทก์นำชี้เขตแนวต้นตาลพ้นต้นตาลไปเป็นที่ของจำเลย ทั้งโจทก์จำเลยยืนยันว่าต่างครอบครองมาแต่ต้นตาล แต่พอรังวัดเข้าพยานคำนวณเนื้อที่ปรากฏว่าที่ของโจทก์ขาดไปจากโฉนด โจทก์เลยไม่ยอม คือไม่ยอมว่าแนวต้นตาลเป็นเขต

ตามคำให้การของนายเมืองพยานจำเลย จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าโจทก์ โจทก์จำเลยต่างถือต้นตาลเป็นแนวเขต คือโจทก์ถือเอาแนวเขตต้นตาลที่นายยิ่งชี้ให้เมื่อนายยิ่งขายให้โจทก์ คำของนายเมืองพยานจำเลยจึงตรงกับคำของนายสมยศพยานโจทก์ฟังได้อย่างสนิทว่าโจทก์จำเลยต่างถือแนวต้นตาลเป็นเขต

ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์รู้แนวเขตต้นตาลมาจากนายยิ่ง ฉะนั้นเมื่อโจทก์ซื้อที่จากนายยิ่งทางด้านตะวันตกโจทก์จึงซื้อเพียงแนวต้นตาลตามที่นายยิ่งเจ้าของชี้ ไม่เลยไปถึงแนวต้นข่อยต้นมะขามเทศดังนายยิ่งเบิกความเมื่อโจทก์เรียกร้องเอาที่ดินจากจำเลยแล้วฉะนั้นเมื่อโจทก์ซื้อโจทก์จึงซื้อตามเขตที่นายยิ่งชี้ให้ คือตามแนวต้นตาล โจทก์จะเรียกร้องเอาเนื้อที่ตามหน้าโฉนดไม่ได้เพราะได้ความจากนายสมยศพยานโจทก์ และนายเมืองพยานจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานรังวัดทั้งสองคนว่า โฉนดของโจทก์เป็นรุ่นเก่า อาจมีการคลาดเคลื่อนในเนื้อที่ ๆ ปรากฏในโฉนดบ้างเมื่อสอบเขตกันจริง ๆ ฉะนั้นจะถือเอาเนื้อที่ในแผนที่วิวาทเป็นหลักแน่นอนไม่ได้

ความเห็นแย้งว่า จำเลยไม่มีประเด็นจะนำสืบในข้อที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่สุจริต ศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่าคำให้การของจำเลยว่าโจทก์ไม่สุจริตนั้นไม่เคลือบคลุม จำเลยนำสืบถึงความไม่สุจริตของโจทก์ได้

ความไม่สุจริตของโจทก์คืออะไรได้วินิจฉัยมาแล้วว่า ก่อนโจทก์จะซื้อ นายยิ่งเจ้าของเดิมได้ชี้เขตให้โจทก์ดูทางด้านตะวันตกนั้น นายยิ่งได้ครอบครองมาเพียงแนวเขตต้นตาล และเมื่อนายเมืองไปทำการรังวัดสอบเขตโจทก์เองก็ชี้แนวเขตต้นตาลว่าเป็นแนวเขตที่โจทก์ซื้อมาจากนายยิ่ง โจทก์จึงรู้ตั้งแต่ซื้อมาว่าโจทก์ซื้อที่ดินตามแนวเขตต้นตาลตามที่นายยิ่งครอบครองมา ไม่ใช่รวมทั้งเขตที่เลยไปทางด้านตะวันตกซึ่งเป็นแนวต้นข่อยและต้นมะขามเทศความไม่สุจริตของโจทก์คือจะรวมเอาเขตที่ดินทิศตะวันตกของแนวต้นตาลจนจดแนวต้นข่อยและต้นมะขามเทศมาเป็นเขตที่โจทก์ซื้อจากนายยิ่งด้วย ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อโจทก์ซื้อจากนายยิ่งนั้นนายยิ่งชี้เขตว่านายยิ่งครอบครองมาเพียงแนวต้นตาล โจทก์ก็พอใจหมายความว่านอกแนวต้นตาลไปทางตะวันตกนั้นโจทก์รู้ว่าไม่ใช่เป็นที่ ๆ นายยิ่งครอบครองมา จนกระทั่งเมื่อโจทก์สอบเขตตามเนื้อที่ในโฉนด นายเมืองผู้ทำการรังวัดคำนวณแล้วเห็นว่า เนื้อที่ในโฉนดของโจทก์กินเลยเขตต้นตาลออกไปทางตะวันตกจดแนวต้นข่อยและต้นมะขามเทศโจทก์จึงไม่ยอมถือเอาแนวต้นตาลเป็นเขตจะเอาเลยแนวต้นตาลไปทางตะวันตกแค่เส้นเขียว แต่ไม่ถึงแนวต้นข่อยและต้นมะขามเทศ เมื่อโจทก์ซื้อที่ทั้ง ๆ ที่โจทก์รู้ว่าผู้อื่น (คือจำเลย) ครอบครองที่ดินจากแนวต้นตาลไปทางตะวันตกแล้วก็ได้ชื่อว่าไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 แม้ว่าที่นั้นจะอยู่ในโฉนดก็ดีเมื่อโจทก์ไม่สุจริตแล้วโจทก์ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ อีกประการหนึ่งเฉพาะในคดีนี้ เนื้อที่ในโฉนดของโจทก์ไม่แน่นอนเนื่องจากเป็นโฉนดรุ่นเก่าไม่มีหมุด และโจทก์พอใจซื้อจากนายยิ่งเพียงแนวเขตต้นตาลเท่านั้น จึงต้องถือเอาเขตที่ต่างครอบครองกันมา คือถือแนวต้นตาลเป็นเขตระหว่างโจทก์จำเลย

