คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10188/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 47 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดระยะเวลาให้ผู้ประกันตนเรียกเอาเงินสมทบที่นายจ้างส่งให้แก่สำนักงานประกันสังคมเกินจำนวนที่ต้องชำระคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นำส่งเงินสมทบหรือภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งให้มารับคืนนั้น เป็นกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิขอรับเงินสมทบที่นายจ้างนำส่งเกินจำนวนที่ต้องชำระคืนโดยเร็ว เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทำงานกับนายจ้าง 2 ราย โดยนายจ้างทั้งสองรายต่างหักค่าจ้างของโจทก์นำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนให้แก่จำเลยเกินจำนวนที่โจทก์ต้องชำระ และจำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์มารับเงินคืน ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทราบมาก่อนว่าเงินสมทบที่นายจ้างทั้งสองนำส่งให้แก่จำเลยเกินจำนวนที่โจทก์ต้องชำระ ต้องถือว่าโจทก์เพิ่งทราบว่านายจ้างทั้งสองนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนเกินในวันที่โจทก์ยื่นคำขอรับเงินที่เกินนั้น อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินส่วนของผู้ประกันตนที่นายจ้างนำส่งเกินคืนภายในกำหนด 1 ปี ตามนัยแห่งบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว เงินนั้นยังไม่ตกเป็นของกองทุนประกันสังคม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ รง 0628/18355 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 1073/2549 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2549 ของจำเลย ให้จำเลยจ่ายเงินสมทบ 3,000 บาท คืนโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 6 ที่ รง 0628/18355 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 1073/2549 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2549 ให้จำเลยคืนเงินสมทบที่ชำระเกินของเดือนมกราคมถึงเมษายน 2548 จำนวน 3,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทไทยรุ่งยูเนียนคาร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทไทยอัลติเมทคาร์ จำกัด ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2547 นายจ้างทั้งสองรายได้หักค่าจ้างของโจทก์นำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของโจทก์เดือนละ 750 บาท ส่งให้แก่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 6 ทุกเดือน แต่ตามกฎหมายโจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบไม่เกินเดือนละ 750 บาท ไม่ว่าจะทำงานกับนายจ้างกี่รายก็ตาม โจทก์จึงถูกหักค่าจ้างนำส่งเป็นเงินสมทบเกินไปเดือนละ 750 บาท เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 โจทก์จึงยื่นคำร้องขอรับเงินในส่วนที่เกินของเดือนมกราคมถึงธันวาคม 2548 รวมเป็นเงิน 9,000 บาท สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 6 มีคำสั่งที่ รง 0628/18355 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 คืนเงินให้แก่โจทก์เพียง 6,000 บาท ส่วนเงินสมทบส่วนเกินของเดือนมกราคมถึงเมษายน 2548 เป็นเงิน 3,000 บาท โจทก์ขอคืนเกิน 1 ปี นับแต่วันที่นำส่งเงินสมทบ จึงไม่คืนให้ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ 1073/2549 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2549 ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ แล้ววินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 47 วรรคสี่ กำหนดหน้าที่ให้จำเลยแจ้งแก่นายจ้างหรือผู้ประกันตนมารับเงินที่ชำระเกินไว้โดยปริยาย เมื่อจำเลยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบจึงไม่อาจถือเอาประโยชน์จากเงินดังกล่าว จำเลยต้องคืนเงินสมทบที่รับไว้เกินแก่โจทก์
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยจะต้องคืนเงินสมทบส่วนเกินของเดือนมกราคมถึงเมษายน 2548 เป็นเงิน 3,000 บาท แก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอรับเงินสมทบส่วนเกินดังกล่าวคืนภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่นำส่งเงินสมทบ เงินสมทบดังกล่าวจึงตกเป็นของกองทุนประกันสังคม ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 47 วรรคสี่ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 47 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดระยะเวลาให้ผู้ประกันตนเรียกเอาเงินสมทบที่นายจ้างส่งให้แก่สำนักงานประกันสังคมเกินจำนวนที่ต้องชำระคืนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นำส่งเงินสมทบหรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งให้มารับคืนนั้น เป็นกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิขอรับเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนที่นายจ้างเป็นผู้นำส่งให้แก่สำนักงานประกันสังคมเกินจำนวนที่ต้องชำระคืนโดยเร็ว ผู้ประกันตนจึงต้องได้ทราบว่านายจ้างนำส่งเงินสมทบดังกล่าวเกินจำนวนที่ต้องชำระด้วยหรือผู้ประกันตนต้องได้รับแจ้งให้มารับเงินนั้นเมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทำงานกับนายจ้าง 2 ราย โดยนายจ้างทั้งสองรายต่างหักค่าจ้างของโจทก์นำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนให้แก่จำเลยเกินจำนวนที่โจทก์ต้องชำระ เมื่อจำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์มารับเงินคืน ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทราบมาก่อนว่าเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนที่นายจ้างทั้งสองนำส่งให้แก่สำนักงานประกันสังคมเกินจำนวนที่โจทก์ต้องชำระ จึงต้องถือว่าโจทก์เพิ่งทราบว่านายจ้างทั้งสองนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนเกินในวันที่โจทก์ยื่นขอรับเงินที่เกินนั้น อันเป็นการใช้สิทธิเรียกเอาเงินส่วนของผู้ประกันตนที่นายจ้างนำส่งเกินคืนภายในกำหนดหนึ่งปีตามนัยแห่งบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว เงินนั้นยังไม่ตกเป็นของกองทุนประกันสังคม จำเลยต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share