คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6469/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ฯ มาตรา 4 กำหนดให้ “ธุรกิจเงินทุน หมายความว่า ธุรกิจการจัดหามาซึ่งเงินทุนและใช้เงินนั้นประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจำแนกประเภทได้ดังต่อไปนี้…”ซึ่งกิจการเงินทุนแต่ละประเภทมีการกำหนดวิธีหาเงินทุนไว้ตรงกันคือ “ธุรกิจหาทุนจากประชาชน” ซึ่งหมายความรวมถึงกู้ยืมเงินหรือรับฝากเงินจากประชาชนด้วย ทั้งคำว่า”ประชาชน” ตามพจนานุกรม หมายถึง พลเมืองหรือสามัญชนทั่ว ๆ ไป ดังนั้น ธุรกิจเงินทุนภายใต้ข้อบังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นธุรกิจที่มีการจัดหาทุนดำเนินกิจการจากประชาชนพลเมืองทั่วไปไม่มีจำกัดว่าจะเป็นใคร เมื่อปรากฏว่าบริษัทโจทก์จัดหาเงินทุนมาจากบริษัทในเครือหรือจากญาติพี่น้องเฉพาะคนเท่านั้นไม่เป็นการทั่วไป ประกอบกับโจทก์มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินหรือให้เครดิตด้วยวิธีการอื่นได้ ดังนั้นแม้โจทก์จะมิได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โจทก์ก็มีอำนาจให้จำเลยกู้เงินได้โดยชอบ สัญญากู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่เป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์ 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 3,550,000 บาท แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกฎหมาย โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอคิดค่าเสียหายในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดชำระตามสัญญากู้แต่ละฉบับถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ยรวม 511,008 บาท เมื่อรวมกับต้นเงินแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 4,061,008 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 4,061,008 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน3,550,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญากู้เงินและไม่เคยรับเงินจากโจทก์แต่โจทก์เป็นผู้จัดทำสัญญากู้ฉบับพิพาทขึ้นเอง ทั้งโจทก์ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยมิได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย การให้กู้ยืมเงินของโจทก์จึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4,061,008 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 3,550,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23ธันวาคม 2539) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไป 4 ครั้ง และรับเงินกู้ไปจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่โจทก์มีนางสาวธนวันต์ กองดอน กรรมการโจทก์ นางสาวดารณี อุดมสุข พนักงานบัญชีของโจทก์และนางศิริพรรณ อรัณยะนาค ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาถนนสาทร มาเบิกความได้ความสอดคล้องต้องกันว่า ในปี 2533 จำเลยได้กู้เงินโจทก์ไป3 ครั้ง และในปี 2534 กู้โจทก์ไปอีก 1 ครั้ง รวมเป็น 4 ครั้ง เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 3,550,000บาท จำเลยได้รับเงินกู้ไปครบถ้วนถูกต้องแล้ว สัญญาให้กู้แต่ละฉบับมีกำหนดชำระเงินคืนภายใน 6 เดือน แต่เมื่อครบกำหนดชำระเงินกู้คืน จำเลยได้ขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 7 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน และโจทก์ก็อนุญาตตามที่จำเลยขอทุกครั้ง เพียงแต่ให้จำเลยทำสัญญาให้กู้ฉบับใหม่ให้และสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระเงินกู้ฉบับใหม่ควบคู่ไปด้วย สัญญาให้กู้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เป็นการต่ออายุให้แก่จำเลยครั้งที่ 8 