คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อาศัยมูลคดีอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์มาฟ้องจำเลยให้รับผิดทางแพ่งฐานละเมิด จึงเป็นฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้โจทก์เคยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในความผิดฐานบุกรุกและฐานทำให้เสียทรัพย์ พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าวมาแล้ว ก็ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการดังกล่าว มีผลกระทบกระเทือนถึงอายุความในการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาของผู้เสียหายแต่อย่างใด เมื่อมูลคดีนี้ไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทางอาญา กรณีจึงต้องนำ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง มาใช้บังคับ มิใช่ถือเอาอายุความ 1 ปี ฐานละเมิดตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๒๑๕,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนเริ่มต้นสืบพยาน จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ และขอให้ศาลชั้นต้นเรียกสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๗๗๐๓/๒๕๔๑ มาผูกรวมกับสำนวนคดีนี้ ต่อมาในวันนัดสืบพยานโจทก์ศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์แล้ว โจทก์แถลงยอมรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นในมูลคดีเดียวกันนี้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี เนื่องจากโจทก์ขาดนัดพิจารณาตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๗๗๐๓/๒๕๔๑ ของศาลชั้นต้น และมูลคดีนี้โจทก์เคยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องแล้ว และหลังจากนั้นโจทก์ก็มิได้ยื่นฟ้องคดีอาญาด้วยตนเอง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วยกปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอายุความขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔ โดยวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ และพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๓ ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยกล่าวหาว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญาโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อศาลและเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า โจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๑๗๗๙/๒๕๓๖ ของศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการรื้อรั้วบ้านโจทก์และนำชี้ว่ารั้วบ้านโจทก์ด้านที่ติดกับบ้านเลขที่ ๑๔๒/๑ คือรั้วพิพาทตามหมายบังคับคดีในคดีแพ่งดังกล่าว และจำเลยได้สั่งให้คนงานทำการรื้อถอนทำลายแนวรั้วของโจทก์ดังกล่าว ทำให้โจทก์เสียหายโดยจำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่า ความจริงโจทก์ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวไปครบถ้วนแล้ว ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยกระทำความผิดทางอาญาฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและฐานทำให้เสียทรัพย์รวมกันมา ความเสียหายที่รั้วบ้านโจทก์ถูกรื้อถอนทำลายเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการกระทำความผิดทางอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์ของจำเลย โจทก์จึงอาศัยมูลคดีอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยให้รับผิดทางแพ่งฐานละเมิดได้ ทั้งนี้โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่า ความเสียหายของโจทก์เป็นผลเกิดจากการกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยด้วยหรือไม่ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้จะปรากฏตามคำแถลงรับของโจทก์ว่ามูลคดีอาญาดังกล่าวโจทก์เคยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในความผิดฐานบุกรุกและฐานทำให้เสียทรัพย์ พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าวมาแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการดังกล่าว มีผลกระทบกระเทือนถึงอายุความในการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาของผู้เสียหายแต่อย่างใด เมื่อคดีฟังได้ว่า มูลคดีนี้ไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทางอาญา กรณีจึงต้องนำ ป.วิ.อ. มาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๘ วรรคสอง มาใช้บังคับ มิใช่ถือเอาอายุความ ๑ ปี ฐานละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย…
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไป แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.

Share