ฎีกาของโจทก์ข้อ 2 ก. เรื่องที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ซื้อโฉนดที่ดินมาด้วยความสุจริตและข้อ 2 ข. เรื่องคำให้การของจำเลยจะเคลือบคลุมหรือไม่นั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น

ฎีกาข้อ 2 ค. ของโจทก์ที่ว่า จำเลยอ้างพยานเพิ่มเติมลงวันที่ 26 มิถุนายน 2496 ผิดหลักวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น ได้ความว่าทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมพยานเมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้วโดยอ้างว่าบกพร่อง ศาลชั้นต้นได้สั่งว่า เพื่อความยุติธรรม อนุญาตโจทก์คัดค้านว่าไม่ควรอนุญาต ความข้อนี้ดูแต่เหตุผลที่ทนายจำเลยอ้างแล้วน่าจะไม่พอที่จะให้อ้างพยานเพิ่มเติม เพราะคำร้องของทนายจำเลยอ้างแต่ความบกพร่องอย่างเดียว ไม่อธิบายความอื่นใดอีกซึ่งไม่น่าจะอนุญาตแต่อย่างไรก็ดีศาลชั้นต้นผู้พิจารณาคำร้องนี้เป็นผู้อยู่ใกล้ชิดกับกรณี อาจเห็นเหตุการณ์ดี จึงได้อนุญาต อ้างเพื่อความยุติธรรม เมื่อพิจารณาดูเรื่องตลอดแล้วศาลฎีกาเห็นว่ายังไม่ควรที่จะสั่งเป็นอย่างอื่น ฎีกาข้อ 2 ค. ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ฎีกาข้อ 2 ง. ของโจทก์ว่า ไม่ควรระแวงคำนายม้วน อนุสุวรรณ กำนัน ๆ ผู้นี้ให้การเป็นใจความสำคัญว่า นายยิ่งครอบครองจากแนวต้นตาลไปจดแนวต้นข่อยต้นมะขามเทศ นายยิ่งใช้ป่านี้ทำฟืน แต่ตัวนายยิ่งเองเบิกความว่าตนทำนาเพียงแนวเขตต้นตาล ต่อจากนั้นไปทางตะวันตกเป็นป่า ไม่มีใครทำ นายยิ่งมิได้ให้การว่าได้ไปตัดฟืนในป่านั้นมาใช้ คำของนายม้วนกำนันและนายยิ่งฟังไม่ลงรอยกัน เมื่อฟังว่านายยิ่งถือต้นตาลเป็นแนวเขต จึงฟังได้ต่อไปว่านายยิ่งไม่ได้ครอบครองที่ดินทางทิศตะวันตกของแนวต้นตาลที่เป็นป่า ดังคำให้การของนายม้วนกำนัน ศาลฎีกาไม่เชื่อคำนายม้วนกำนัน

ฎีกาข้อ 3. ของโจทก์ว่า คำให้การของจำเลยเคลือบคลุมและคำแถลงของจำเลยไม่ใช่คำให้การนั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาแล้วว่าคำให้การจำเลยชัดแจ้งไม่เคลือบคลุมและคำแถลงของจำเลยเป็นเพียงคำอธิบายไม่ใช่คำให้การเพิ่มเติม จึงไม่ต้องวินิจฉัยซ้ำ

ฎีกาข้อ 4. ของโจทก์ที่ขอให้ถือเอาความเห็นแย้งเป็นส่วนหนึ่งของฎีกานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 กล่าวว่าข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างอิงในฎีกานั้น คู่ความจะต้องกล่าวมาให้ชัดแจ้งในฎีกา ฎีกาข้อ 4. ของโจทก์ไม่ได้กล่าวข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นมาเลย ฉะนั้นศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ตามนัยฎีกาที่ 1640/2497 ระหว่างนายแม้น ศุขมาก โจทก์ นายบุตร์สุกก้อน กับพวก จำเลย

รวมความแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าแผนที่หน้าโฉนดของโจทก์เป็นแผนที่รุ่นเก่า ไม่มีหมุด ไม่แน่นอน โจทก์ซื้อด้านตะวันตกเพียงแนวต้นตาลตามที่นายยิ่งเจ้าของเดิมชี้ให้ โจทก์จะเรียกร้องที่ดินที่จำเลยครอบครองต่อจากแนวต้นตาลไปทางตะวันตกจดแนวต้นข่อยต้นมะขามเทศอีกไม่ได้ แม้จะอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์ เพราะถือว่าโจทก์ไม่สุจริตโดยโจทก์ทราบการครอบครองของจำเลยมาก่อนการซื้อขายและประกอบกับเขตโฉนดของโจทก์ไม่แน่นอนด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นให้ยก

พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้โจทก์เสียค่าทนายความชั้นศาลฎีกาเป็นเงินสำนวนละ 100 บาท แทนจำเลย

Share