คำสั่งคำร้องที่ 2384/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำแก้ฎีกาเมื่อวันที่24 พฤศจิกายน 2532 แต่ศาลชั้นต้นสั่งว่ายื่นเกินกำหนดนั้นเนื่องจากโจทก์เป็นผู้นำฎีกามามอบให้จำเลยที่ 1 โดยไม่มีคำสั่งศาลชั้นต้นกำหนดว่าให้ยื่นฎีกาภายในระยะเวลาเท่าไร ทนายจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจทราบกำหนดระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาได้ โปรดมีคำสั่งให้รับคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ด้วย
หมายเหตุ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วหรือไม่ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334,335,336 ทวิ,83 ฯลฯ จำคุกคนละ 4 ปี 6 เดือน ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยทั้งสองไว้ในระหว่างฎีกา
โจทก์ฎีกา (อันดับ 96)
จำเลยที่ 1 รับสำเนาฎีกาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2532(อันดับ 96)
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องดังกล่าว (อันดับ 99)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 1 รับว่า จำเลยที่ 1 ได้รับฎีกาของโจทก์ไว้โดยโจทก์เป็นผู้นำมามอบให้จำเลยที่ 1 เองในต้นฉบับฎีกาของโจทก์ก็ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับสำเนาฎีกาของโจทก์ไปในวันที่ 6 ตุลาคม 2532 จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับสำเนาฎีกาโจทก์ไปโดยชอบแล้วตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2532 ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องยื่นคำแก้ฎีกาโจทก์ภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันรับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 200 ประกอบกับมาตรา 225 จำเลยที่ 1 มายื่นคำแก้ฎีกาในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2533 จึงเกินกำหนดเวลาที่จะยื่นข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 อ่านหนังสือไม่ออกไม่รู้ว่าจะต้องแก้ฎีกาภายในกำหนดหรือไม่มีหมายศาลสั่งให้แก้ฎีกาภายในกำหนดระยะเวลาเท่าไรนั้นฟังไม่ขึ้นจึงไม่รับคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 แต่ให้รับไว้ในฐานะเป็นคำแถลงการณ์สำเนาให้โจทก์

Share