แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่1ใช้คำว่าเคอนิก ซึ่งเป็นชื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่1เมื่อชื่อของจำเลยที่1ได้เพราะมีข้อตกลงระหว่างโจทก์ที่1และจำเลยที่2ให้จำเลยที่1ใช้ชื่อดังกล่าวได้ในระหว่างที่จำเลยที่2เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่2ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ที่1ดังนั้นเมื่อจำเลยที่2มิได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าดังกล่าวของจำเลยที่1แล้วจำเลยที่1ก็ไม่มีสิทธิใช้คำว่าเคอนิก(KOENIGX) เป็นชื่อของจำเลยที่1โดยชอบอีกต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่าKOENIG อ่านว่า เคอนิก พร้อมรูปมงกุฎตามสำเนาภาพถ่ายแบบรูปมงกุฎพร้อมคำว่า KOENIG เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้คิดประดิษฐ์ขึ้นเมื่อกลางปี 2531เพื่อใช้กับสินค้าประเภทขอบพลาสติกใช้กับเฟอร์นิเจอร์เช่น คิ้วปูพื้นกระเบื้องและจมูกบันไดทำด้วยพีวีซี และสินค้าอื่น ๆ ในจำพวกเดียวกัน จำเลยที่ 2 เคยเป็นพนักงานของบริษัทที่ขายเม็ดพลาสติกให้แก่โจทก์ที่ 2 ตั้งแต่ปี 2529 ต่อมากลางปี2532 จำเลยที่ 2 ต้องการประกอบธุรกิจส่วนตัวและขอให้โจทก์ที่ 1 ช่วยเหลือโจทก์ที่ 1 ตกลงให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจำพวกคิ้วกระเบื้องปูพื้น จมูกบันไดซึ่งทำด้วยพีวีซีที่โจทก์ที่ 2 ผลิตเพื่อจำหน่ายมาตั้งแต่ปลายปี 2531ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้เข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และแจ้งต่อโจทก์ที่ 1 ว่าจะขายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎแต่เพียงอย่างเดียว ขอให้โจทก์ที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 2ใช้คำว่าเคอนิกเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 พร้อมเสนอให้โจทก์ที่ 1เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ที่ 1 อนุญาตเช่นนั้นโดยแจ้งต่อจำเลยที่ 2 ว่า หากโจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 มิได้จำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎซึ่งผลิตโดยโจทก์ที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 ต้องเปลี่ยนชื่อเป็นชื่ออื่น ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม 2532จำเลยที่ 1 ได้ยื่นขอจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเคอนิก จำกัดและหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองได้ติดต่อทำการค้ากับโจทก์ทั้งสองตลอดมาโดยจำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าคิ้วปูพื้นกระเบื้องและจมูกบันไดซึ่งมีเครื่องหมายการค้า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎจากโจทก์ทั้งสองไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทย ต่อมาประมาณปลายปี 2534 โจทก์ที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 2 สั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจากบริษัทอื่น โจทก์ทั้งสองจึงตกลงกับจำเลยที่ 1 ยุติการซื้อขายสินค้าต่อกันตั้งแต่ปี 2535 และโจทก์ที่ 1 ได้ออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อเป็นชื่ออื่นที่ไม่มีคำว่าเคอนิกแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎต่อกองทะเบียนเครื่องหมายการค้ากรมทรัพย์สินทางปัญหา ในสินค้าจำพวกที่ 50 เมื่อต้นปี 2535โจทก์ทั้งสองจึงทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎในสินค้าจำพวกที่ 18 ได้แก่ประตูทุกชนิดหน้าต่างทุกชนิด ที่ตักผง เป็นต้นตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 211734 ซึ่งนายทะเบียนได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ทะเบียนเลขที่ 154054 นอกจากนี้แล้วจำเลยที่ 1ยังไม่ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวก 17 ได้แก่ กาบกล้วยพลาสติกและคิ้วพลาสติก เพื่อการก่อสร้างหรือการตกแต่งจมูกบันได ราวบันได เป็นต้น ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 211733 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ที่ 1 อีกด้วยการที่จำเลยที่ 1 ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่าKOENIG พร้อมรูปมงกุฎโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ที่ 1เช่นนั้นเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 และการที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีเจตนาไม่สุจริตประสงค์จะให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าKOENIG พร้อมรูปมงกุฎเป็นสินค้าของจำเลยที่ 1 และเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายขอให้พิพากษาว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎ และมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยทั้งสอง ห้ามจำเลยทั้งสองใช้หรือเข้าเกี่ยวข้องใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าดังกล่าว หรือเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 211734 ทะเบียนเลขที่ 154054 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองให้จำเลยที่ 1 โอนสิทธิในคำขอเลขที่ 211733 แก่โจทก์ที่ 1และให้ถอนการใช้คำว่าเคอนิกเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัท ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กระทรวงพาณิชย์ กรุงเทพมหานคร หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎจำเลยที่ 2 เป็นผู้เลือกคำว่า KOENIG อ่านว่า เคอนิก