แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยไม่ได้เข้าร่วมทำการขนส่งสินค้ากับบริษัทผู้ขนส่งซึ่งได้ทำการขนส่งสินค้ามาทางเรือ และไม่ได้มีส่วนเข้าร่วมในการขนถ่ายสินค้าจากเรือด้วย การที่จำเลยได้ดำเนินการติดต่อกรมเจ้าท่าให้มีการนำร่องเพื่อให้เรือเข้าเทียบท่าและแจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองให้ตรวจชาวต่างประเทศที่มากับเรือ เป็นผู้ขออนุญาตนำเรือเข้าต่อกรมศุลกากร รวมทั้งแจ้งกำหนดเวลาเรือเข้าให้ผู้รับตราส่งทราบนั้น กิจการเหล่านี้เป็นกิจการที่เจ้าของเรือและบริษัทผู้ขนส่งจะต้องกระทำโดยตนเอง การที่จำเลยได้กระทำกิจการเหล่านั้นแทนเจ้าของเรือและผู้ขนส่ง ยังไม่พอให้ถือว่าจำเลยเป็นผู้เข้าร่วมขนส่งด้วย แม้เมื่อผู้รับตราส่งนำใบตราส่งมายื่น และจำเลยรับใบตราส่งคืนมาแล้วออกใบปล่อยสินค้าให้เพื่อนำไปรับสินค้าจากนายเรือก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยอยู่ในฐานะผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเล
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าปุ๋ยผสมของบริษัทอาคเนย์ส่งเสริมเกษตรกรรม จำกัด ผู้เอาประกันภัยจำเลยมีอาชีพรับจ้างขนส่งทางทะเล ได้ร่วมทำการขนส่งสินค้ารายนี้กับบริษัทนาฟรอมคอนสแตนตา ซึ่งอยู่ในประเทศโรมาเนีย ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวโดยเรือชื่อฟราซิเนต จากประเทศโรมาเนียเพื่อนำมาส่งให้แก่บริษัทอาคเนย์ส่งเสริมเกษตรกรรม จำกัดที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อเรือมาถึงประเทศไทย จำเลยได้ส่งมอบสินค้ารายนี้ให้แก่บริษัทอาคเนย์ส่งเสริมเกษตรกรรม จำกัด ปรากฏว่าสินค้าเสียหายมูลค่า 100,182.30 บาท โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทอาคเนย์ส่งเสริมเกษตรกรรม จำกัด ตามสัญญาประกันภัยแล้วขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยประกอบกิจการรับจ้างขนส่งทางทะเล และไม่เคยร่วมทำการขนส่งสินค้ากับบุคคลใด จำเลยเป็นแต่เพียงตัวแทนทำหน้าที่ในการบริการให้แก่เรือฟราซิเนตบริษัทนาฟรอมคอนสแตนตา รับแจ้งจากบริษัทเรือตามที่บริษัทเรือมอบหมาย คือแจ้งให้ผู้ซื้อไปรับสินค้าจากเรือโดยตรง ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ข้อที่จะต้องพิจารณาในปัญหานี้ก็คือถ้าจำเลยเข้าร่วมขนส่งและเป็นการขนส่งหลายคนหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเล จำเลยก็ต้องรับผิดด้วย พิเคราะห์แล้ว การขนส่งรายนี้ ผู้ขายได้ว่าจ้างบริษัทนาฟรอมคอนสแตนตา เป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าว ซึ่งได้ทำการขนส่งมาโดยเรือฟราซิเนต ดังปรากฏตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.3 นายชัชวาลย์ อนันต์รุ่งโรจน์ พยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ใบตราส่งเอกสารหมาย จ.3ไม่มีชื่อบริษัทจำเลยเกี่ยวข้องอยู่ด้วยกับนายธีรศักดิ์ ชินพงสานนท์ พยานโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทยแล้ว ได้ขนถ่ายจากเรือใหญ่ลงเรือฉลอมเพื่อลำเลียงมาเข้าโกดังของบริษัทอาคเนย์ส่งเสริมเกษตรกรรมจำกัด โดยบริษัทอาคเนย์ส่งเสริมเกษตรกรรม จำกัด เป็นผู้ว่าจ้างเรือฉลอม จากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าว จึงฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยไม่ได้เข้าร่วมทำการขนส่งสินค้ารายนี้กับบริษัทนาฟรอมคอนสแตนตา ซึ่งได้ทำการขนส่งมาโดยเรือฟราซิเนตและไม่ได้มีส่วนเข้าร่วมในการขนถ่ายสินค้าจากเรือฟราซิเนตด้วย
การที่จำเลยได้ดำเนินการติดต่อกรมเจ้าท่าให้มีการนำร่องเพื่อให้เรือฟราซิเนตเข้าเทียบท่า และแจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองให้ตรวจชาวต่างประเทศที่มากับเรือ เป็นผู้ขออนุญาตนำเรือเข้าต่อกรมศุลกากร รวมทั้งแจ้งกำหนดเวลาเรือเข้าให้บริษัทอาคเนย์ส่งเสริมเกษตรกรรม จำกัด ทราบกับเมื่อบริษัทอาคเนย์ส่งเสริมเกษตรกรรม จำกัด นำใบตราส่งมายื่น จำเลยเป็นผู้ออกใบปล่อยสินค้าให้เพื่อนำไปขอรับสินค้าจากนายเรือนั้นจะเป็นการที่จำเลยเข้าร่วมขนส่งและเป็นการขนส่งหลายคนหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเลหรือไม่ เห็นว่า การติดต่อเพื่อการนำร่องเรือเข้าสู่ท่าติดต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองให้ตรวจชาวต่างประเทศที่มากับเรือ ขออนุญาตนำเรือเข้าต่อกรมศุลกากร รวมทั้งแจ้งกำหนดเวลาเรือเข้าให้บริษัทอาคเนย์ส่งเสริมเกษตรกรรม จำกัด ทราบนั้นกิจการเหล่านี้เป็นกิจการที่เจ้าของเรือฟราซิเนตและบริษัทนาฟรอมคอนสแตนตาผู้ขนส่งจะต้องกระทำโดยตนเอง การที่จำเลยได้กระทำกิจการเหล่านั้นแทนเจ้าของเรือและผู้ขนส่งยังไม่พอให้ถือว่าจำเลยเป็นผู้เข้าร่วมขนส่งกับเรือฟราซิเนตและบริษัทนาฟรอมคอนสแตนตาด้วย และลำพังแต่การที่จำเลยรับใบตราส่งคืนมาแล้วออกใบปล่อยสินค้าให้เพื่อนำไปรับสินค้าจากนายเรือนั้น ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยอยู่ในฐานะผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเลดังที่โจทก์อ้าง ที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาว่าจำเลยรับขนส่งสินค้าออกจากประเทศไทยให้แก่บริษัทนาฟรอมคอนสแตนตาด้วยนั้น เห็นว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวแตกต่างไปจากการเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งที่รับขนสินค้าจากต่างประเทศมายังประเทศไทยจึงเป็นคนละกรณีกับที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน