คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6213/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ระเบียบเงินบำเหน็จขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จึงไม่มีผลใช้บังคับนั้น โจทก์มิได้กล่าวเรื่องนี้มาในคำฟ้อง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานแม้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาก็ไม่เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย ระเบียบเงินบำเหน็จของจำเลยได้ให้คำนิยาม เงินบำเหน็จว่าเงินตอบแทนที่จำเลยจ่ายให้พนักงานเมื่อออกจากงาน เงินบำเหน็จจึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานนอกเหนือไปจากค่าจ้างตามที่กฎหมายเกี่ยวกับแรงงานบัญญัติไว้ และตามระเบียบดังกล่าวก็ได้กำหนดวิธีคำนวณเงินบำเหน็จว่า ให้เอาเงินเดือนเดือนสุดท้ายตั้ง แล้วคูณด้วยจำนวนปีและเศษของปีตามปฏิทินของเวลาทำงาน ทั้งได้ให้คำจำกัดความคำว่า เงินเดือนไว้ว่า หมายถึง เงินเดือนหรือค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานแต่ละคน เป็นรายเดือนหรือรายงวด จะเห็นว่าถ้อยคำคำว่า เงินเดือน ในระเบียบเงินบำเหน็จดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดให้หมายถึงเฉพาะเงินเดือนที่แท้จริงเท่านั้นหาได้มีความหมายให้นำประโยชน์อื่น ๆ ที่ลูกจ้างได้รับเป็นการตอบแทนการทำงานเข้ามารวมเป็นเงินเดือนด้วยไม่เมื่อเป็นเช่นนี้ เงินเดือนตามระเบียบเงินบำเหน็จดังกล่าวจึงไม่รวมถึงเงินค่าครองชีพ จะนำเงินค่าครองชีพมารวมเป็นเงินเดือนเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จหาได้ไม่ อุทธรณ์ของโจทก์มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานว่าไม่ถูกต้องแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน166,640 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินบำเหน็จจากจำเลยอีกเพราะจำเลยจ่ายให้ครบถ้วนแล้วตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย ทั้งยังจ่ายเกินไปเป็นเงิน 3,600 บาทขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์คืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ไม่ครบถ้วน มิใช่จ่ายเกิน ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่า ระเบียบเงินบำเหน็จขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานจึงไม่มีผลใช้บังคับนั้น เห็นว่า ปัญหาอุทธรณ์ข้อนี้โจทก์มิได้กล่าวมาในคำฟ้อง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง แม้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาก็ไม่เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยจึงไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ไม่ถูกต้องตามระเบียบเงินบำเหน็จ เพราะมิได้นำเงินค่าครองชีพซึ่งถือว่าเป็นค่าจ้างมารวมเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จด้วยนั้นเห็นว่า ระเบียบเงินบำเหน็จ ข้อ 71 ได้ให้คำนิยามเงินบำเหน็จหมายความว่า เงินตอบแทนที่จำเลยจ่ายให้พนักงานเมื่อออกจากงานเงินบำเหน็จจึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานนอกเหนือไปจากค่าจ้างตามที่กฎหมายเกี่ยวกับแรงงานบัญญัติไว้ และตามระเบียบดังกล่าวข้อ 74 ก็ได้กำหนดวิธีคำนวณเงินบำเหน็จว่าให้เอาเงินเดือนเดือนสุดท้ายตั้ง แล้วคูณด้วยจำนวนปีและเศษของปีตามปฏิทินของเวลาทำงาน เศษของเดือนให้ตัดทิ้ง(สำหรับคนงานให้คิด 26 วัน เป็นหนึ่งเดือน) ทั้งข้อ 71ได้ให้คำจำกัดความคำว่า เงินเดือน ไว้ว่าหมายถึง เงินเดือนหรือค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานแต่ละคน เป็นรายเดือนหรือรายงวด จะเห็นว่า ถ้อยคำคำว่า เงินเดือน ในระเบียบเงินบำเหน็จดังกล่าวได้ระบุไว้ให้หมายถึงเฉพาะเงินเดือนที่แท้จริงเท่านั้น หาได้มีความหมายให้นำประโยชน์อื่น ๆ ที่ลูกจ้างได้รับเป็นการตอบแทนการทำงานเข้ามารวมเป็นเงินเดือนด้วยไม่เมื่อเป็นเช่นนี้ เงินเดือน ตามระเบียบเงินบำเหน็จดังกล่าวจึงไม่รวมถึงเงินค่าครองชีพ จะนำเงินค่าครองชีพมารวมเป็นเงินเดือนเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จหาได้ไม่
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเป็นเวลา 18 ปี 4 เดือน แต่จำเลยคำนวณ เงินบำเหน็จให้โจทก์เพียง 12 ปี 4 เดือน ขาดไป 6 ปี นั้น ปัญหาข้อนี้ศาลแรงงานกลางได้คำนวณเงินบำเหน็จให้จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นเวลา 18 ปี 4 เดือน แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์หาได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่าไม่ถูกต้องแต่อย่างใดไม่ อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share