แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยสมยอมกันทำสัญญากู้และสมยอมกันทำยอมความในศาลเป็นผลให้เกิดการโอนทรัพย์สินของจำเลยคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งให้พ้นจากการถูกบังคับชำระหนี้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทำให้โจทก์ไม่อาจบังคับเอาทรัพย์สินของจำเลยมาชำระหนี้ได้ เป็นการจงใจทำโดยผิดกฎหมายอันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ โจทก์ย่อมเสียหายทางทรัพย์สินแล้ว การกระทำผิดกฎหมายดังนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้ผิดคือได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์
คำพิพากษาที่พิพากษาตามที่จำเลยยอมความกันนั้น เป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสองย่อมไม่ผูกพันโจทก์ การทำการสมยอมกัน นิติกรรมระหว่างจำเลยย่อมเป็นโมฆะ โจทก์ไม่จำเป็นต้องฟ้องขอให้เพิกถอน
(ข้อแรกประชุมใหญ่ ครั้งที่ 3/2512 และ 5/2512)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน17,520 บาท ตามสำนวนคดีแพ่งแดงที่ 490-491/2507 เพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ จำเลยกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นผลให้เกิดการโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์สินของตนให้พ้นจากการบังคับชำระหนี้ของโจทก์โดยการสมคบกับผู้อื่น คือหลังจากตกลงใช้ค่าเสียหาย (ค่าเสียหายที่เป็นมูลคดีแพ่ง 2 เรื่องนั้น) แล้ว จำเลยที่ 1 แกล้งให้ตนเป็นหนี้เงินกู้จำเลยที่สอง 20,000 บาท โดยสมคบกันก่อหนี้ที่ไม่เป็นความจริงโดยลงวันที่ย้อนหลังไป ต่อมาจำเลยที่ 2 เอาหลักฐานนั้นฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกเงินต้นและดอกเบี้ยรวม27,500 บาท แล้วจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันจำเลยที่ 1 ยอมใช้เงินตามฟ้องให้ศาลพิพากษาตามยอม จำเลยที่ 2 ขอบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาด ได้รับเงินไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 2 ขอยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 อีกแปลงหนึ่งจะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ต่อไปจนหมดมิให้เหลือถึงโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการสมคบกันโกงเจ้าหนี้ เป็นการผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ไม่อาจบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้ เพราะไม่มีทรัพย์สินที่จะบังคับได้อีกแล้ว โจทก์เสียหายคิดเป็นเงิน 17,570 บาท ขอให้บังคับให้จำเลยร่วมกันใช้ให้
จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ไม่รับรองว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาหรือไม่ หนี้ตามคำพิพากษาระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยสุจริต จำเลยไม่ได้สมคบกันทำสัญญากู้หนังสือกู้กับสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีระหว่างจำเลยยังมิได้ถูกพิพากษาเพิกถอน โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยสมยอมกันทำหนี้ขึ้นเพื่อแกล้งไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา เป็นการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษาให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าหนี้ตามสัญญากู้ระหว่างจำเลยทั้งสองถูกรับรองว่าถูกต้องและสมบูรณ์โดยคำพิพากษา โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้อาจฟ้องขอให้เพิกถอนทำลายสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยสมยอมกันทำขึ้นเพื่อการฉ้อฉลเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 การกระทำของจำเลยไม่ได้ชื่อว่าทำละเมิดแก่โจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยร่วมกันทำการสมยอมที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบหรือไม่ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า หากหนี้ที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อศาลเป็นหนี้ที่จำเลยสมยอมกันทำสัญญากู้และสมยอมกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความทั้ง ๆ ที่ไม่มีหนี้ต่อกัน และเป็นผลให้เกิดการโอนทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ให้พ้นจากการถูกบังคับชำระหนี้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ไม่อาจบังคับเอาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 มาชำระหนี้ได้จริงตามฟ้องแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองก็เป็นการจงใจทำโดยผิดกฎหมาย อันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 โจทก์ย่อมเสียหายทางทรัพย์สินแล้วเพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะบังคับชำระหนี้ได้อีก การกระทำผิดกฎหมายของจำเลยทั้งสองนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้ผิด คือ ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
ส่วนข้อที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์อาจฟ้องขอให้ทำลายสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยสมยอมกันทำขึ้นเสียได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาตามที่จำเลยทั้งสองประนีประนอมยอมความกันนั้น เป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสองคำพิพากษานั้นย่อมไม่ผูกพันโจทก์ อนึ่งถ้าจำเลยทั้งสองทำการสมยอมกัน นิติกรรมระหว่างจำเลยย่อมเป็นโมฆะกรรม โจทก์ไม่จำเป็นต้องฟ้องขอให้เพิกถอน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาชี้ขาดข้อเท็จจริงว่าจำเลยสมยอมกันจริงหรือไม่ แล้วพิพากษาใหม่