คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6145/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

นายจ้างมีอำนาจที่จะกำหนดเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ในการจ่ายรางวัลพิเศษให้แก่ลูกจ้างเป็นอย่างไรก็ได้ จำเลยออกประกาศกำหนดการให้รางวัลพิเศษเพิ่มแก่พนักงานเพื่อตอบสนองในความร่วมมือของพนักงานที่ทำให้ประสบความสำเร็จ บริษัทฯ จึงเพิ่มรางวัลพิเศษให้แก่พนักงานเท่ากับ 0.8 เท่าของเงินเดือน โดยจะจ่ายให้ด้วยการโอนเข้าบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ของพนักงานในวันที่ 31 พฤษภาคม 2531มีความหมายว่า จำเลยจะจ่ายรางวัลพิเศษเพิ่มให้แก่ผู้ที่ยังเป็นพนักงานของจำเลยอยู่ในวันที่จำเลยใช้ประกาศดังกล่าวเท่านั้นและประกาศนี้ไม่ได้กำหนดให้มีผลถึงพนักงานที่ออกจากงานไปก่อนแล้วหรือใช้บังคับย้อนหลังไปถึงปี 2530 แม้จำเลยจะพิจารณาจ่ายรางวัลพิเศษเพิ่มจากผลงานในรอบปี 2530 ก็ไม่ทำให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเกษียณอายุพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยไปก่อนที่จำเลยจะประกาศใช้ประกาศดังกล่าวมีสิทธิได้รับรางวัลพิเศษเพิ่มจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองออกจากงานเพราะเกษียณอายุ จำเลยไม่จ่ายรางวัลพิเศษเพิ่มให้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายรางวัลพิเศษเพิ่มแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า ผู้มีสิทธิได้รับรางวัลพิเศษเพิ่มต้องเป็นพนักงานอยู่ในขณะมีการจ่าย โจทก์ทั้งสองเกษียณอายุไปก่อนที่จะมีการจ่ายรางวัลพิเศษเพิ่ม ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จ่ายเงินรางวัลพิเศษเพิ่มแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่าโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยโดยโจทก์ที่ 1เข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,487 บาท โจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2523ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,700 บาท ต่อมาวันที่ 31ธันวาคม 2530 โจทก์ทั้งสองออกจากงานเพราะครบเกษียณอายุในระหว่างที่โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยได้ประกาศให้รางวัลพิเศษแก่พนักงานโดยกำหนดให้พนักงานแต่ละระดับได้รับเงินรางวัลพิเศษต่าง ๆ กัน ปรากฏรายละเอียดตามประกาศของจำเลยสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2531 จำเลยได้ประกาศให้รางวัลพิเศษเพิ่มให้แก่พนักงานโดยกำหนดให้พนักงานได้รับเงินรางวัลพิเศษเท่ากับ 0.8 เท่าของเงินเดือน ปรากฏรายละเอียดตามประกาศของจำเลยสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เงินรางวัลพิเศษตามประกาศสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 นั้น จำเลยได้จ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองครบถ้วนไปแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับรางวัลพิเศษเพิ่มตามประกาศของจำเลย เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 หรือไม่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า รางวัลพิเศษเป็นบำเหน็จรางวัลซึ่งนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างมีอำนาจที่จะกำหนดเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ในการจ่ายให้แก่ลูกจ้างอย่างไรก็ได้ ตามประกาศของจำเลยกำหนดให้รางวัลพิเศษเพิ่มแก่พนักงานตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2ข้อความว่า “เพื่อตอบแทนในความร่วมมือของพนักงานที่ทำให้ประสบความสำเร็จ บริษัทฯ จึงเพิ่มรางวัลพิเศษให้แก่พนักงานเท่ากับ0.8 เท่าของเงินเดือน รางวัลพิเศษดังกล่าว ทางบริษัทฯ จะจ่ายให้ด้วยการโอนเข้าบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ของพนักงานในวันที่ 31พฤษภาคม 2531 ฯลฯ” นั้น เห็นได้ชัดว่า จำเลยประกาศให้รางวัลพิเศษเพิ่มแก่ผู้ที่ยังเป็นพนักงานของจำเลยในวันที่จำเลยประกาศใช้ประกาศดังกล่าวเพื่อเป็นกำลังใจแก่พนักงานของจำเลยที่ยังปฏิบัติงานอยู่ให้ปฏิบัติงานต่อไปภายหน้าด้วยความเข้มแข็งเป็นผลดีแก่จำเลยเท่านั้น ไม่มีข้อความใดที่จำเลยกำหนดให้มีผลถึงพนักงานซึ่งออกจากงานไปก่อนแล้ว ทั้งตามประกาศดังกล่าวก็มิได้กำหนดให้มีผลใช้บังคับย้อนหลังไปถึงปี 2530 แม้จำเลยจะพิจารณาจ่ายรางวัลพิเศษเพิ่มโดยถือจากผลงานในรอบปี 2530 ก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับประโยชน์จากประกาศของจำเลย เมื่อโจทก์ทั้งสองพ้นจากสถานะการเป็นพนักงานของจำเลยไปก่อนที่จำเลยจะประกาศใช้ประกาศตามสำเนาเอกสารหมายเลข 2 แล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิได้รับรางวัลพิเศษเพิ่มจากจำเลย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินรางวัลเพิ่มแก่โจทก์ทั้งสองนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share