ส่วนจำเลยเบิกความว่าจำเลยกับนายชัยวัฒน์ จำนงค์อาษา กรรมการโจทก์เข้าหุ้นกันเพื่อซื้อขายที่ดินนำกำไรมาแบ่งกันและมีการแลกเช็คกัน ในการแลกเช็คกันนั้นนายชัยวัฒน์จะนำเอาเอกสารมาให้จำเลยลงชื่อโดยแจ้งว่าเป็นเอกสารที่ใช้ประกอบในการจัดหาเงินมาให้จำเลยกู้ สำหรับใบรับเงินก็เป็นเอกสารที่นายชัยวัฒน์นำมาให้จำเลยลงชื่อในการแลกเช็คดังกล่าว ส่วนสัญญาให้กู้ก็เป็นเอกสารที่นายชัยวัฒน์นำมาให้จำเลยลงชื่อโดยอ้างเพียงว่าเป็นเอกสารที่ใช้ประกอบในการเบิกเงินเท่านั้นและใช้เป็นหลักฐานในการลงบัญชีของบริษัท ข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงเป็นเรื่องการแลกเช็คกันระหว่างจำเลยกับนายชัยวัฒน์เป็นการส่วนตัวเท่านั้น ไม่ใช่การกู้ยืมเงิน จำเลยและนายชัยวัฒน์มีการแลกเช็คกันหลายครั้ง ทุกครั้งนายชัยวัฒน์จะคืนทั้งสัญญาให้กู้และเช็คฉบับเดิมแก่จำเลย แล้วจำเลยจะทำสัญญาให้กู้และสั่งจ่ายเช็คฉบับใหม่แก่นายชัยวัฒน์โดยมีข้อตกลงกันภายในว่าจะไม่นำสัญญาและเช็คเหล่านี้ไปฟ้องร้องกัน ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยนำสืบมาได้ความดังนี้ เห็นว่า โจทก์มีพยานบุคคลมาเบิกความได้ข้อเท็จจริงสอดคล้องต้องกันกับพยานเอกสารไม่ว่าจะเป็นสัญญาให้กู้ ใบรับเงิน สำเนาเช็คที่โจทก์ได้สั่งจ่ายเงินแก่จำเลยรวมทั้งบัญชีกระแสรายวันที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยเบิกเงินไปแล้ว ทั้งจำเลยก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ได้รับเงินไปตามสัญญากู้แล้วจริง ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยได้กู้เงินโจทก์ไปทั้ง 4 ครั้งและรับเงินกู้ไปจากโจทก์ตามฟ้องจริง ที่จำเลยนำสืบต่อสู้คดีมาโดยตลอดนั้น นอกจากจะไม่มีเหตุผลให้รับฟังแล้วยังเป็นการนำสืบนอกข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลยอันศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยไม่ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(1)

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า สัญญาให้กู้ทั้ง 4 ฉบับตามฟ้องเป็นโมฆะหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า การให้กู้เงินของโจทก์มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจเงินทุน แต่โจทก์ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 สัญญาให้กู้พิพาททั้ง 4 ฉบับ จึงตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 4 บัญญัติว่า”ธุรกิจเงินทุน หมายความว่า ธุรกิจการจัดหามาซึ่งเงินทุนและใช้เงินนั้นในการประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจำแนกประเภทได้ดังต่อไปนี้…” และมีการกำหนดกิจการเงินทุนไว้ 5 ประเภท แต่ละประเภทมีการกำหนดวิธีหาเงินทุนไว้ตรงกันคือ “กิจการหาทุนจากประชาชน” สำหรับคำว่า “จัดหาเงินทุนจากประชาชน” หมายความรวมถึงกู้ยืมเงินหรือรับฝากเงินจากประชาชนด้วย และความหมายของคำว่า “ประชาชน” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 คือ “พลเมืองหรือสามัญชนทั่ว ๆ ไป” ดังนี้ เมื่อนำความหมายเหล่านี้มาพิจารณาประกอบกันก็จะได้ความหมายโดยสรุปว่า ธุรกิจเงินทุนที่จะต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าวจะต้องเป็นธุรกิจที่มีการจัดหาทุนดำเนินกิจการจากประชาชนพลเมืองโดยทั่วไปไม่มีจำกัดว่าจะเป็นใคร แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้กลับปรากฏว่าโจทก์จัดหาเงินทุนมาจากบริษัทในเครือหรือจากญาติพี่น้องเฉพาะคนเท่านั้นไม่เป็นการทั่วไป ประกอบกับโจทก์มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินหรือให้เครดิตด้วยวิธีการอื่นได้เช่นนี้ โจทก์จึงมีอำนาจให้จำเลยกู้เงินได้โดยชอบ หาเป็นโมฆะดังจำเลยอ้างไม่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share