ซึ่งเป็นภาษาเยอรมันแปลว่าพระมหากษัตริย์จากหนังสือแคตตาล็อกอุปกรณ์ก่อสร้าง REHAU มาใช้เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ว่า “บริษัทเคอนิกจำกัด” และเขียนเป็นภาษาต่างประเทศว่า KOENIG COMPANY LIMITEDตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2532 เป็นต้นมาพร้อมกับใช้คำว่า KOENIGเป็นเครื่องหมายการค้ากับสินค้าของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2เห็นว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสมควรมีรูปมงกุฎรวมอยู่ด้วยและได้ร่วมกับนายเฮนรี่ แน๊กส์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นช่วยกันออกแบบรูปมงกุฎหลายแบบ ในที่สุดจำเลยที่ 1 เลือกรูปมงกุฎรูปหนึ่งมาใช้ร่วมกับคำว่าKOENIGและนำไปยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์2534 จำนวน 2 คำขอ คือคำขอเลขที่ 211733 สำหรับสินค้าจำพวก17 และคำขอเลขที่ 211734 สำหรับสินค้าจำพวก 18 ซึ่งคำขอเลขที่211734 ได้รับการจดทะเบียนเรียบร้อยแล้วตามทะเบียนเลขที่ 154054จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎใช้กับสินค้าของจำเลยที่ 2 ก่อนโจทก์ทั้งสอง จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎดีกว่าโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่ได้ใช้คำว่า เคอนิก เป็นชื่อบริษัทหรือชื่อนิติบุคคลอื่นใด ทั้งไม่ได้ใช้คำดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าด้วยโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนการใช้คำว่า เคอนิก เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2534โจทก์ที่ 1 โดยเจตนาไม่สุจริตได้ลอบเอาเครื่องหมายการค้าคำว่าKOENIG พร้อมรูปมงกุฎไปยื่นขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 213835สำหรับสินค้าในจำพวก 50 คำขอเลขที่ 228525 สำหรับสินค้าในจำพวก20 และคำขอเลขที่ 228526 สำหรับสินค้าในจำพวก 19 โดยได้รับจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 213835 เป็นทะเบียนเลขที่ 154673 การที่โจทก์ทั้งสองลอบนำเครื่องหมายการค้าคำว่า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎไปยื่นขอจดทะเบียนและนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปใช้กับสินค้าของโจทก์ที่ 2 ทำให้สาธารณชนเกิดสับสนหลงผิดเข้าใจว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎของโจทก์ที่ 2 เป็นของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอยู่ด้วยอันเป็นการลวงขายและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าจำเลยที่ 1มีสิทธิใช้คำว่า เคอนิก เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 1มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎดีกว่าโจทก์ทั้งสอง ห้ามโจทก์ทั้งสองใช้หรือเข้าเกี่ยวข้องใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าคำว่า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎหรือเครื่องหมายการค้าอื่นที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวอีกต่อไปให้โจทก์ที่ 1 ถอนคำขอเลขที่ 213835, 228525 และ 228526 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 1และให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นรายเดือนเดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสองจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎกับสินค้าของโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของและผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าโจทก์ทั้งสองการที่จำเลยทั้งสองนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใช้กับสินค้าของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสองและไม่มีสิทธิขอให้โจทก์ทั้งสองถอนคำขอจดทะเบียนและเลิกใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 213835, 228525 และ 228526กับสินค้าของโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า KOENIG (เคอนิก) พร้อมรูปมงกุฎดีกว่าจำเลยทั้งสองให้จำเลยทั้งสองถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 211733และให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 154054 กับให้เปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 ที่มีคำว่า KOENIG (เคอนิก) ออกหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ห้ามจำเลยทั้งสองใช้หรือเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวอีกต่อไปคำขออื่นตามฟ้องและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองให้ยก
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์ที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยโจทก์ที่ 1 และนายเฮนรี่ แน๊กส์ เป็นกรรมการของโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1เดิมจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อว่าบริษัทแอดด้า จำกัด ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเคอนิก จำกัด เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2532 โจทก์ที่ 2ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2527 และได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับพลาสติกเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2527 ตามสำเนาใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเอกสารหมาย จ.3 โจทก์ที่ 2 ผลิตผลิตภัณฑ์พีวีซีต่าง ๆ ออกจำหน่ายตั้งแต่ปี 2528 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎสำหรับสินค้าจำพวก 18 ตามคำขอเลขที่ 211734 ทะเบียนเลขที่ 154054 และขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวก 17 ตามคำขอเลขที่ 211733 ก่อนโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าจำพวก 50 ตามคำขอเลขที่ 213835 ทะเบียนเลขที่ 154673 และขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามคำขอเลขที่ 228525 และ 228526
