แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อมีประกาศใช้ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนง เขตยานนาวา เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางเขน เขาพญาไท และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2530 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน2530 เป็นต้นไปมีกำหนด 5 ปี กำหนดให้อสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ดังกล่าวภายในแนวเขตตามแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ.อยู่ในเขตที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองได้ทำการสำรวจที่ดินโฉนดเลขที่ 1948 ของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตที่จะเวนคืนและได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้น คณะกรรมการฯ ได้วางหลักเกณฑ์การคิดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะเวนคืนโดยมีมติให้ใช้บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ.2535 ในการคิดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ได้ทำการสำรวจที่ดินของโจทก์แล้ว ซึ่งเป็นการสำรวจก่อนที่ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน… พ.ศ.2530 จะสิ้นอายุในวันที่ 16 มิถุนายน 2535 ต่อมาเมื่อ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ ฯลฯพ.ศ.2535 กำหนดให้อสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ดังกล่าวภายในแนวเขตตามแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ.อยู่ในเขตที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนประกาศใช้ อันมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 สิงหาคม 2535 โดยกำหนดให้จำเลยที่ 2เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนเช่นเดียวกับ พ.ร.ฎ.ฉบับก่อน ซึ่งเหตุผลในการออก พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน… พ.ศ.2535 ก็เนื่องจากการเวนคืนที่ดินตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน… พ.ศ.2530 ยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน… พ.ศ.2535จึงเป็น พ.ร.ฎ.ที่ออกต่อเนื่องในกิจการเดียวกัน ทั้งนี้เมื่อไม่มีการกำหนดแนวเวนคืนเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงแนวเวนคืนเดิม จึงไม่มีเหตุจำเป็นอย่างใดที่จำเลยที่ 2 จะต้องดำเนินการสำรวจที่ดินของโจทก์ใหม่อีก เพราะจำเลยที่ 2ได้ดำเนินการไปเรียบร้อยตามอำนาจหน้าที่โดยมีกฎหมายรองรับอยู่โดยชอบแล้วในขณะนั้นแล้ว นอกจากนั้นในการคิดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ที่ถูกเวนคืนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน… พ.ศ.2535 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนแล้ว ซึ่งคณะกรรมการได้ถือเอาราคาตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพ.ศ.2535 มาเป็นราคาเบื้องต้นที่กำหนดสำหรับที่ดินของโจทก์ และจำเลยทั้งสองกำหนดให้ใช้บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ.2535 อันเป็นราคาประเมินที่สูงกว่า และจำเลยทั้งสองเห็นว่าเป็นธรรมแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ก็ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530ดังนั้น ถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์แล้ว สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในเขตที่จะเวนคืน จึงชอบด้วยกฎหมายเพราะหลังจากได้ปฏิบัติตามขั้นตอนมาดังกล่าวแล้วสัญญาซื้อขายนั้นก็ได้กระทำในขณะที่ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน… พ.ศ.2535 ใช้บังคับโดยจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน มีอำนาจทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวกับโจทก์ได้ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530 ซึ่งถ้าโจทก์เห็นว่าค่าทดแทนตามสัญญาดังกล่าวไม่เป็นธรรม ก็ยังมีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดวิธีแก้ไขให้โจทก์ขอความเป็นธรรมต่อไปได้ โดยยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และถ้ายังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยในกำหนดเวลา โจทก์ก็ยังมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 และ 26 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและไม่ตกเป็นโมฆะ