แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยสุจริตจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพ่อค้า ประกอบธุรกิจซื้อขายรถยนต์ แต่เพิ่งทราบว่ารถยนต์คันดังกล่าวมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของในช่วงระยะเวลาหลังจากที่โจทก์ได้รับมอบรถยนต์จากจำเลยที่ 1 และชำระราคาครบถ้วนแล้วโจทก์จึงไม่จำต้องคืนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของเว้นแต่จะได้รับชดใช้ราคาที่ซื้อมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ส่วนจำเลยที่ 2 จะใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท เพื่อติดตามและเอารถยนต์คืนจากโจทก์ไม่ได้ เว้นแต่จำเลยที่ 2 จะได้ชดใช้ราคารถยนต์ให้แก่โจทก์ เพราะสิทธิของจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นพ่อค้ารถยนต์ประกอบกิจการซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ทุกชนิด จำเลยที่ 2เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการซื้อขายรถยนต์และให้กู้ยืมเงินด้วยการให้เช่าซื้อรถยนต์ เมื่อวันที่20 กุมภาพันธ์ 2535 โจทก์ตกลงซื้อรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า 1 คันจากจำเลยที่ 1 โดยมอบรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า ให้แก่จำเลยที่ 1เป็นการชำระราคาบางส่วน ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2535โจทก์รับมอบรถยนต์ที่ตกลงซื้อขายจากจำเลยที่ 1 พร้อมกับชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 1 อีกบางส่วนและได้ชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2535 โดยจำเลยที่ 1สัญญาจะส่งมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถให้แก่โจทก์ในวันที่24 เมษายน 2535 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน 2535 โจทก์ทราบว่าในคู่มือจดทะเบียนรถคันดังกล่าวมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์ทั้งนี้โดยเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2535 จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองกลับสมคบกันหลอกลวงฉ้อฉลโจทก์โดยจำเลยที่ 1 นำหลักฐานการซื้อขายรถยนต์มาจดทะเบียนให้มีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์แล้วทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลพิพากษาว่ารถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้าคันพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันขอเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถยนต์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถคันดังกล่าวจากชื่อจำเลยที่ 2 เป็นชื่อของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติก็ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองแต่ถ้าจำเลยทั้งสองไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ก็ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 458,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์คันพิพาทตามฟ้อง โดยซื้อมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดโตโยต้าลำปางเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2535 จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทตามทางการค้าของจำเลยที่ 2 มิได้สมคบกับจำเลยที่ 1หลอกลวงโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ค้ารถยนต์ โจทก์ครอบครองรถยนต์คันพิพาทโดยไม่ชอบและทำให้จำเลยที่ 2 เสียหายเพราะขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์คันพิพาทออกให้ผู้อื่นเช่า ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ให้คืนรถยนต์คันพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน นอกจากนี้โจทก์ยังมีหน้าที่ต้องชำระค่าเสียหายให้ด้วย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพ่อค้ารถยนต์โดยสุจริต จำเลยทั้งสองคบคิดกันฉ้อฉลโจทก์ สัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิในรถยนต์คันพิพาทดีกว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดตามสัญญา ซึ่งศาลมีคำพิพากษาแล้ว ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เป็นการเรียกร้องให้ชำระหนี้ซ้ำซ้อนกัน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาท แต่โจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพ่อค้ารถยนต์โดยสุจริต จึงไม่ต้องคืนรถยนต์คันพิพาทหรือชดใช้ราคาให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของแท้จริง เว้นแต่ได้รับชดใช้ราคาที่ซื้อมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332สำหรับคำขอบังคับของโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งสองขอเปลี่ยนชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถให้มีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์คันพิพาทนั้นจำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้บังคับจำเลยทั้งสองตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ พิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นพ่อค้ารถยนต์อันถือว่าเป็นพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 นั้นเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นพ่อค้าซึ่งประกอบธุรกิจซื้อขายรถยนต์ใช้ชื่อว่า “ศูนย์รวมรถบรมอาสน์”โจทก์ (ผู้ซื้อ) รับมอบรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1 (ผู้ขาย)และชำระราคารถยนต์คันพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงดังกล่าวแต่อย่างใดข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงยุติและรับฟังได้เช่นนั้น ตามข้อเท็จจริงนี้แสดงว่าโจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพ่อค้าประกอบธุรกิจซื้อขายรถยนต์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นพ่อค้ารถยนต์อันถือได้ว่าเป็นพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ส่วนที่จำเลยที่ 2ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์คันพิพาทก็ดีจำเลยที่ 1 มิได้ประกอบการค้ารถยนต์โดยชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีทะเบียนการค้าทะเบียนพาณิชย์และใบอนุญาตค้าของเก่าก็ดีจำเลยที่ 1 มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็ดี และจำเลยที่ 1 ไม่มีรถยนต์คันพิพาทอยู่ในความครอบครองที่สถานประกอบการของตนในขณะที่โจทก์ตกลงซื้อกับจำเลยที่ 1 ก็ดี หาใช่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ในสถานะตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2รับฟังมาดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับฎีกาของจำเลยที่ 2 นี้อีกเพราะไม่เป็นประโยชน์แก่รูปคดีของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์รับมอบรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2535 และโจทก์ชำระราคารถยนต์คันพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2535 ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน 2535 โจทก์จึงทราบว่ารถยนต์คันพิพาทมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของในใบคู่มือจดทะเบียนรถ จึงเชื่อว่าโจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์คันพิพาทเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2535 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ได้รับมอบรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1 และชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 1 จนครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 2 ฎีกาโต้แย้งคัดค้านเพียงว่าโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทที่แท้จริงเป็นจำเลยที่ 2 แต่ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ความชัดแจ้งว่าโจทก์ทราบดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด ทั้ง ๆ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2ได้ฟังข้อเท็จจริงไว้แล้วว่าโจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยที่ 2เป็นเจ้าของรถยนต์คันพิพาทเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2535 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ได้รับมอบรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1และชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 1 จนครบถ้วนแล้ว ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับฟังมาดังกล่าวแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงยุติและรับฟังได้เช่นนั้น ตามข้อเท็จจริงนี้ถือได้ว่าโจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพ่อค้าขายของชนิดนั้นโดยสุจริต โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 คือ โจทก์ไม่ต้องคืนรถยนต์คันพิพาทแก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อสุดท้ายว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของรถยนต์คันพิพาทมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งรถยนต์คันพิพาทจากโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 นั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์มีสิทธิไม่จำต้องคืนรถยนต์คันพิพาทแก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ดังนี้ สิทธิของจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของรถยนต์คันพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 จึงตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 กล่าวคือจำเลยที่ 2 จะใช้สิทธิในฐานะเจ้าของรถยนต์คันพิพาทเพื่อติดตามและเอาคืนซึ่งรถยนต์คันพิพาทจากโจทก์ไม่ได้ เว้นแต่จำเลยที่ 2จะชดใช้ราคาที่โจทก์ซื้อมาให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 หาได้ปฏิบัติต่อโจทก์ดังกล่าวไม่ โจทก์จึงไม่ต้องจำคืนรถยนต์คันพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และไม่มีความรับผิดต้องชดใช้ราคารถยนต์คันพิพาทกับค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีการวมมาในข้อนี้ด้วยคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นอ้างสนับสนุนฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหาข้อนี้ ข้อเท็จจริงต่างจากคดีนี้ จึงไม่อาจรับฟังได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน