คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3843/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่และให้จำเลยทั้งสี่รับผิดทางแพ่งซึ่งมีมูลกระทำความผิดในทางอาญา ถือเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญารวมกันมากับคดีอาญา ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 40 จำเลยทั้งสี่จึงมีฐานะเป็นจำเลยในคดีตั้งแต่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น และถือว่าคดีส่วนแพ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 และในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกไปจากที่ดินพิพาท หากไม่ออกไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยให้โจทก์รื้อถอนพืชไร่และสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งสี่ปลูกไว้ได้เอง อันเป็นฟ้องในเรื่องเดียวกันกับคดีส่วนแพ่งที่โจทก์ฟ้องรวมกันมาในคดีอาญาดังกล่าว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาดังกล่าว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่พร้อมทั้งบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท และห้ามจำเลยทั้งสี่พร้อมทั้งบริวารเข้ามายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทอีกต่อไป หากจำเลยทั้งสี่พร้อมทั้งบริวารไม่ยอมออก ขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ โดยให้โจทก์รื้อถอนพืชไร่และสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งสี่ปลูกไว้ในที่ดินพิพาทได้ทันที
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทตั้งอยู่หมู่ที่ 19 ตำบลวังกระทะ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 57 ไร่ 3 งาน 37 ตารางวา เป็นของนิคมสร้างตนเองลำตะคอง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (เดิม กรมประชาสงเคราะห์) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้อนุญาตให้กองทัพบกโดยกองพันรบพิเศษปากช่อง ศูนย์สงครามพิเศษ (ค่ายหนองตะกู) เป็นผู้ใช้ประโยชน์ โจทก์ในฐานะตัวแทนของญาติพี่น้องประมาณ 10 ครอบครัว ได้รับการจัดสรรที่ดินพิพาทเพื่อทำกินจากกองพันรบพิเศษปากช่อง ศูนย์สงครามพิเศษ (ค่ายหนองตะกู) ตามหนังสือสัญญาการส่งมอบพื้นที่ทำกินพร้อมแบบสำรวจขอบเขตที่ดิน ส่วนจำเลยทั้งสี่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินเนื้อที่ 100 ไร่ 2 งาน 38 ตารางวา ตามรูปแสดงขอบเขตที่ดิน และจำเลยทั้งสี่ยังคงเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททำให้โจทก์และครอบครัวสามารถเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้เฉพาะบางส่วน วันที่ 22 สิงหาคม 2556 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่และนางบุญช่วย เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 623/2557 หมายเลขแดงที่ 2883/2557 ของศาลชั้นต้น ในข้อหาบุกรุกและยักย้ายทำลายหลักเขตที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีคำขอในส่วนแพ่ง ให้จำเลยทั้งสี่และนางบุญช่วยขุดรื้อถอนต้นมันสำปะหลังทั้งหมดออกไปจากที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองทั้งแปลง หากไม่ขุดรื้อถอนต้นมันสำปะหลังดังกล่าวออกไป ขอให้ถือว่าต้นมันสำปะหลังและผลผลิตทั้งหมดตกเป็นของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสี่และนางบุญช่วยพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าวและห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป ทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่และนางบุญช่วยและบริวารจะออกไปจากที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2557 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ ต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2558 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษายืน ตามสำเนาคำฟ้องสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นและสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 623/2557 หมายเลขแดงที่ 2883/2557 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2883/2557 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่กับนางบุญช่วยขุดรื้อถอนต้นมันสำปะหลังทั้งหมดออกไปจากที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง หากจำเลยทั้งสี่กับนางบุญช่วยไม่ดำเนินการให้ถือว่าต้นมันสำปะหลังและผลผลิตทั้งหมดตกเป็นของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสี่กับนางบุญช่วยและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าวและห้ามเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไปและให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนั้น เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่และให้จำเลยทั้งสี่รับผิดในทางแพ่งซึ่งมีมูลกระทำความผิดในทางอาญาถือเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญารวมกันมากับคดีอาญา ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 จำเลยทั้งสี่จึงมีฐานะเป็นจำเลยในคดีตั้งแต่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2883/2557 ต่อศาลชั้นต้น และถือว่าคดีส่วนแพ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง ซึ่งคำว่า อยู่ในระหว่างการพิจารณานั้น อาจอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ได้ ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2883/2557 ของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 และในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โจทก์ได้ฟ้องคดีนี้ ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ในคดีดังกล่าวของศาลชั้นต้นออกไปจากที่ดินพิพาท หากไม่ยอมออกไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยให้โจทก์สามารถรื้อถอนบรรดาพืชไร่และสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งสี่ปลูกไว้ได้เอง อันเป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกันกับคดีส่วนแพ่งที่โจทก์ฟ้องรวมมาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2883/2557 ของศาลชั้นต้น ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2883/2557 ของศาลชั้นต้น ย่อมต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share