แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นพนักงาน ต่อมาจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นพนักงานจริง แต่มิได้เลิกจ้างหรือถอดถอนโจทก์จากการเป็นพนักงาน เห็นได้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การว่าโจทก์มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า “ให้รอไว้สอบโจทก์ในวันนัด” แต่หลังจากนั้นจนถึงวันที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษา ศาลแรงงานกลางมิได้สั่งคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด กรณีถือไม่ได้ว่าศาลแรงงานกลางอนุญาตให้แก้ไขคำให้การตามคำร้องดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามชำระค่าชดเชย 583,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 58,300 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 58,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 และพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2539 โจทก์และนายยิ่งพันธ์ สามีโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น สามีโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และโจทก์ยังเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ได้รับเงินเดือน เดือนละ 58,300 บาท ต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทโดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพี่สาวของนายยิ่งพันธ์เป็นกรรมการมีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับนายยิ่งพันธ์กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ วันที่ 25 พฤษภาคม 2548 นายยิ่งพันธ์ถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2548 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทโดยมีโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการ กรรมการสองในสามคนลงชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยที่ 1 ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2553 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากมีมติปลดโจทก์จากการเป็นกรรมการไม่ให้มีอำนาจจัดการแทนจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการลงลายมือชื่อร่วมกันกระทำการแทนบริษัท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นกรรมการบริษัทไม่อยู่ในฐานะลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปลายปี 2539 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์เป็นพนักงาน ต่อมากลางปี 2548 จำเลยที่ 1 แต่งตั้งโจทก์ให้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 และเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เลิกจ้างโจทก์และให้โจทก์พ้นจากการทำหน้าที่กรรมการผู้จัดการ ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การว่า ในปี 2539 จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นพนักงานจริง เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติโดยคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นข้างมากให้ถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่มิได้เลิกจ้างหรือถอดถอนออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 และยังคงจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ตามปกติ โจทก์กลับละทิ้งหรือขาดงานเป็นเวลาเกินกว่า 3 วัน ติดต่อกันโดยมิได้ลา จึงเห็นได้แจ้งชัดว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 โดยจ่ายเงินเดือนให้ตามปกติ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การว่า โจทก์มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 นั้น ศาลแรงงานกลางสั่งว่า “ให้รอไว้สอบโจทก์ในวันนัด” แต่หลังจากนั้นจนถึงวันที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษา ศาลแรงงานกลางมิได้สั่งคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด กรณีถือไม่ได้ว่าศาลแรงงานกลางอนุญาตให้แก้ไขคำให้การตามคำร้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดีอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น แต่ตามประเด็นข้อพิพาทที่ศาลแรงงานกลางกำหนดไว้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัย จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทที่ได้กำหนดไว้เสียก่อนแล้วพิพากษาใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้วให้พิพากษาใหม่ตามรูปคดี