คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6502/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง หมายถึงการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายถึงการที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป ซึ่งการไม่จ่ายค่าจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าว มิได้หมายความว่าจะต้องถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนแล้วนายจ้างไม่จ่ายให้ หากมีพฤติการณ์ที่แสดงออกโดยแน่ชัดว่าจะไม่จ่ายค่าจ้างก็ถือได้ว่ามีการเลิกจ้างแล้วตั้งแต่วันที่ไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงาน เมื่อมีข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีเจตนาหรือแสดงออกโดยพฤติการณ์ว่าจะไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ซึ่งไม่ได้เข้าทำงานด้วยหรือไม่ เพื่อวินิจฉัยในปัญหาจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 53 แล้วหรือไม่ ซึ่งศาลแรงงานยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาจึงให้ศาลแรงงานวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นเสียก่อนแล้วพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดี

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสิบสามสำนวนศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 3460/2540 โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 54 แต่คดีดังกล่าวไม่มีการอุทธรณ์จึงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีทั้งห้าสิบสำนวนนี้
โจทก์ทั้งห้าสิบสี่สำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งจำหน่ายต่างประเทศ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ระหว่างวันที่ 6 เมษายน 2530ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2539 จำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบสี่เข้าทำงานในหน้าที่ต่าง ๆ ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2539 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบสี่โดยโจทก์ทั้งห้าสิบสี่ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายโจทก์ทั้งห้าสิบสี่ไม่ได้ทำความเสียหายให้แก่จำเลย จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามอายุงานสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างค้าง ทั้งจำเลยต้องคืนเงินประกันการทำงาน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างค้างพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะจ่ายเงินเสร็จ กับดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันผิดนัดสำหรับค่าจ้างค้างจนกว่าจะจ่ายเงินเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้าสิบสี่ กับให้ร่วมกันจ่ายเงินประกันความเสียหายคืนโจทก์แต่ละคนด้วย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ทั้งห้าสิบสี่สำนวนให้การว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวจำเลยที่ 1 เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2539 โดยในปีจดทะเบียน พ.ศ. 2537 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2539 จำเลยที่ 1ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ โจทก์รายที่อ้างว่าเข้าทำงานกับจำเลยก่อนวันที่ 13 มีนาคม 2539 จึงไม่ถูกต้อง ในวันที่ 13 ธันวาคม2539 จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบสี่ ตรงกันข้ามพนักงานร่วมกันหยุดงานทำให้จำเลยที่ 1 เกิดความเสียหายในการส่งออก จำเลยที่ 1 ไม่เคยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบสี่โดยโจทก์ทั้งห้าสิบสี่ทราบอย่างดีอยู่แล้วว่า กำหนดจ่ายค่าจ้างคือทุกวนที่ 5 และวันที่ 20 ของเดือน ซึ่งโจทก์ทั้งห้าสิบสี่ได้รับค่าจ้างไปตามกำหนดดังกล่าวแล้ว แต่ยังเจตนานำความเท็จมาฟ้องศาล จำเลยที่ 1 ไม่เคยค้างค่าจ้าง และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่เคยรับเงินประกันใด ๆ จากโจทก์ทั้งห้าสิบสี่ ทั้งไม่เคยได้รับการทวงถามจากโจทก์ทั้งห้าสิบสี่ โจทก์ทั้งห้าสิบสี่จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยใด ๆ จากจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งห้าสิบสี่กระทำความผิดต่อกฎหมายอาญาอย่างร้ายแรงและเจตนาฝ่าฝืนกฎระเบียบของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ทั้งห้าสิบสี่กับพวกเจตนาแจ้งความเท็จในคดีอาญาต่อพนักงานสอบสวน โจทก์ทั้งห้าสิบสี่กับพวกร่วมกันลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งห้าสิบสี่ขาดงานเกินกว่า 3 วันทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งห้าสิบสี่ฝ่าฝืนคำสั่งและกฎระเบียบของจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2539จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งให้โจทก์ทุกคนออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 สำหรับโจทก์ที่ 54 ลาออกจากงานโดยสมัครใจ และละทิ้งหน้าที่การงานไปเกินกว่าสามวันโดยไม่แจ้งเหตุหรือลาป่วยการรับเงินเดือนในครั้งสุดท้าย โจทก์แต่ละคนก็มอบให้ตัวแทนมารับเงิน นับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2539 โจทก์ที่ 54 ก็ไม่ได้มาทำงาน แต่ด้วยความโลภและคนงานอื่นยุแหย่ ทำให้โจทก์ที่ 54มาฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งห้าสิบสี่สำนวน
