คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 649/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยทั้งสองที่ทำต่อหน้าศาล อ้างว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นการฉ้อฉล ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1คนหนึ่งเสียเปรียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237การเพิกถอนการฉ้อฉลดังกล่าว โจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมนั้น เพราะผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับบุคคลนอกคดี การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วโจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกเสียจากสารบบความเพราะจำเลยที่ 1 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดมีผลให้จำเลยที่ 1 พ้นจากการที่ต้องถูกบังคับตามคำพิพากษาศาลจึงไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีตามคำขอของโจทก์ต่อไปได้เพราะจะมีผลกระทบไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลนอกคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2528 จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ทำระบบสุขาภิบาลและระบบประปาในอาคารไวทเฮาซเทาเออของจำเลยที่ 1 ในราคา 7,868,375 บาทแบ่งชำระเป็น 30 งวด ตามงวดงานที่ทำแล้วเสร็จ โจทก์ได้เข้าดำเนินการตามสัญญา ตั้งแต่งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 28 คิดเป็นเงินค่าจ้าง 6,868,375 บาท จำเลยที่ 1 ชำระให้เพียง 3,007,000 บาทคงค้างชำระ 3,861,375 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยที่ 1 หลายครั้งแล้วจำเลยที่ 1 ผัดผ่อนเรื่อยมา เป็นการผิดสัญญาโจทก์จึงหยุดการก่อสร้างงานงวดต่อไป นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังต้องคืนเงินมัดจำ 500,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อขายห้องชุดในอาคารไวทเฮาซเทาเออ ซึ่งโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1จึงเป็นลูกหนี้โจทก์ทั้งสิ้น 4,361,375 บาท ต่อมาเมื่อวันที่10 มิถุนายน 2530 จำเลยทั้งสองได้สมคบกันทำการฉ้อฉลโจทก์โดยจำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 11523/2530 เรียกร้องให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้จำนวน 137,017,825.91 บาท แก่จำเลยที่ 2 ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญากู้แต่อย่างใดแต่เป็นความผิดของจำเลยที่ 2 ที่ไม่ปล่อยเงินให้จำเลยที่ 1กู้จนครบวงเงินตามสัญญาและยังไม่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้คืนเมื่อจำเลยที่ 1 รับสำเนาคำฟ้องในวันที่ 16 มิถุนายน 2530 แล้วจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 ต่อหน้าศาลในวันรุ่งขึ้น และศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยทั้งสองทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถจะชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ทั้งนี้เพื่อมิให้เจ้าหนี้รายอื่นของจำเลยที่ 1 รวมทั้งโจทก์ทราบและจำเลยที่ 1 จงใจที่จะให้ตนผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้จำเลยที่ 2 บังคับคดียึดทรัพย์จำนองซึ่งมีอาคารไวทเฮาซเทาเออเพียงสิ่งเดียวทำให้เจ้าหนี้อื่นและโจทก์เสียเปรียบไม่สามารถที่จะรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยทั้งสองในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 11523/2530หมายเลขแดงที่ 10450/2530 ของศาลชั้นต้น และห้ามจำเลยที่ 2นำผลของสัญญาประนีประนอมยอมความไปใช้บังคับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอมแล้วเพราะหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอยู่จริง จำเลยที่ 1 ตกลงชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความอาคารไวทเฮาซเทาเออได้จดทะเบียนเป็นประกันหนี้แก่จำเลยที่ 2 อยู่ก่อนแล้วการบังคับจำนองเพื่อขายทอดตลาดอาคารดังกล่าวไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะอาคารไวทเฮาซเทาเออเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญย่อมไม่อาจบังคับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองได้ก่อนจำเลยที่ 2ขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1เด็ดขาดตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.345/2533 โจทก์ขอให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1ตามคำขอของโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยทั้งสองที่ทำต่อหน้าศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2530 อ้างว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 คนหนึ่งรวมทั้งเจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 การเพิกถอนการฉ้อฉลดังกล่าว โจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมนั้นศาลจึงจะบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ เพราะหากศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมตามคำขอของโจทก์ย่อมจะมีผลกระทบถึงคู่กรณี โจทก์จะฟ้องคู่กรณีที่ทำนิติกรรมที่ขอให้เพิกถอนคนใดคนหนึ่งโดยไม่ฟ้องคู่กรณีอีกคนหนึ่งไม่ได้เพราะผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับบุคคลนอกคดี การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วโจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกเสียจากสารบบความ มีผลให้จำเลยที่ 1 พ้นจากการที่ต้องถูกบังคับตามคำพิพากษา ศาลไม่อาจพิจารณาพิพากษาตามคำขอของโจทก์เพราะจะมีผลกระทบไปถึงจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นบุคคลนอกคดีได้ และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยคดีให้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยในส่วนนี้ คงเห็นพ้องด้วยในผลของคดีที่ให้ยกฟ้อง”
พิพากษายืน

Share