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า KOENIGอ่านว่า เคอนิก พร้อมรูปมงกุฎดีกว่าโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ทั้งสองมีนายเฮนรี่สามีโจทก์ที่ 1 และนายรวยพรเบิกความเป็นพยานสอดคล้องต้องกันกับโจทก์ที่ 1 โดยนายเฮนรี่ได้เบิกความถึงความเป็นมาของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวที่นายเฮนรี่คิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผลด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 คงมีตัวจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานลอย ๆ ว่า ในการเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 จากบริษัทแอดด้า จำกัดเป็นบริษัทเคอนิก จำกัด นั้น ได้หารือกันในระหว่างโจทก์ที่ 1นายเฮนรี่และจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นผู้เสนอชื่อเคอนิกเนื่องจากจำเลยที่ 2 เดินทางไปต่างประเทศไทยพบเห็นชื่อเคอนิกใช้กันแพร่หลาย และในอักษรโรมันคำว่า เคอนิก เขียนว่า KONIGซึ่งจุดสองจุดบนอักษรตัว “O” นั้น หมายความถึงอักษรตัว “E”หลังจากจำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเคอนิก จำกัด ในปี2532 แล้วจำเลยที่ 2 ได้เห็นรูปมงกุฎในหนังสือแคตตาล็อกอุปกรณ์ก่อสร้างของบริษัทเรฮาว จำกัด ตามเอกสารหมาย ล.9 ซึ่งจำเลยที่ 2ถูกใจมากและคิดที่จะใช้มงกุฎเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้ขอให้นายเฮนรี่ออกแบบรูปมงกุฎโดยมีชื่อจำเลยที่ 1 ไว้ด้วย ให้นายเฮนรี่ออกแบบรูปมงกุฎส่งมาให้หลายรูปจำเลยที่ 2 ถูกใจเพียงรูปเดียวซึ่งมีคำว่าเคอนิก คอมปานี ลิมิเต็ด อยู่ด้วย แต่ขอให้นายเฮนรี่ตัดคำว่าคอมปานี ลิมิเต็ด ออกพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองในข้อนี้มีเพียงคำเบิกความลอย ๆ ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎและแม้ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า KOENIG พร้อมรูปมงกุฎก่อนโจทก์ที่ 1 ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีไปกว่าโจทก์ที่ 1แต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยที่ 2
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิใช้คำว่า เคอนิก (KOENIG) เป็นชื่อของจำเลยที่ 1โดยชอบหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้ตกลงกับจำเลยที่ 2 เมื่อกลางปี 2532 ให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ 2 ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่าKOENIG อ่านว่า เคอนิก พร้อมรูปมงกุฎของโจทก์ที่ 1 ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว หากจำเลยที่ 2 นำสินค้าชนิดเดียวกันของผู้อื่นมาจำหน่ายก็จะยกเลิกไม่ให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าดังกล่าวอีกต่อไป จำเลยที่ 2 หาบริษัทจำกัดคือจำเลยที่ 1 ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อว่าบริษัทแอดด้า จำกัด มาจำหน่ายสินค้าดังกล่าว จำเลยที่ 2ขอเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทเคอนิก จำกัด เพื่อให้สอดคล้องกับเครื่องหมายการค้าของสินค้าที่จำเลยที่ 1 จะเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยตกลงให้โจทก์ที่ 1 และนายเฮนรี่สามีโจทก์ที่ 1 เข้าเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ด้วย หากจำเลยที่ 2 ไม่ได้จำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จะต้องเลิกใช้คำว่า เคอนิกเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 กับนายเฮนรี่ จะถอนตัวจากการเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 หลังจากตกลงกันเช่นนั้นแล้วก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทเคอนิก จำกัดและโจทก์ที่ 1 กับนายเฮนรี่เข้าเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าคิ้วพีวีซีและจมูกบันไดพีวีซีของโจทก์ที่ 2ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 มาจำหน่าย ต่อมาในปี2534 จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าจากบริษัทไทยเยอรมันพลาสติก จำกัดซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกันกับที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์ที่ 2 มาจำหน่าย เมื่อโจทก์ทั้งสองทราบเรื่อง โจทก์ที่ 1 จึงบอกยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ 2 แก่จำเลยที่ 2 และโจทก์ที่ 1กับนายเฮนรี่ได้ถอนตัวจากการเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ยังคงใช้ชื่อบริษัทเคอนิก จำกัด ต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้จึงเห็นได้ว่าการที่จำเลยที่ 1 ใช้คำว่าเคอนิก ซึ่งเป็นชื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ได้นั้น เป็นเพราะมีข้อตกลงดังกล่าวระหว่างโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อดังกล่าวได้ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ 2 ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2มิได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิใช้คำว่า เคอนิก (KOENIG) เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 โดยชอบอีกต่อไป
พิพากษายืน