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 53 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 53 ประการแรกว่าจำเลยที่ 1เลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 กำหนดจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างรายวันในวันที่ 20 ของเดือน ส่วนลูกจ้างรายเดือนจ่ายทุกวันที่ 5 ของเดือนเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2539 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 53 กับพวกไม่ได้เข้าทำงานให้จำเลยที่ 1 โดยชุมนุมอยู่ที่สนามหญ้าหน้าอาคารโรงงานจนถึงเวลาประมาณ 20 นาฬิกา รุ่งขึ้นโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 53กับพวกไม่สามารถเข้าทำงานได้ โดยจำเลยที่ 1 ปิดประตูโรงงานวันที่ 15 เป็นวันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ รุ่งขึ้นโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 53 ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจว่าจำเลยที่ 1ไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยวันที่ 18 ธันวาคม 2539 โจทก์ที่ 1ถึงที่ 53 ฟ้องคดีนี้อ้างว่าถูกจำเลยทั้งสามเลิกจ้าง ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม 2539 และวันที่ 6 มกราคม 2540 จำเลยที่ 1จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 53 ตามกำหนดซึ่งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ให้โจทก์ทั้งหมดเข้าทำงานในวันที่ 13 ธันวาคม 2539 ก็ตาม แต่ในวันดังกล่าวยังไม่ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1ถึงที่ 53 ที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 53 อุทธรณ์ว่า ตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ไม่ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 53 เข้าทำงานในวันที่ 13 ธันวาคม 2539 ประกอบกับคำเบิกความของนางสาวทศพร ศิริกายะผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยที่ 1 ก็รับว่าได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1ไม่สามารถที่จะจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างทั้งหมดได้ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไป และเหตุที่ไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงานเมื่อเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการต่อไปได้ตามเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งถือว่าครบองค์ประกอบเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง แล้วโดยไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดงวดการจ่ายค่าจ้างนั้น เห็นว่า การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง หมายถึง การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายถึงการที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปซึ่งการไม่จ่ายค่าจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้หมายความว่าจะต้องถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนแล้ว นายจ้างไม่จ่ายให้ หากมีพฤติการณ์ที่แสดงออกโดยแน่ชัดว่าจะไม่จ่ายค่าจ้าง ก็ถือได้ว่ามีการเลิกจ้างแล้วตั้งแต่วันที่ไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงานการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ให้โจทก์ทั้งหลายเข้าทำงานในวันที่ 13 ธันวาคม 2539 ก็ตาม แต่ในวันดังกล่าวยังไม่ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ให้โจทก์ทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้อันจะเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยพฤติการณ์จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ต้องตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามสำนวนว่าวันที่ 13 ธันวาคม 2539จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 53 เข้าทำงานและยังได้แจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าไม่มีเงินจ่ายค่าจ้าง จนกระทั่งวันที่ 18 ธันวาคม 2539 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 53 ได้ฟ้องคดีนี้แม้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างในวันที่ 21 ธันวาคม 2539 ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 53 ก็เป็นการจ่ายภายหลังจากโจทก์ที่ 1ถึงที่ 53 ฟ้องคดีนี้แล้ว จึงมีข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางจักต้องวินิจฉัยต่อไปว่าในวันที่ 13 ธันวาคม 2539 นั้น จำเลยที่ 1 มีเจตนาหรือแสดงออกโดยพฤติการณ์ว่าจะไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 53 ซึ่งไม่ได้เข้าทำงานด้วยหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อวินิจฉัยในปัญหาว่าวันที่ 13 ธันวาคม 2539 จำเลยที่ 1เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 53 แล้วหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นเสียก่อนแล้วพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดี
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share